ไฟป่าภาคเหนือที่คุกรุ่น I Green Pulse
ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันในพื้นที่ทางภาคเหนือปีนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมควบคุมมลพิษระบุว่า มีความรุนแรงมากกว่าปีก่อนๆ โดยค่าฝุ่นฯ PM2.5 เฉลี่ย 24 ชม. ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา พุ่งสูงต่อเนื่องกว่า 350 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
แม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหาโดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดภาคเหนือ หรือกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ ปัญหาไฟป่ายังคงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ แม้ในหลายพื้นที่เจ้าหน้าที่จะสามารถดับไฟได้แล้วก็ตาม แต่ไฟกลับมีโอกาสที่จะลุกขึ้นมาใหม่ อย่างที่เจ้าหน้าที่เรียกว่า ไฟคืน
สำหรับบัณรส บัวคลี่ ผู้ประสานงานของสภาลมหายใจเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักคิดทางสังคมในจังหวัดที่ติดตามปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ รวมทั้งปัญหาไฟป่าและหมอกควันมานานสิบกว่าปี เขากล่าวว่า ปัญหาไฟป่าและหมอกควันในภาคเหนือ ไม่ได้เป็นแค่ปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทุกปีในช่วง 3-4 เดือนในช่วงฤดูแล้ง หากแต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ต้องการความรู้และความเข้าใจ เพื่อนำมาสู่การออกแบบกลไกและมาตรการแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์ในพื้นที่ ซึ่งนับวันยิ่งทวีความซับซ้อนจากวิกฤตการณ์ของโลก รวมทั้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ปัญหามันก็คล้ายๆโรคโควิด 19 อยู่เหมือนกันนะ คือมันมีคำถามว่า แล้วเราจะเอาอะไร เศรษฐกิจ หรือสุขภาพและสิ่งแวดล้อมล่ะ” บัณรส นักเขียนและคอลัมนิสต์ และผู้ก่อตั้งเพจ WEVO สื่อสู้ฝุ่น เพื่อรณรงค์ปัญหาฝุ่นควันกล่าว
นับตั้งแต่ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาจากฝุ่นฯ PM2.5 เริ่มเป็นที่รับรู้ในวงกว้างในประเทศไทยเมื่อสองสามปีที่แล้ว หลักจากมีการติดตั้งสถานนีตรวจวัดมากขึ้น การติดตามปัญหาและความพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวมีความเข้มข้นขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยการรายงานสภาพปัญหาในปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการขยับตัวของรัฐบาลถึงขนาดกำหนดให้ปัญหาดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ และทำให้มีการสั่งการให้มีการทำแผนขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
ในการเขียนแผนฯ โดยกรมควบคุมมลพิษที่เป็นหน่วยงานหลัก, แผนฯ ได้ครอบคลุมปัญหาในช่วงวิกฤต และการแก้ปัญหาทั้งในระยะถัดมาคือ ระยะสั้นและระยะยาว และครอบคลุมพื้นที่ที่เกิดปัญหาเรื่องฝุ่นมากเป็นพิเศษ อาทิ กรุงเทพมหานคร สระบุรี และพื้นที่ในระดับภูมิภาคอย่างพื้นที่ภาคเหนือ
โดยสาเหตุหลักๆ ที่ถูกระบุในแผนคือการเผาในที่โล่ง การเผาป่า และฝุ่นควันข้ามพรมแดน ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่
(ภาพ/กรมอุทยานฯ)
แผนฯ เองได้พยายามนำเสนอกลไกและมาตรการให้ครอบคลุมทุกมิติของปัญหา แต่สิ่งที่บัณรสตั้งข้อสังเกตในการคิดและออกแบบเขียนแผนฯ นี้ที่กลายมาเป็นข้อจำกัดในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะพื้นที่ทางภาคเหนือคือ มาจากการคิดผ่านระบบราชการ และข้อจำกัดขององค์ความรู้ที่มีอยู่ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นสภาพปัญหาและโอกาสที่แท้จริงในพื้นที่ และทำให้การแก้ปัญหาไม่ได้ผลอย่างที่กำลังเกิดขึ้น
“จะว่าชาวบ้านเผาป่าอย่างเดียวคงไม่ได้” บัณรสกล่าว
จากการวิเคราะห์ของสภาลมหายใจเชียงใหม่ พบว่า แผนฯ นี้เขียนขึ้นด้วยชุดความรู้เรื่องมลพิษที่มีในกรุงเทพมหานครเป็นหลัก เมื่อรวมกับระบบราชการรวมศูนย์ ทำให้การสรุปปัญหาและการออกแบบกลไกและมาตรการในการแก้ปัญหาไม่ตอบโจทย์ในพื้นที่
ในช่วงเวลาวิกฤต แผนฯ ซึ่งมองว่าปัญหาไฟป่าและหมอกควันเป็นเรื่องของภัยพิบัติ ทำให้แผนฯ พยายามแก้ปัญหาผ่านกลไกของกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลเรื่องภัยพิบัติเป็นหลัก โดยให้มีการอำนายในการสั่งการผ่านอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหลัก หรือ single command และเมื่อฝุ่นควันถึงขั้นวิกฤต คือ มีค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกิน 100 มคก./ลบ.ม. กลไกในการแก้ปัญหาคือ การส่งเรื่องสู่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีเพื่อการสั่งการต่อไป
“แต่สิ่งที่เราเห็นคือค่าฝุ่นฯ ทางเหนือขึ้นเร็วและสูงมากกว่ากรุงเทพมากเพราะสาเหตุคนละอย่างกัน แต่กลไกที่ออกแบบบมา มันคือระบบราชการจากส่วนกลางหมดเลย ซึ่งต้องรอตามขั้นตอนราชการ ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้นจนถึงวันนี้ เรายังไม่เห็นการเรียกประชุมเลยซักครั้ง” บัณรสกล่าว พร้อมเสริมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความคิดที่รวมศูนย์แบบเดิมๆ ของราชการ ซึ่งนั่นหมายถึงข้อจำกัดของราชการส่วนกลางในการขยับตัวในการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วเท่าทันสถานการณ์ การไม่ได้มองเห็นว่าอำนาจของผู้ว่าฯ ก็เป็นไปอย่างจำกัด และไม่ได้มองเห็นศักยภาพของท้องถิ่นที่จะช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ ซึ่งไม่ได้ถูกรวมไว้ในแผนฯ นอกจากบกบาทการเป็นเพียงผู้สนับสนุน และมักจะถูกเรียกระดมในยามที่ไฟลามป่าไปแล้ว
วิธีคิดดังกล่าว บัณรสกล่าวว่า ยังส่งผลถึงการคิดออกแบบกลไกและมาตรการสำหรับการแก้ปัญหาในระยะถัดไปอีกด้วย
แม้จะมีการระบุถึงแนวทางแก้ปัญหาวิถีเกษตรที่เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันในระยะยาว เพราะเกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มีเศษวัสดุเกษตรที่ต้องเผา เช่น ข้าวโพด และมีการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกพืชดังกล่าวโดยการเผา แต่การดำเนินการก็ต้องผ่านกลไกของรัฐและราชการ ซึ่งที่ผ่านมาสภาฯ ยังไม่พบการดำเนินการอย่างจริงจังจากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ
บัณรสกล่าวว่า เพื่อแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันในภาคเหนือ จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เริ่มต้นด้วยการสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจในพื้นที่ทุกมิติ ก่อนจะไปสู่การออกแบบที่เอื้อให้ท้องถิ่น ซึ่งเป็นคนในพื้นที่และมีความรู้ความสัมพันธ์ในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา
ล่าสุด ทางสภาฯ ได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยเสนอให้รัฐทบทวนแผนฯ และวาระแห่งชาติ และเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ซึ่งสภาฯ เชื่อว่าปัญหาจะได้รับการดูแลและแก้ไขในพื้นที่ได้ดีขึ้น
“มันไม่ใช่แค่วาระแห่งชาติด้วย มันต้องการเจตนารมณ์ทางการเมืองและการปรับเปลี่ยนแนวคิดทางเศรษฐกิจและสังคมใหม่ (paradigms) ด้วยเหมือนกัน เช่น จะเอาแต่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวอยู่อย่างนั้นไม่ได้ แล้วมันเกี่ยวพันถึงใครบ้างล่ะ ก็ว่าไป” บัณรสกล่าว
ภาพ/เจ้าหน้าที่และจิตอาสาระดมกำลังดับไฟป่าบนดอยสุเทพช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา/ WEVO สื่อสู้ฝุ่น