'พิพัฒน์' ประเมินโควิดลากยาวสิ้นปีนี้ท่องเที่ยววูบ 30 ล้านคน

'พิพัฒน์' ประเมินโควิดลากยาวสิ้นปีนี้ท่องเที่ยววูบ 30 ล้านคน

“พิพัฒน์” ชี้กรณีร้ายแรงสุดโควิด-19 ระบาดทั่วโลกลากยาวถึงสิ้นปี 63 ฉุดยอดต่างชาติเที่ยวไทยหายวับ 30 ล้านคน เหลือเพียง 10 ล้านคน ประเมินกรณีดีสุดยุติ ก.ค.นี้ ยังเหลือทัวริสต์เยือนไทย 27 ล้านคน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า หลังวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ลามทุกภูมิภาคทั่วโลก ทำให้หลายประเทศออกมาตรการเร่งด่วนในการคัดกรองและป้องกัน บางประเทศตัดสินใจปิดประเทศเพื่อหยุดการเคลื่อนย้ายคน กระทรวงฯจึงได้ประเมินสถานการณ์และแนวโน้มผลกระทบโควิด-19 ที่มีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยล่าสุดไว้ กรณี ได้แก่ กรณีที่ สิ้นสุดการระบาดทั่วโลกในเดือน ก.ค.นี้ คาดมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 27 ล้านคน ลดลง 32.15% หรือคิดเป็น 12.8 ล้านคน จากปี 2562 ที่มี 39.8 ล้านคน รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเหลือ 1.31 ล้านล้านบาท ลดลง 32.37% หรือสูญรายได้ 6.26 แสนล้านบาท จากปีที่แล้วซึ่งมีรายได้ 1.93 ล้านล้านบาท 

“หากคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ในเดือน ก.ค.นี้ จะส่งผลกระทบต่อแรงงานจำนวน 1.06 ล้านคน เป็นแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 4.61 แสนคน และแรงงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ 6 แสนคน” 

แต่ถ้ายืดเยื้อไปถึงกรณีที่ 2 สิ้นสุดการระบาดทั่วโลก ก.ย.นี้ ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเหลือเพียง 20 ล้านคน และหากลากยาวไปถึงกรณีที่ 3 สิ้นสุดการระบาด ธ.ค.นี้ซึ่งเป็นกรณีแย่ที่สุด คาดมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยไม่ถึง 10 ล้านคน หรือหายไปราว 30 ล้านคนจากปีที่แล้ว

ด้านสถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยในปัจจุบัน พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-16 มี.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวนเพียง 6.57 ล้านคน ลดลง 2.6 ล้านคนหรือคิดเป็น 28.39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 

โดยช่วงวันที่ 1-16 มี.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 7.27 แสนคน ลดลงหนักสุดถึง 60.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หากเจาะเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับ ของไทย มีจำนวนเหลือเพียง 5.5 หมื่นคน ลดลงถึง 88.9% และถ้าดูเฉพาะช่วงวันที่ 13-16 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังรัฐบาลไทยประกาศยกเลิกการขอวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival : VoA) จำนวนนักท่องเที่ยวจีนหายไปมากถึง 99% เหลือเพียงวันละ 150 คน

นายพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วานนี้ (18 มี.ค.) กระทรวงการท่องเที่ยวฯได้ร่วมหารือกับกระทรวงการคลัง โดยได้นำเสนอแนวทางการดูแลและเยียวยาภาคท่องเที่ยวทั้งระบบ เพื่อให้คลังรวบรวมเป็นชุดมาตรการเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ทั้งการของบประมาณในการซ่อม สร้าง และฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว ตอนนี้ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานไปสรุปงบฯที่ต้องการมาอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้เคยเสนอของบฯไปประมาณ 1,000 ล้านบาท รวมถึงการเสนอให้กรมการท่องเที่ยวคืนเงินประกันการทำธุรกิจให้แก่บริษัททัวร์ในสัดส่วน 50-70% หรือตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท เพื่อช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่อง

นอกจากนี้ยังเสนอให้กระทรวงการคลังช่วยเหลือภาคธุรกิจท่องเที่ยว ด้วยการให้สถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ไปซื้อหนี้หรือรีไฟแนนซ์ของผู้ประกอบการท่องเที่ยวจากธนาคารพาณิชย์ หลังได้รับร้องเรียนจากผู้ประกอบการว่าไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ แม้ติดต่อไปที่ธนาคารพาณิชย์โดยตรงแล้วก็ยังมีปัญหา ไม่สามารถช่วยเหลือและยอมปล่อยกู้ให้จริง โดยในวันนี้ (19 มี.ค.) กระทรวงการท่องเที่ยวฯจะประชุมหารือกับเอกชนท่องเที่ยวเพื่อสรุปปัญหาทั้งหมดอีกครั้งเกี่ยวกับเรื่องนี้