'ยกเลิกเราไม่ทิ้งกัน' ทำอย่างไร ดูวิธีอย่างละเอียดที่นี่!

'ยกเลิกเราไม่ทิ้งกัน' ทำอย่างไร  ดูวิธีอย่างละเอียดที่นี่!

สำหรับใครที่ลงทะเบียน www.เราไม่ทิ้งกัน.com แล้วกรอกรายละเอียดผิดพลาดหรือต้องการยกเลิก ล่าสุดตอนนี้ (07.00 น. วันที่ 4 เมษายน) หน้าเว็บไซต์เปิดให้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว

หลังจากที่มีการเปิดลงทะเบียนเว็บ เราไม่ทิ้งกัน เพื่อรับเงินเยียวยา 5,000 บาท จากสถานการณ์ โควิด-19 เป็นระยะเวลา 3 เดือน ได้มีคำถามและปัญหาคาใจเกี่ยวกับการลงทะเบียนฯ ที่อาจจะทำให้เสียสิทธิในการรับเงินเยียวยาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น การลงเลขบัญชีชื่อไม่ตรงกับบัตรประชาชน การกรอกข้อมูลที่อยู่คลาดเคลื่อน หรือแม้แต่การกรอกรายละเอียดที่อยู่ตกหล่น จนทำให้มีประกาศแจ้งออกมาว่า ทางเว็บไซต์จะเปิดให้ดำเนินการ "แก้ไขหรือยกเลิก" ตั้งแต่ 06.00 น. ของวันเสาร์ที่ 4 เมษายน 2563 เป็นต้นไป

ซึ่งทางทีมข่าว กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้ทำการเช็คเข้าไปที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com พบว่าเมื่อเวลาหกโมงเช้าหน้าเว็บยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จนกระทั่งเวลาประมาณ 07.00 น. หน้าเว็บมีการเปลี่ยนแปลง โดยหน้าแรกของเว็บไซต์ "เราไม่ทิ้งกัน" ได้เพิ่มปุ่มแสดงใหม่สำหรับให้กด "ยกเลิกลงทะเบียน" ได้แล้ว! โดยเราจะพาไปรีวิวขั้นตอนการ "ยกเลิก" การลงทะเบียนในเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน อย่างละเอียดยิบ อย่ารอช้าเข้ามาดูกันเลย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'เราไม่ทิ้งกัน' ตอบทุกคำถามด้วย 'แชทบอท' ลงทะเบียนที่นี่!

1. กดไปที่ปุ่ม ยกเลิกลงทะเบียน

เริ่มต้นด้วยการกดไปที่ปุ่ม "ยกเลิกลงทะเบียน" ปุ่มสีแดงด้านขวามือ จากนั้นกรอกรายละเอียดต่างๆ ได้แก่ หมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ลงทะเบียน และวันเดือนปีเกิด จากนั้นกดปุ่มยกเลิกลงทะเบียนที่เป็นแถบด้านล่างอีกครั้ง

จากนั้นระบบจะไปยังหน้าแจ้งเตือนและสอบถามอีกครั้งว่า "ข้าพเจ้าขอรับรองว่าการยกเลิกการลงทะเบียนเป็นการกระทําของข้าพเจ้าในขณะที่มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ตกอยู่ภายใต้อํานาจ บังคับของผู้ใด และไม่ได้เกิดจากการสําคัญผิดแต่ประการใด ทั้งนี้ ข้าพเจ้าตกลงไม่ประสงค์จะลงทะเบียนอีกในอนาคตรวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่ เกี่ยวข้องกับมาตรการนี้"

จากนั้นให้ติ๊กถูกที่ช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ แล้วกดยืนยันและดำเนินการต่อ รอให้ระบบทำการตรวจสอบสักครู่

158596048365

158596101995

158596103053

158596104693

2. ใส่เลข OTP ยืนยัน

จากนั้นระบบจะเด้งกล่องข้อความขึ้นมาให้เราใส่เลข OTP เพื่อทำการยืนยัน เราก็รอรับเลข OTP จากโทรศัพท์มือถือ พอได้เลขมาแล้วก็นำมากรอกลงไป และกด "ยืนยัน" ได้เลย

158596106163

158596059562

3. เสร็จสิ้น

จากนั้นระบบจะเด้งกล่องข้อความขึ้นมาว่า "ยกเลิกทะเบียนสำเร็จ" พร้อมเครื่องหมายถูกต้อง แค่นี้ก็เรียบร้อย

158596109279

หากใครอยากย้อนไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับ "คุณสมบัติและเงื่อนไข" ในการลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 จาก เราไม่ทิ้งกัน อีกครั้ง ก็มาดูต่อกันได้เลย

เริ่มจากสิ่งที่เราจะต้องเจอหลังจากกดเข้าสู่หน้าลงทะเบียนหรือทำการแก้ไขข้อมูลก็คือ ข้อความตกลงยินยอมให้กระทรวงการคลังหรือผู้จัดทำระบบให้กระทรวงการคลังจัดเก็บ ประมวลผล และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อประโยชน์ในการดำเนินมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19)

โดย สาระสำคัญของมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) (มาตรการฯ) ช่วงระยะเวลาดำเนินมาตรการฯ คือ ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับการชดเชยรายได้ตามมาตรการฯ
(1) เป็นผู้มีสัญชาติไทย
(2) เป็นผู้มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันลงทะเบียน
(3) เป็นแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม
(4) ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างในหน่วยงานของรัฐ หรือผู้รับบำนาญปกติหรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ
(5) เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19)
(6) มีบัญชีเงินฝากในสถาบันการเงินใดก็ได้ หรือมีบัญชี PROMPTPAY ที่ลงทะเบียนด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

มาตรการนี้รัฐจะสนับสนุนเงิน 5,000 บาท (ห้าพันบาทถ้วน) ต่อเดือน แก่ผู้มีสิทธิได้รับการชดเชยรายได้แต่ละราย (หนึ่งหมายเลขประจำตัวประชาชนต่อหนึ่งสิทธิ) โดยผู้มีสิทธิจะได้รับการชดเชยรายได้ตามมาตรการฯ ในเดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ลงทะเบียนเป็นต้นไป ซึ่งผู้ที่ได้รับสิทธิจะได้รับเงินผ่านบัญชีเงินฝากในสถาบันการเงินที่ได้ระบุไว้ในการลงทะเบียน หรือบัญชี PROMPTPAY ที่ลงทะเบียนด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

หากไม่ได้ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของมาตรการฯ ผู้ลงทะเบียนจะต้องยินยอมให้กระทรวงการคลังหรือผู้จัดทำระบบให้กระทรวงการคลังสั่งระงับการจ่ายเงินชดเชยตามมาตรการฯ และตรวจสอบการกระทำดังกล่าว หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกระทำผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของมาตรการฯ จริง ก็จะถูกระงับสิทธิในการได้รับเงินชดเชยตามมาตรการฯ

อีกทั้ง ตัวผู้ลงทะเบียนจะเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินชดเชย ที่ได้รับไปแล้วคืนให้แก่รัฐภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการระงับสิทธิดังกล่าว ตามวิธีการที่กระทรวงการคลังหรือผู้จัดทำระบบให้กระทรวงการคลังกำหนด ทั้งนี้ ให้การตัดสินของกระทรวงการคลังถือเป็นที่สุด และรัฐอาจใช้สิทธิในการที่จะดำเนินคดีทางแพ่งหรือทางอาญาต่อไป