เปิดชื่อ 80 ห้องแล็บตรวจโควิด-19
ขณะนี้ประเทศไทยมีการขยายห้องปฏิบัติการ ในการตรวจยืนยันเชื้อวิธีRT PCR ที่ได้รับรองแล้ว 80 แห่ง มีทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยในกรุงเทพฯมี 39 ห้อง มีศักยภาพตรวจได้ 10,000 ตัวอย่างต่อวัน และต่างจังหวัด 41 ห้อง มีศักยภาพตรวจได้ 10,000 ตัวอย่างต่อวัน
นอกจากนี้ จะมีการขยายให้มี 1 ห้องแล็บ 1 จังหวัด โดยภายในสิ้นเมษายน 2563 จะมีห้องแล็บที่ผ่านการรับรองเป็นอย่างน้อย 110 แห่ง และจะรายงานผลผ่านระบบออนไลน์ให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง หรือ 1 วัน
เพิ่ม3เกณฑ์นิยามผู้ป่วยโควิด-19
กรมควบคุมโรคได้พิจารณาขยายเกณฑ์นิยามผู้ป่วยที่ต้องสอบสวนโรคโควิด-19 เพิ่มเติม ซึ่งจะส่งผลต่อการตรวจยืนยันการติดเชื้อในห้องปฏิบัติการ(ห้องแล็บ) โดยจากที่มีการเฝ้าระวังโดยปกติอยู่แล้ว 3 จุด แต่ละจุดมีการขยายเกณฑ์เพิ่มเติม ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ โดยเดิมให้เฝ้าระวังในผู้ป่วยมีอาการและอาการแสดงมีไข้ 37.3 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือมีอาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหรือหายใจลำบาก ในเที่ยวบินที่มาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคหรือประเทศที่เป็นเขตติดโรค ขยายเป็นให้เฝ้าระวังในผู้ที่มีประวัติเดินทางไปยังหรือมาจากต่างประเทศทุกเที่ยวบิน ทุกช่องทางระหว่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกมีประเทศที่พบผู้ป่วยกง่า 209 ประเทศ
2.การเฝ้าระวังในสถานพยาบาล แยกเป็น 2.1 กรณีผู้ป่วยมีอาการไข้ 37.5 องศาฯขึ้นไป หรือให้ประวัติว่ามีไข้ในการป่วยร่วมกับหรือมีอาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหรือหายใจลำบาก หรือมีโรคปอดอักเสบ ส่วนที่ขยายเพิ่มในส่วนของเป็นคนที่มีประวัติในช่วง 14 วันก่อนเริ่มป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ประวัติเดินทางไปยังหรือมาจากต่างประเทศหรืออยู่อาศัยในพื้นที่เกิดโรคโควิด-19 รวมถึง ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวจากทุกประเทศ(เดิมกำหนดเฉพาะประเทศเสี่ยง) สถานที่แออัดหรือติดต่อกับคนจำนวนมาก และไปในสถานที่ชุมนุมชน หรือสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มคน เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สถานพยาบาลหรือขนส่งสาธารณะ(เดิมกำหนดต้องเป็นสถานที่ที่พบผู้ป่วยมาก่อน) และ2.2ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบทุกรายที่ หาสาเหตุไม่ได้หรือรักษาแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตโดยหาสาเหตุไม่ได้ และภาพถ่ายรังสีปอดเข้าได้กับโรคโควิด-19(ตามเกณฑ์เดิม)
3.เฝ้าระวังในบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีอาการไข้ 37.5 องศาฯขึ้นไป หรือให้ประวัติว่ามีไข้ในการป่วยร่วมกับหรือมีอาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหรือหายใจลำบาก หรือมีโรคปอดอักเสบทุกราย และ4.การเฝ้าระวังการป่วยเป็นกลุ่มก้อนของผู้มีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่ผลตรวจแล็บต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ให้ผลลบทุกราย(เกณฑ์เดิม)
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการตรวจยืนยันเชื้อไวรัสโคโรนา2019 ที่ก่อโรคโควิด-19ด้วย วิธีการตรวจหารหัสสารพันธุกรรม(RT PCR)ที่เป็นวิธีการตรวจมาตรฐานที่ใช้ทั่วโลกและองค์การอนามัยโลก(ฮู)ให้การยอมรับไปแล้ว 71,860 ตัวอย่าง โดยแยกเป็นกลุ่มที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคของกรมควบคุมโรค ซึ่งทุกรายจะได้รับการตรวจฟรีไม่ว่าผลตรวจจะเป็นลบหรือเป็นบวก และกลุ่มที่ไม่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค แต่มีความประสงค์ที่จะตรวจโดยจ่ายเงินเองในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งในจำนวนการตรวจทั้งหมดพบผลเป็นบวกคือติดเชื้อ 2,258 รายตามที่กระทรวงสาธารณสุขรายงานผู้ป่วยยืนยัน
ขณะนี้ประเทศไทยมีการขยายห้องปฏิบัติการ(ห้องแล็บ)ในการตรวจยืนยันเชื้อวิธีRT PCR ที่ได้รับรองแล้ว 80 แห่ง มีทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยในกรุงเทพฯมี 39 ห้อง มีศักยภาพตรวจได้ 10,000 ตัวอย่างต่อวัน และต่างจังหวัด 41 ห้อง มีศักยภาพตรวจได้ 10,000 ตัวอย่างต่อวัน และจะขยายให้มี 1 ห้องแล็บ 1 จังหวัด โดยภายในสิ้นเมษายน 2563 จะมีห้องแล็บที่ผ่านการรับรองเป็นอย่างน้อย 110 แห่ง และจะรายงานผลผ่านระบบออนไลน์ให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง หรือ 1 วัน โดยห้องแล็บที่จะผ่านประเมินนั้น จะต้องมีนักเทคนิคการแพทย์ที่มีความรู้ในการตรวจหาสารพันธุกรรม มีเครื่องมือ มีสถานที่ปลอดภัย มีบุคลากรที่ผ่านการทดสอบ มีระบบควบคุมมาตรฐานห้องแล็บ และมีระบบข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน
- ตรวจแล็บกรณีโควิด-19 มี2วิธี
สำหรับการตรวจแล็บกรณีโควิด-19 มี 2 วิธี คือ 1.การตรวจหาเชื้อในทางเดินหายใจ(Real-time RT PCR) ซึ่งจะเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากการป้ายเยื่อบุในคอ หรือ ป้ายเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก เพราะเชื้อไวรัสอยู่ในเซลล์จึงต้องขูดออกมา และหากเชื้อลงไปในปอด ก็จะต้องนำเสมหะที่อยู่ในปอดออกมาตรวจ การตรวจวิธีนี้ต้องระวังการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม จึงต้องทำในห้องแล็บที่ได้รับมาตรฐาน ใช้เวลาตรวจเฉพาะในห้องแล็บ 2.5 -3 ชั่วโมง ต้นทุนเฉพาะในห้องแล็บอยู่ที่ครั้งละ 2,500 บาท
2.การตรวจจากการเจาะเลือด(Rapid test) แต่โควิด-19เลือดไม่ใช่เป็นจุดที่มีเชื้อเป็นหลัก เพราะฉะนั้นการตรวจเลือดกรณีโรคนี้ไม่ได้เป็นการหาเชื้อ แต่เป็นการหาภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะต้องตรวจเมื่อมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นแล้ว ใช้เวลาตรวจ 15-30 นาที ปัจจุบันเป็นการนำเข้าชุดตรวจราคาอยู่ที่ 500 บาท แต่กรมกำลังพัฒนาชุดตรวจให้อยู่ในราคาชุดละ 200 บาท
ทั้งนี้ กรณีการตรวจแบบRapid Test หรือการตรวจหาภูมิคุ้มกันในเลือดนั้น นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ในช่วง 2-3สัปดาห์ที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องจากประชาชนมายังรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ให้มีการนำRapid Test มาใช้ ทั้งที่กรมฯไม่ได้มีแนวคิดจะนำการตรวจวิธีนี้มาแทนการตรวจด้วยวิธีRT PCRที่เป็นวิธีมาตรฐาน และการตรวจแบบRapid Test ไม่ใช่การตรวจเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อ แต่เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อไปแล้ว ซึ่งภูมิคุ้มกันจะขึ้นอย่างน้อยต้อง 7-10 วันหลังการรับเชื้อ
ขณะที่RT PCR ที่เป็นการตรวจมาตรฐานนั้น จะตรวจหาการติดเชื้อได้หลังรับเชื้อ 3 วัน จะเห็นได้ว่าการตรวจRT PCRนั้นจะตรวจหาเชื้อในผู้ที่ติดในช่วงเวลาที่เร็วกว่าวิธี Rapid Test อีกทั้ง ข้อมูลทางวิชาการ หลักการรวมถึงแพทย์ผู้รักษา ทั้งจากจุฬาลงการณ์ รามาธิบดี ศิริราช ก็ยืนยันว่าการตรวจแบบ RT PCR หรือการตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยการเก็บสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วย ยังสำคัญในการตรวจวินิจฉัย และการควบคุมโรค ไม่ใช่การตรวจแบบRapid Test
ทั้งนี้ได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ให้ทำการประเมินมาตรฐานRapid Test กรมก็ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมาย หากทางผู้ทรงคุณวุฒิหรือคณะกรรมการประเมินชุดทดสอบมีเจตนาจะทุจริตจริง อย่างที่มีการกล่าวหาคงต้องรีบสนับสนุนให้มีการใช้ Rapid Testอย่างกว้างขวาง แต่ที่ผ่านมาทั้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หรือแม้แต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กลับทำตรงกันข้ามคือยืนหยัดในหลักกา หลักวิชาการว่า Rapid Test ไม่ใช่วิธีมาตรฐานในการตรวจยืนยันเชื้อ
“จากที่มีข้อกล่าวหาว่าคณะกรรมการประเมินชุดทดสอบฯเลือกปฏิบัติ ไม่โปร่งใส ไม่มีมาตรฐาน นั้น เรามีการดำเนินงาน มีมาตรฐานสากล หลักวิชาการรองรับและสอดคล้องกับหลักวิชาการ ทั้งนี้ ขอยืนยันในความมุ่งมั่น เราเป็นมืออาชีพยึดมั่นในหลักวิชาการว่าเราพร้อมต่อสู้กับโรคระบาดตามหลักวิชาการโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่เคยทุจริต ไม่เคยถูกครอบงำจากกลุ่มใดหรือผู้ใดที่ไม่ถูกต้อง วันนี้เราทำงานเพื่อประชาชนอุปสรรคอาจทำให้สะดุดไปบ้างแต่เรายืนยันที่จะปฏิบัติหน้าที่มุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ปกป้องพี่น้องประชาชนและประเทศชาติต่อไป” นายแพทย์โอภาส กล่าว
- คาด15เม.ยมีผู้ป่วย4,000คน
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์เดิมภายใน 15 เมษายน 2563 จะมีผู้ป่วยราว 7,000 คน หากเทียบจากสถานการณ์ปัจจุบันการคาดการณ์นั้นนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย
อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยสะสมราว 2,200 ราย ในช่วง 10 วันที่ผ่านมามีผู้ป่วยรายใหม่ต่อวันมากที่สุด 188 ราย และน้อยสุด 38 ราย เฉลี่ยอยู่ที่ 100 รายต่อวัน นับจากวันนี้อีก 8 วันจะถึงวันที่ 15 เมษายน หากคิดในจำนวนมากที่สุดที่จะมีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นก็น่าจะไม่เกิน 2,000 ราย เมื่อรวมกับผู้ป่วยสะสมเดิม 2,200 ราย ก็น่าจะประมาณ 4,000 กว่าราย โอกาสที่จะถึง 7,000 รายมีน้อย
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้จะเป็นจริงได้ ยังคงต้องเข้มข้นมาตรการต่างๆที่ดำเนินการอยู่ต่อไป ทั้งการลดไม่ให้เชื้อมาจากต่างประเทศ ประชาชนใส่หน้ากาอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ผู้มีอาการที่เข้าเกณฑ์มีประวัติเสี่ยงต้องรียรายงานเจ้าหน้าที่ และห้ามปกปปิดข้อมูล ทั้งหมดจะสำเร็จต้องเกิตจากคนไทยทุกคนในสังคม