‘เจลล้างมือ’ เรื่องต้องรู้ ทั้ง 'คนใช้-คนขาย'
รู้หรือไม่! ทำไม "เจลแอลกอฮอล์" ถึงถูกประกาศให้จัดอยู่ในหมวดเครื่องสำอาง ประกาศแล้วมีผลอย่างไร และ มีอะไรบ้างที่ "ผู้ใช้" และ "ผู้ขาย" ต้องรู้
กลายเป็นเรื่องดราม่าอีกครั้ง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ พ.ศ.2562 ประกาศที่ถูกยกเลิกสำคัญไฉน?
ต้องขออธิบายก่อนว่า ประกาศกระทรวงที่ถูกยกเลิกไปนั้น เดิมทีกำหนดผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ (alcohol-bases hand sanitizer) ให้ “เป็นเครื่องมือแพทย์” ที่ต้องแจ้งรายละเอียด และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบคุม หากจะให้เข้าใจง่ายๆ ผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ ก็จำพวก เจล โลชั่น ครีม โฟม สเปรย์ สารละลาย เป็นต้น ซึ่งผลิตขึ้นมาเพื่อทำความสะอาดมือโดยไม่ต้องใช้น้ำ
ขณะที่ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นี้ ได้แก่ เอทิลแอลกอฮอล์/เอธานอล, ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์/ไอโซโพรพานอล หรือเอ็น-โพรพิวแอลกอฮอล์/เอ็น-โพรพานอล และมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า “ส่วนประกอบเหล่านี้ต้องรวมกันตั้งแต่ 70% ขึ้นไปโดยปริมาตร” ซึ่งอาจมีสารอื่นๆ ประกอบด้วยได้ เช่น สารแต่งกลิ่น สารกันเสีย
แต่ล่าสุดประกาศดังกล่าวถูกยกเลิกไป โดยเปลี่ยนให้ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบนั้น จากหมวดเครื่องมือแพทย์ เป็น “หมวดเครื่องสำอาง” แน่นอนว่าผู้ผลิตต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอางแทน แต่ยังกำหนดไว้เช่นเดิมว่า แอลกอฮอลที่เป็นส่วนประกอบ ต้องรวมกันตั้งแต่ 70% ขึ้นไป โดยปริมาตร และให้เหตุผลว่า เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์เร่งด่วนในปัจจุบันนั่นเอง เพราะหากเป็นหมวดเดิม อาจส่งผลไปสู่สภาวะขาดแคลนในช่วงเวลาสถานการณ์เร่งด่วนนี้ได้
ยังไม่หมด เพราะหลังจากประกาศดังกล่าว ก็มีประกาศอีกหนึ่งตัวตามมาติดๆ เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขเช่นกัน เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ.2563 โดยกำหนดไว้ชัดเจนว่า “เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่มีส่วนประกอบเพียงอย่างเดียว หรือผสมรวมกันน้อยกว่า 70% โดยปริมาตร ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย”
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงเกิดคำถามขึ้นว่า แล้วทำไมความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ที่นำมาเป็นส่วนผสม ถึงต้องระบุไว้ให้เกิน 70% ด้วย?
เรื่องนี้ “นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม” เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา มีคำตอบ ก็คือว่า เนื่องจากหากมีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยกว่า 70% โดยปริมาตร จะฆ่าเชื้อโรคไม่ได้ พร้อมยังบอกอีกว่า ผลิตภัณฑ์เจลล้างมือแอลกอฮอล์ที่ผ่านการจดแจ้งจาก อย. แล้ว ประชาชนจะมั่นใจได้ว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 70% โดยปริมาตร
ขณะที่ข้อมูลขององค์การสุรา กรมสรรพสามิต อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า แอลกอฮอล์สามารถทำลายได้ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อวัณโรค เชื้อรา และไวรัสบางชนิด และเมื่อละลายกับน้ำจะสามารถแพร่ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ได้ดีขึ้น จึงทำให้โปรตีนเสียสภาพและทำให้เยื่อหุ้มเซลล์แตก และเข้าไปรบกวนระบบ metabolism ได้ด้วย แต่ถ้าเป็นแอลกอฮอล์ บริสุทธิ์จะทำให้โปรตีนด้านนอกของเยื่อหุ้มเซลล์เสียสภาพได้ อย่างเดียวเท่านั้น ความเข้มข้นปกติที่นิยมใช้กัน จะอยู่ในช่วง 60−90% (ถ้าความเข้มข้นมากกว่านี้จะไม่สามารถเข้าเซลล์ได้)
หรือจะให้เข้าใจง่ายๆ คือ แอลกอฮอล์ระดับความเข้มข้น 95-100% จะมีการระเหยรวดเร็วมาก และมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอที่จะดูดซึมเข้าไปในเซลล์เมมเบรน แต่จะทำให้เกิดการคายน้ำออกจากเซลล์อย่างรวดเร็วโดยไม่ได้ฆ่า และเมื่ออยู่ในสภาวะเหมาะสม จุลินทรีย์เหล่านี้ได้รับน้ำเข้าเซลล์ จะสามารถคงสภาพเดิมได้
รู้อย่างนี้แล้วคงต้องกลับมามองเจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่ใช้อยู่ ว่ามีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เกิน 70% หรือไม่?
ขณะที่ผู้ขายคงต้องเช็คสต็อกด่วนว่า สินค้าผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในสต็อกในนั้น มีส่วนประกอบของแอลกฮอล์เกิน 70% หรือไม่ เพราะหากไม่เกินเกณฑ์กำหนดแล้ว คงจะนำมาขายไม่ได้
โดยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า หากมีการตรวจพบผู้ผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ทางเจ้าหน้าที่ จะดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งผู้ผลิตหรือนำเข้า จะมีโทษ จำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท ขณะที่ผู้จำหน่าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท
- วิธีการเลือกซื้อเจลแอลกอฮอล์
หลังจากมั่นใจการฆ่าเชื้อโรคแล้ว สิ่งสำคัญก่อนจะเลือกซื้อมาใช้คือ ดูแพคเกจจิ้งว่า มีฉลากชัดเจน ต้องมีรายละเอียดทั้งฉลากภาษาไทย ระบุชื่อ ส่วนผสม วิธีใช้ ผู้ผลิต และวันเดือปีที่ผลิต ภาชนะต้องปิดสนิท หากเทออกมาแล้วมีลักษณะผิดปกติหรือไม่ เช่น แยกชั้น จับตัวเป็นก้อน ตกตะกอน สีเปลี่ยนไป เหล่านี้ให้หลีกเลี่ยง
- การตรวจสอบว่า แพ้หรือไม่
ส่วนที่หลายคนที่ใช้เป็นครั้งแรก อาจกังวลว่าตัวเราเองจะแพ้หรือไม่? สามารถทดสอบได้ง่ายๆ ด้วยการทาเจลเพียงเล็กน้อยตรงท้องแขน และทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง โดยสังเกตอาการแพ้ได้จาก ผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อน หรือบวม หากไม่มีอาการใดๆ ก็สามารถใช้ต่อไปได้
- วิธีการใช้
สำหรับวิธีการใช้นั้นให้เทเจลล้างมือ 2-3 มิลลิลิตร หรือ 2-4 หยด ลงบนฝ่ามือ และถูให้ทั่วทั้งสองมือเป็นเวลาประมาณ 20 วินาที และปล่อยให้แห้งในอากาศ แต่ก็ยังมีข้อควรระวังอยู่เช่นกัน ด้วยความที่เจลนี้มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ในปริมาณค่อนข้างมาก ซึ่งมีคุณสมบัติติดไฟได้ ดังนั้นหากนำมาทามือแล้วยังไม่แห้ง ควรหลีกเลี่ยงเปลวไฟ รวมถึงผู้ที่สูบบุหรี่ด้วย อีกทั้งไม่ควรใช้กับเด็กทารก หรือบริเวณที่ผิวบอบเบา เช่น รอบดวงตา ผิวอักเสบ มีบาดแผล หรือมีสิว เป็นต้น
ขณะเดียวกันก็ควรเก็บผลิตภัณฑ์ในภาชนะปิดสนิท ในบริเวณที่ไม่ถูกแสงแดด หรือบริเวณที่ร้อน เพราะจะทำให้แอลกอฮอล์ระเหย และความเข้มข้นของแอลกอฮอล์อาจลดลงได้ด้วย
ที่มา : ratchakitcha, ratchakitcha(2), bangkokbiznews, กระทรวงสาธารณสุข, fda,