มีความหวัง! จีนใช้ ‘พลาสมา’ อดีตคนไข้โควิดรักษาคนไข้อาการวิกฤติหาย
จีนใช้‘พลาสมา’อดีตคนไข้โควิด-19 รักษาคนไข้อาการวิกฤติหายป่วย 5 คน เพิ่มความหวังวงการแพทย์มีทางเยียวยาผู้ป่วยได้ ก่อนจะมีวัคซีน ซึ่งใช้เวลาในการพัฒนานานกว่า ออกมาให้ใช้รักษา
วารสารการแพทย์ JAMA ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ระบุว่า คณะแพทย์จีนสามารถรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ที่มีอาการระดับวิกฤติจำนวน 5 คน ให้หายออกจากโรงพยาบาลได้ โดยใช้พลาสมา หรือน้ำเลือดของคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากในน้ำเลือดดังกล่าวมีโปรตีนภูมิคุ้มกัน
ในวารสารการแพทย์ฉบับนี้ ระบุว่า การรักษาผู้ป่วยขั้นวิกฤติทั้ง 5 คนดำเนินการที่โรงพยาบาลในเมืองเสิ่นเจิ้น ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.-25 มี.ค.โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีอายุระหว่าง 36-65 ปี และในจำนวน 5 คนเป็นผู้หญิง 2 คน ซึ่งหลังจากได้รับการรักษาด้วยพลาสมาของอดีตคนไข้โรคเดียวกันหายแล้ว ผู้ป่วยขั้นวิกฤติทั้ง 5 คนได้บริจาคพลาสมาให้แก่โรงพยาบาลด้วยความสมัครใจเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยรายอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วย 5 คนนี้ไม่ใช่กรณีแรกของการใช้พลาสมา รักษาอาการป่วยของคนเป็นโรคโควิด-19 โดยเมื่อวันที่ 17 ก.พ.สำนักข่าวซินหัวของจีน รายงานว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ในเมืองอู่ฮั่น ได้รับการรักษาด้วยน้ำเลือดที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกัน หรือพลาสมาจนหายดีและเตรียมออกจากโรงพยาบาลได้ 1 ราย
นายซุน เยี่ยนหรง เจ้าหน้าที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน เปิดเผยว่าผู้ติดเชื้อรายดังกล่าวแข็งแรงพอจนเดินได้ ส่วนผู้ติดเชื้อที่เหลือก็ทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังแพทย์เก็บน้ำเลือดที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกันจากอดีตผู้ติดเชื้อโควิด-19 ชุดแรก เมื่อวันที่ 1 ก.พ. และรักษาผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงด้วยน้ำเลือดเป็นรายแรกที่โรงพยาบาลในเขตเจียงเซี่ยของอู่ฮั่น เมื่อวันที่ 9 ก.พ.
นายซุน กล่าวเสริมว่า ผู้ติดเชื้ออีก 10 ราย จะได้รับการรักษาด้วยน้ำเลือดที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกันภายในสัปดาห์นี้ จึงขอให้ผู้ติดเชื้อที่หายดีแล้วทั้งหลาย ร่วมกันบริจาคน้ำเลือดของตนเองเพิ่มขึ้นด้วย
ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในเมืองอู่ฮั่น พยายามวิจัยเพื่อหาวิธีต่อสู้กับโรคโควิด-19 ด้วยการชันสูตรศพ โดยได้รับการอนุญาตตามข้อกฎหมายและนโยบายของประเทศ และได้รับความยินยอมจากสมาชิกครอบครัวของผู้ป่วย โดยผลการชันสูตร ถูกส่งไปให้คณะนักวิจัยศึกษาพยาธิวิทยาของไวรัสตรวจสอบเพิ่มเติม เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสามารถในการก่อโรคของไวรัส และอัตราการเสียชีวิตจากโรค และเพื่อพัฒนาการรักษาพยาบาลผู้ป่วยอาการวิกฤติหรือผู้ป่วยที่อาการรุนแรง