'แอลกอฮอล์ล้างมือ' เช็คให้ชัวร์ แบบไหนใช้ 'ฆ่าเชื้อโรค'
รู้จัก "เจลแอลกอฮอล์" เปิดวิธีดู "เจลแอลกอฮอล์ปลอม" พร้อมข้อสังเกต และทดสอบ ให้ชัวร์ว่า แบบไหนใช้ฆ่าเชื้อโรคได้
ในวิกฤติ โควิด-19 ที่กำลังระบาดในขณะนี้ เจลแอลกอฮอล์ ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญอีกชิ้นที่ทุกคนต้องมีติดตัวเสมอเวลาไปไหนมาไหน แต่จาก ข่าว เจลแอลกอฮอล์ปลอม ที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีคำสั่งเพิกถอนใบรับจดแจ้งเครื่องสำอางและให้เรียกเก็บคืนเจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ จำนวน 24 รายการ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2563
เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ผ่านเกณฑ์ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ออกมา ทำให้หลายคนกังวล และสงสัยเกี่ยวกับเจลล้างมือที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ จะมีโอกาสโดน เจลแอลกอฮอล์ปลอม หรือ เจลแอลกอฮอล์ที่ไม่ได้มาตรฐาน แบบนี้อยู่หรือไม่
เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หรือ Hand sanitizer เป็นนวัตกรรมทางสาธารณสุขที่มีการคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ ปี ค.ศ.1966 โดย พยาบาลชาวอเมริกัน เชื้อสายเม็กซิกัน Lupe Hernandez เป็นผลิตภัณฑ์ภายนอกร่างกายเพื่อใช้ทำความสะอาดการล้างมือ เวลาที่ไม่สะดวก มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ราว 75% มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคแบคทีเรีย และไวรัส จากการที่ตัวแอลกอฮอล์จะไปทำลายในส่วนพื้นผิวโปรตีนที่หุ้มเชื้อโรคอยู่ ทำให้เชื้อโรคตายในที่สุด
ส่วนผสมของ เจลแอลกอฮอล์ สำหรับล้างมือจะมี เอทานอล หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ เป็นส่วนผสมสำคัญ โดยจะต้องใช้ เอทิลแอลกอฮอล์ 95 % ก็เพราะจะต้องนำส่วนผสมอย่างอื่นมาผสานให้กลายเป็นเจลล้างมือ และทำให้เกิดความเจือจาง ทำให้เราได้เจลล้างมือแอลกอฮอล์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อยู่ 75% นั่นเอง
นอกจากส่วนผสมมาตรฐานหลักโดยทั่วไปตามคำแนะนำของกรมอนามัยแล้ว เจลแอลกอฮอล์ ยังสามรถมีส่วนผสมอื่นๆ ใส่ลงไปในเจลได้อีกด้วยอย่าง ว่านหางจระเข้ รวมถึงวิตามิน E, วิตามิน C , วิตามินเอ และ สารเบต้า แคโรทีน ที่ช่วยใช้ผิวนุ่มชุ่มชื้น อีกทั้งลดการอักเสบของผิวหนัง เนื่องจาก แอลกอฮอล์มีผลทำให้ผิวหนังของแห้ง และอาจระคายเคืองได้
สำหรับตัว เอทิลแอลกอฮอล์ หรือ เอทานอล ส่วนผสมหลักของ เจลแอลกอฮอล์ นั้น มีชื่อเรียกทางเคมีว่า C2H5OH เป็นแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งที่เกิดจากการนำเอาพืชมาหมักเพื่อเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล จากนั้นจึงเปลี่ยนจากน้ำตาลเป็นแอลกอฮอล์ โดยใช้เอนไซม์หรือกรดบางชนิดช่วยย่อยเพื่อทำให้เป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95% ทั่วไปนั้น มักผลิตจากพืช 2 ประเภท คือ พืชประเภทน้ำตาล เช่น อ้อย บีทรูท และพืชจำพวกแป้ง เช่น มันสำปะหลัง ข้าว ข้าวโพด เป็นต้น
เนื่องจากการระเหยในอากาศที่ไวเกินไปหากมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์สูง สัดส่วนที่แนะนำในการใช้ทำความสะอาดมือของคนเรานั้นจึงมักเป็น เจลแอลกอฮอล์ 70-75 % โดยสามารถดูที่ฉลากข้างบรรจุภัณฑ์ของเจลแอลกอฮอล์ได้
ขณะเดียวกัน ในวันที่เจลแอลกอฮอล์เป็นสินค้าที่มีความต้องการค่อนข้างสูงในช่วงนี้ จึงทำให้เริ่มมีการผลิตเชิงปริมาณทำให้ไม่ได้คุณภาพอย่างที่มีการประกาศจาก อย. เมื่อไม่นานมานี้ รวมทั้ง มิจฉาชีพก็เริ่มเอา เมทิลแอลกอฮอล์ มาหลอกขาย ปลอมว่าเป็น เอทิลแอลกอฮอล์ บรรจุขวด ติดฉลากให้คนหลงเชื่อ ซื้อไปทำเจลแอลกอฮอล์ใช้กันซึ่งล้วนอันตรายมาก
สำหรับ วิธีตรวจสอบเจลแอลกอฮอล์ เบื้องต้น สามารถทำได้หลากหลายวิธี คือ สังเกตบรรจุภัณฑ์ การบรรจุหีบห่อ เป็นการซีลพลาสติกอย่างดีหรือไม่ ฉลากยี่ห้อมีความคมชัด ดูวันที่ผลิตสินค้า วันหมดอายุของสินค้า เลขทะเบียนสินค้า สถานที่ผลิต เป็นต้น
ส่วนวิธีที่มีการแชร์กันเกี่ยวกับ การทดสอบ เจลแอลกอฮอล์ ที่มีการแชร์กัน ไม่ว่าจะเป็น เอาไปจุดไฟ หรือเอาไปทาบนใบเสร็จรับเงิน นั้น เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เตือนผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant ระบุว่า ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง เนื่องจากมีสารเคมีอีกหลายตัวที่ผสมอยู่ในเจล และทำให้ผลการทดลองไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ เช่น กรีเซอรีนในเจล จะทำให้จุดไฟไม่ติด เป็นต้น
สนใจแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อแบบต่างๆ คลิก