ไทม์ไลน์บริหารจัดการ 'หน้ากากอนามัย' เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
หากตั้งโจทย์ว่าโรคโควิด-19 กำลังเข้าสู่ระยะที่ 3 การบริหารจัดการหน้ากากอนามัยอย่างในปัจจุบันนี้ จะสามารถป้องกันไม่ให้สถานการณ์รุนแรงได้หรือไม่
หลังสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 กระทรวงพาณิชย์ก็เริ่มเข้ามาบริหารจัดการหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดแคลน หรือ การกักตุนเพื่อโก่งราคา ซึ่งเป็นการซ้ำเติมทุกข์ให้ประชาชน แต่ดูเหมือนเป้าประสงค์เริ่มต้นจะไม่เป็นผล เนื่องจากปัญหาหน้ากากฯขาดแคลนและการจำหน่ายในราคาสูงก็ยังมีอยู่
กระทั่ง ล่าสุดมีการกระชากหน้ากากครั้งใหญ่ของกลุ่มคนที่มีความพยายามส่งออกหน้ากากอนามัย โดยอ้างมีสินค้าในสต็อกอยู่จำนวนมาก และคนกลุ่มดังกล่าวก็เกี่ยวข้องกับนักการเมืองใหญ่ นำไปสู่การจับกุมแต่จนถึงขณะนี้คดีความไม่ค่อยคืบหน้า
จากสถานการณ์ที่ไล่เรียงแบบย่อๆมาทั้งหมดนี้ เกิดคำถามว่า การเข้ามาควบคุมแบบเบ็ดเสร็จของกระทรวงพาณิชย์เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่คำตอบอาจออกมาได้หลายมุมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น หากไม่เข้ามาจัดการปัญหาอาจรุนแรงมากขึ้น หรือ หากไม่เข้ามาจัดการปัญหาอาจไม่ยุ่งยากเหมือนในขณะนี้ ดังนั้นการย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น อาจพอช่วยให้ก้าวต่อไปจากนี้ ที่ว่ากันว่าไทยอาจเข้าสู่ระยะที่3 นั้นเป็นไปอย่างรอบคอบรัดกุมมากขึ้น
เริ่มตั้งแต่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา กรมการค้าภายในประชุมหารือผู้ผลิตหน้ากากอนามัยพร้อมยืนยันกำลังการผลิตประมาณ 200 ล้านชิ้นในระยะเวลา 4-5 เดือน
จากนั้น 30 ม.ค. จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์หน้ากากอนามัยยืนยันเร่งกำลังผลิตเต็มที่ กระทั่ง 3 ก.พ. มีการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. ครั้งที่1/2563 เพื่อกำหนดสินค้าควบคุมเพิ่มเติม มติที่ประชุมให้หน้ากากอนามัย ใยสังเคราะห์ ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ และ เศษกระดาษและกระดาษที่นำกลับมาใช้ได้อีก เป็นสินค้าควบคุม และคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเป็นชอบจนมีผลบังคับใช้
ความสำคัญของสินค้าควบคุมคือ รัฐโดยกระทรวงพาณิชย์ สามารถกำหนดมาตรการที่จะใช้กับสินค้านั้นๆ ในรูปแบบต่างๆเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการค้าไม่เป็นธรรมหรือปัญหาสินค้าขาดตลาด เช่น กำหนดราคาสูงสุด ห้ามส่งออก จำกัดปริมาณการซื้อ เป็นต้น
จากนั้น 5 ก.พ. อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้ลงนามในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (สกกร.) พร้อมประชุมร่วมกับห้างโมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ ให้ขายหน้ากากอนามัยไม่เกิน 10 ชิ้นต่อคน และต่อมากระทรวงพาณิชย์ก็เปิดจำหน่ายหน้ากากให้ประชาชน โดยใช้กระทรวงพาณิชย์สนามบินน้ำเป็นสถานที่จำหน่าย ซึ่งดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยให้การกระจายสินค้าทั่วถึง จึงมีการประชุมร่วมกับแพลตฟอร์มไทยหารือการจำหน่ายหน้ากากอนามัยออนไลน์
เช่นเคยสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น รมว.พาณิชย์จึงประชุมแก้ไขปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยโดยให้ผู้ผลิตเร่งเพิ่มกำลังการผลิต แต่ปัญหาอยู่ที่วัตถุดิบที่ใช้เริ่มขาดแคลน จึงประสานทูตพาณิชย์ให้เร่งหากแหล่งนำเข้าวัตถุดิบเพิ่ม
ความพีคของปัญหามาถึงจุดที่ กรมการค้าภายในจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการสินค้าหน้ากากอนามัย ณ กรมการค้าภายใน เมื่อ 20 ก.พ. และในวันเดียวกันนี้ กกร.มีมติห้ามส่งออกหน้ากากอนามัย จากนั้นก็มีประกาศอีกให้ผู้ผลิต/ตัวแทนจำหน่าย ปันส่วนหน้ากากอนามัยไม่น้อยกว่า 50% มายังศูนย์ฯ
“การรวมสินค้าทั้งหมดไว้ที่กรมการค้าภายในแม้จะเป็นแค่ตัวเลขทางบัญชี แต่ก็ทำให้การกระจายตัวของสินค้าในช่องทางการค้าปกติมีปัญหา เช่น โรงพยาบาล ได้ทำแผนการซื้อขายกับผู้ผลิตไว้แล้วเมื่อสินค้าถูกควบคมจึงไม่เป็นไปตามแผน ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ” แหล่งข่าวจากรพ.เอกชนแหล่งหนึ่งกล่าว
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมายืนยันแผนการกระจายหน้ากากฯรายวันว่า โดยวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า ศูนย์บริหารจัดการสินค้าหน้ากากอนามัยของกรมการค้าภายใน ได้มีแผนการจัดสรรหน้ากากอนามัย(13 มี.ค. 2563) รวมทั้งสิ้น 1,710,000 ชิ้น
โดยให้กระทรวงสาธารณสุขกระจายให้บุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 900,000 ชิ้นซึ่งกระจายไปยัง โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลกรมการแพทย์ โรงพยาบาลรัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 570,000 ชิ้น
สถานพยาบาลเอกชน จำนวน 180,000 ชิ้น โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช จำนวน 80,000 ชิ้น และสถานพยาบาลสังกัด กทม. ได้แก่ สำนักอนามัย จำนวน 70,000 ชิ้น
สำหรับกรมการค้าภายในได้กระจายไปให้ประชาชน จำนวน 810,000 ชิ้นโดยขาย หน้ากากอนามัยบรรจุแพ็ค 4 ชิ้น แพ็คละ 10 บาท ผ่านร้านธงฟ้าและร้านขายยา จำนวน 200,000 ชิ้นเทสโก้โลตัส (180 สาขา) จำนวน 100,000 ชิ้นแม็คโคร (95 สาขา) จำนวน 100,000 ชิ้นBIG C (150 สาขา) จำนวน 100,000 ชิ้นวิลล่ามาร์เก็ต (36 สาขา) จำนวน 60,000 ชิ้นTOPS (204 สาขา) จำนวน 100,000 ชิ้นสมาคมร้านขายยา จำนวน 15,000 ชิ้นสมาคมเภสัชกรรมชุมชน จำนวน 10,000 ชิ้น7-11 จำนวน 120,000 ชิ้นกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ 5,000 ชิ้น
จากข้อมูลของกรมการค้าภายในข้างต้นนี้ ประชาชนสามารถไปหาซื้อหน้ากากอนามัยได้ตามลายแทงที่ได้ให้ไว้ แต่หากไปแล้วไม่มีสินค้า ก็เป็นหน้าที่ประชาชนต้องสะท้อนไปยังหน่วยงานผู้ควบคุมจัดการให้เร่งแก้ไขต่อไป
ขณะที่สรุปผลการจับกุมผู้จำหน่ายหน้ากากอนามัย(ประจำวันที่ 13 มี.ค. 63) โดยบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ระบุว่ามีการจับกุมดำเนินคดีไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 135 ราย แบ่งเป็นการจับกุมในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 88 ราย และในต่างจังหวัด 47 ราย
สำหรับโทษที่ผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ในข้อหาขายเกินราคาควบคุม จะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ข้อหาไม่ปิดป้ายแสดงราคาขายมีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ในข้อหาขายแพงเกินสมควรมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน1.4 แสนบาท และหากเป็นผู้นำเข้าหรือตัวแทนจำหน่ายก็ต้องแจ้งปริมาณการถือครองสินค้าต่อกรมการค้าภายใน หากฝ่าฝืนจะมีความผิดซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ด้วย
ท่ามกลางความพยายามแก้ไขปัญหาภายในประเทศที่กำลังขาดแคลนสินค้าอย่างหนัก แต่ประเด็นเกี่ยวกับหน้ากากอนามัยอีกอย่างหนึ่งก็โผล่ขึ้นมา ว่าด้วยการ “ส่งออก”
13 ก.พ. กรมการค้าภายในประชุมหารือกับผู้ส่งออกที่ขอผ่อนผันให้มีการส่งออกหน้ากากอนามัยชนิดพิเศษและขออนุญาตส่งออกเพื่อบริจาคภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ประเด็นนี้ มีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆตามมา เริ่มจากห้ามส่งออก เมือ 20 ก.พ. จากนั้น 21ก.พ. ก็ให้ส่งอออกได้แต่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซ่ึ่งหน้ากากอนามัย
ปัญหาการส่งออกหน้ากาก ว่ากันว่า อาจเป็นจุดตายขอฝีที่รอเวลาแตกหนองออกมา หากข่าวลือเป็นจริง หรือความจริงเป็นแค่ข่าวลือ จากนี้ก็จะได้รู้กันแต่ข้อมูลเท่าที่มีอยู่ตอนนี้ สำหรับเรื่องการส่งออกหน้ากากอนามัย
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ก็ออกมาย้ำว่า กรณีมีการแชร์กันในสื่อโซเชียลมีเดีย โดยอ้างถึงประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่ากระทรวงพาณิชย์อนุญาตให้ส่งออกหน้ากากอนามัยแล้ว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้ออกประกาศห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยออกนอกประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. 2563 แต่ผ่อนผันให้ผู้ผลิตหน้ากากอนามัยแบบพิเศษ หรือชนิดที่ไม่ได้ใช้ในประเทศไทยเช่น หน้ากากที่ใช้ทางการแพทย์เฉพาะทาง หน้ากากที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม หรือหน้ากากที่สวมคลุมทั้งหัว รวมถึงหน้ากากที่ติดปัญหาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่ไทยเป็น ผู้รับจ้างผลิต เป็นต้น ให้สามารถส่งออกได้ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ กกร.จะออกประกาศกำหนด
ต่อมา กกร. จึงได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตดังกล่าว ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติในการออกประกาศเพื่อรองรับการห้ามส่งออกตามประกาศฉบับแรก โดยระบุว่า การพิจารณาอนุญาตจะคำนึงถึงลักษณะจำเพาะของสินค้าความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้ภายในประเทศ และการจัดหาหน้ากากอนามัยเพื่อการจัดสรรให้ใช้ในประเทศ ซึ่งจะเห็นว่าเป็นหลักเกณฑ์ในการไม่อนุญาตมากกว่าที่จะอนุญาต เนื่องจากต้องพิจารณาว่า ในประเทศไทยมีใช้เพียงพอหรือไม่ แต่ประชาชนทั่วไปอาจจะดูแค่หัวเรื่องของประกาศซึ่งใช้คำว่า “หลักเกณฑ์ในการขออนุญาต” จึงอาจเข้าใจผิดว่าจะอนุญาตให้ส่งออกได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน
“ที่ผ่านมา มีการอนุญาตให้ส่งออกหน้ากากชนิดพิเศษออกไปไม่มาก แต่หน้ากากชนิดที่คนไทยใช้ป้องกันโรค หรือแบบสีเขียว กระทรวงพาณิชย์ไม่มีนโยบายที่จะอนุญาตให้ส่งออกเลย เพราะคนไทยยังไม่พอใช้"
แม้ปัจจุบันนี้ไทยยังไม่เข้าสู่สถานการณ์ระยะที่ 3 คือมีการติดเชื้อไวรัสโคโรนาในวงกว้างในประเทศไทย ทั้งที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่ความหวาดกลัวและไม่มั่นใจในสถานการณ์ต่างๆกำลังเป็นตัวเร่งให้ความต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น ตอนนี้ ยังพอมีเวลาให้ทบทวนความผิดพลาดที่ผ่านมาและนำกลับมาแก้ไขเพื่อรับมือกับงานใหม่ในอนาคตที่แน่นอนต้องยากลำบากขึ้น การชื้หน้ากล่าวโทษกันไปมาคงไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรได้อย่างแน่นอน