‘เคอร์ฟิว’ คืออะไร ร้ายแรงแค่ไหนในสถานการณ์ 'COVID-19'
ทำความเข้าใจ "เคอร์ฟิว" เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" และ "กฎหมาย" ที่บังคับใช้
จากภาวะการระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อ 827 ราย และตาย 4 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 24 มีนาคม 2563) ประชาชนส่วนใหญ่จึงเกิดการวิตกกังวล รวมถึงมีข่าวลือถึงการยกระดับมาตรการป้องกันโรคระบาดจนถึงขั้นประกาศใช้ "พรก.ฉุกเฉิน" หรือที่เราเรียกกันว่า "เคอร์ฟิว"
- เคอร์ฟิว คืออะไร ร้ายแรงแค่ไหน
การประกาศ "พรก.ฉุกเฉิน" หรือ "เคอร์ฟิว" คือ การประกาศห้ามประชาชนออกจากเคหสถานในบริเวณพื้นที่ที่กำหนด ตามระยะเวลาที่ระบุไว้อย่างชัดเจน และ จะเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ภายใต้บังคับของกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงอื่นๆ ในเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ เช่นอยู่ในภาวะสงครามหรือมีเหตุกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ดีเนื่องจากการประกาศ "เคอร์ฟิว" มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของพลเมืองอย่างรุนแรง จึงเป็นมาตรการที่หยิบออกมาใช้ในฐานะตัวเลือกสุดท้าย (The last resort) ทั้งนี้ การคงอยู่ของเคอร์ฟิวก็ควรจะสั้นที่สุดเพื่อให้กระทบต่อเสรีภาพของพลเมืองให้น้อยที่สุด
ประเทศไทยมีกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงให้อำนาจแก่รัฐในการประกาศเคอร์ฟิวอยู่หลายฉบับ เช่น
พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานภายในระหว่างระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา11(6)
พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น ตามมาตรา 9(1)
- การเคอร์ฟิวในอดีตที่ผ่านมา
ข้อสังเกตจากการประกาศเคอร์ฟิวของไทยในอดีตที่ผ่านมา อาจแบ่งประเภทตามเหตุปัจจัยที่นำไปสู่การประกาศออกเป็นสามประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ การประกาศเคอร์ฟิวอันเป็นผลสืบเนื่องการทำรัฐประหาร การประกาศเคอร์ฟิวอันเนื่องมาจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง และการประกาศเคอร์ฟิวอันเนื่องมาจากปัญหาด้านความมั่นคง
ทั้งนี้ ILaw.com ให้ข้อมูลว่าการประกาศเคอร์ฟิวในประเภทที่ 3 ซึ่งเป็นการประกาศเคอร์ฟิวเนื่องมาจากปัญหาด้านความมั่นคงนั้น ไม่ต้องเผชิญแรงต้านเท่าการประกาศใช้เคอร์ฟิวในสองประเภทแรก
การเคอร์ฟิวในอดีตที่ผ่านมา
การประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 โดยนายกรัฐมนตรีสุจินดา คราประยูร ในช่วงเหตุการณ์ชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรี
การประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในช่วงการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาประมาณสามเดือน
การประกาศเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2550 โดยแม่ทัพภาคที่สี่ประกาศห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 20.00 น. ถึงเวลา 04.00 น. ในเขตท้องที่ อำเภอยะหา และอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา หลังจากมีเหตุลอบวางระเบิดและลอบยิงประชาชนอย่างต่อเนื่อง
- เคอร์ฟิวในภาวะโรคระบาด กับ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน
จากภาวะการระบาดของโรค COVID-19 ในประเทศไทยที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากทุกที ประชาชนก็เกิดการวิตกว่าอาจจะยกระดับมาตรการป้องกันโรคระบาดจนถึงขั้นประกาศเคอร์ฟิว
การประกาศเคอร์ฟิวนั้นในประเทศไทยมีกฎหมายพิเศษอยู่หลายฉบับ แต่สำหรับโรคระบาด COVID-19 ที่เกิดอยู่ในขณะนี้เข้าข่ายในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉิน
พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จะถูกใช้ในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที
สรุปง่าย ๆ คือ ต้องประกาศพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ใช้ก่อนถึงค่อยใช้อำนาจในพ.ร.ก. ประกาศเคอร์ฟิวได้ และการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นายกฯสามารถประกาศไปก่อนได้ทันที เพื่อให้ทันสถานการณ์ แล้วค่อยนำเข้าขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี หรือจะนำเข้าคณะรัฐมนตรีก่อนเพื่อประกาศออกมาเป็นมติ ครม.ก็ได้
พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ยังให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย
1.ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ เท่าที่มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลนั้นกระทำการหรือร่วมมือกระทำการใด ๆ อันจะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง หรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรง
2. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือมาให้ถ้อยคำหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
3. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งยึดหรืออายัดอาวุธ สินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใด ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า ได้ใช้หรือจะใช้สิ่งนั้น เพื่อการกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำให้เกิดเหตุสถานการณ์ฉุกเฉิน
4. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติโดยเร็วและหากปล่อยเนิ่นช้าจะทำให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที
5. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด ตลอดจนการสั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสารใด เพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์ร้ายแรง โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษโดยอนุโลม
6. ประกาศห้ามมิให้กระทำการใด ๆ หรือสั่งให้กระทำการใด ๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน
7. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งห้ามมิให้ผู้ใดออกไปนอกราชอาณาจักร เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการออกไปนอกราชอาณาจักรจะเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประเทศ
8. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการให้คนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
9. ประกาศให้การซื้อ ขาย ใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธ สินค้า เวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจใช้ในการก่อความไม่สงบหรือก่อการร้ายต้องรายงานหรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
10. ออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรง หรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ของทหารให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ โดยการใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายทหารจะทำได้ในกรณีใดได้เพียงใดให้เป็นไปตามเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกินกว่ากรณีที่มีการใช้กฎอัยการศึก
แต่มาตรการพิเศษเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติทันทีหลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ต้องให้นายกฯประกาศ "ข้อกำหนด" เป็นเรื่องๆ เป็นมาตรการๆ ไป เหมือนกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกาศใช้ทั้งกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ไม่เคยประกาศ "เคอร์ฟิว" มีแค่ขอความร่วมมือห้ามออกจากบ้านบางช่วงเวลาเท่านั้น
ทั้งนี้ตามสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้น ยังคงต้องรอการแถลงจากรัฐบาลว่ามาตรการที่จะถูกยกระดับขึ้นจะถึงขั้นประกาศเคอร์ฟิวในประเทศไทยหรือเปล่า แต่ก็ควรอย่าวิตกกังวล ตีตนไปก่อนไข้ รอการยืนยันอย่างเป็นทางการและเตรียมความพร้อมต่อประกาศนั้นจะดีกว่า
อ้างอิง
https://ilaw.or.th/node/1848
พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 27 สิงหาคม 2457
พระราชกำหนดการบริหารราชการใรสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 16 กรกฎาคม 2548