วัดระดับความเข้ม 'คุมระบาดโควิด' ในแต่ละประเทศ
หลายประเทศทั่วโลกออกมาตรการเข้มงวดต่าง ๆ เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งรวมไปถึงการปิดพรมแดนและจำกัดการเดินทางของพลเมือง ไปดูกันว่าแต่ละประเทศใช้มาตรการเข้มข้นแตกต่างกันขนาดไหน
นอกจากประเทศไทยที่เพิ่งยกระดับคุมเข้มการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ด้วยการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น.ของทุกวันและใช้มาตรการล็อคดาวน์ในหลายจังหวัด ประเทศอื่น ๆ ก็ออกมาตรการที่ครอบคลุมมากขึ้นเช่นกัน รวมถึงการล็อคดาวน์เต็มรูปแบบ การปิดสนามบิน การจำกัดการเดินทางเข้า-ออกประเทศ และการปิดพรมแดนของตน
มาตรการเหล่านี้ล้วนมีเป้าหมายสูงสุดคือ ยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัสมรณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) นิยามว่าเป็น “การระบาดใหญ่ระดับโลก” หรือ Pandemic
รายชื่อประเทศที่จะกล่าวถึงดังต่อไปนี้ได้ออกมาตรการลักษณะดังกล่าวในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เพื่อความมั่นใจ ผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศช่วงนี้ควรอัพเดตข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมกับเว็บไซต์รัฐบาลประเทศนั้น ๆ ด้วยเช่นกัน
- ออสเตรเลีย (ยอดผู้ป่วย ณ 7 เม.ย. : 5,919 ราย)
รัฐบาลไม่อนุญาตให้นักเดินทางต่อเครื่องบินหรือเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. เป็นต้นไป ยกเว้นคนสัญชาติออสเตรเลียและสมาชิกครอบครัว ผู้พำนักถาวรในประเทศและสมาชิกครอบครัว พนักงานสายการบิน และนักการทูต
อย่างไรก็ตาม กฎดังกล่าวไม่มีผลบังคับใช้คนสัญชาติฟิจิ คิริบาติ หมู่เกาะมาร์แชลล์ ไมโครนีเซีย นาอูรู นิวซีแลนด์นีอูเอ ปาเลา ปาปัวนิวกินี อเมริกันซามัว หมู่เกาะโซโลมอน ตองกา ตูวาลู และวานูอาตู
ขณะเดียวกัน ทางการไม่อนุญาตให้พลเมืองออสเตรเลียเดินทางออกนอกประเทศ ยกเว้นคนที่มีถิ่นพำนักในต่างประเทศ พนักงานสายการบินและพนักงานเดินเรือ และแรงงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย คนที่เดินทางไปทำงานสำคัญในต่างแดน และคนที่เดินทางไปทำกิจในนามรัฐบาลอย่างเป็นทางการ
เมื่อวันที่ 23 มี.ค. รัฐบาลบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ปิดผับ สโมสร โรงยิม และศาสนสถานต่าง ๆ อย่างไม่มีกำหนด หลังพบว่าประชาชนจำนวนมากไม่ใส่ใจคำเตือนให้เว้นระยะห่างทางสังคม และยังคงไปเที่ยวเตร่ตามชายหาด บาร์ และร้านอาหาร
- จีน (ยอดผู้ป่วย ณ 7 เม.ย. : 81,740 ราย)
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. รัฐบาลจีนประกาศห้ามชาวต่างชาติส่วนใหญ่เดินทางเข้าประเทศเป็นการชั่วคราว ยกเว้นเจ้าหน้าที่การทูต ในความพยายามเพื่อควบคุมจำนวนผู้ติดโรคโควิดจากต่างแดน
กระทรวงการต่างประเทศระบุว่า แม้แต่พลเมืองต่างชาติที่มีบัตรอนุญาตสำหรับพำนักในจีน ก็จะถูกห้ามเข้าประเทศเช่นกัน ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ชาวต่างชาติที่เดินทางมาจีนเพื่อทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า วิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยี ที่มีความจำเป็น หรือต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมฉุกเฉิน ยังสามารถยื่นขอวีซ่าได้
เดือน ม.ค. จีนยกระดับมาตรการรับมือผู้ป่วยโควิดจากต่างแดน โดยกรุงปักกิ่งและมณฑลอื่น ๆ บังคับให้ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน
ขณะที่กระทรวงการบินพลเรือนจีนก็ออกมาตรการจำกัดจำนวนผู้โดยสารสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศขาเข้า
- ฝรั่งเศส (ยอดผู้ป่วย ณ 7 เม.ย. : 109,069 ราย)
รัฐบาลฝรั่งเศสออกคำสั่งห้ามผู้โดยสารที่เดินทางจากประเทศที่ไม่อยู่ในกลุ่มเชงเกน (Schengen) ที่มีสมาชิก 26 ประเทศในยุโรป เดินทางเข้าประเทศ
อย่างไรก็ตาม กฎนี้ไม่มีผลบังคับใช้กับผู้ถือสัญชาติประเทศในกลุ่มเขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA) ผู้โดยสารชาวสวิสที่ถือหนังสือเดินทางสหราชอาณาจักร และผู้มีบัตรอนุญาตสำหรับพำนักในฝรั่งเศสที่ออกโดยรัฐบาล
ขณะที่บรรดาบุคลากรทางการแพทย์และนักวิจัยที่ทำงานเกี่ยวกับการรับมือไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ได้รับการยกเว้นจากมาตรการจำกัดการเดินทางดังกล่าว
นอกจากนี้ ทางการยังขยายมาตรการล็อคดาวน์กรุงปารีส ด้วยการห้ามประชาชนออกกำลังกายนอกบ้านระหว่างเวลา 10.00-19.00 น. มีผลตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. เป็นต้นไป หลังจากยังมีประชาชนออกไปวิ่งออกกำลังกายหรือจับกลุ่มกันใกล้ตลาด ซึ่งยิ่งเพิ่มความเสี่ยงติดโควิด-19
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลฝรั่งเศสได้ขอให้ประชาชนทั่วประเทศอยู่ในบ้านให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. จนถึงวันที่ 15 เม.ย. และมีแนวโน้มว่าจะขยายเวลาออกไปอีก
- เยอรมนี (ยอดผู้ป่วย ณ 7 เม.ย. : 106,504 ราย)
รัฐบาลเยอรมนีสั่งห้ามผู้โดยสารที่เดินทางจากประเทศที่ไม่อยู่ในกลุ่มเชงเกน (Schengen) ที่มีสมาชิก 26 ประเทศในยุโรป เดินทางเข้าประเทศ
อย่างไรก็ตาม กฎนี้ไม่มีผลบังคับใช้กับผู้ถือสัญชาติประเทศในกลุ่มเขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA) พลเมืองชาวสวิสและสหราชอาณาจักร และผู้โดยสารซึ่งมีสิทธิพำนักระยะยาวในกลุ่มประเทศสมาชิก EEA, สวิตเซอร์แลนด์ หรือสหราชอาณาจักร ที่จะเดินทางกลับบ้านเกิด
ผู้โดยสารทุกคนต้องแสดงแบบฟอร์มติดตามตัวผู้โดยสารเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ (Public Health Passenger Locator Form) ที่กรอกข้อมูลครบถ้วนเมื่อเดินทางมาถึงเยอรมนี
- อินเดีย (ยอดผู้ป่วย ณ 7 เม.ย. : 4,908 ราย)
อินเดีย ซึ่งมีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน ประกาศห้ามเที่ยวบินระหว่างประเทศทุกเที่ยวบิน ยกเว้นเที่ยวบินขนส่งสินค้า บินเข้าประเทศจนถึงวันที่ 14 เม.ย.นี้
เมื่อวันที่ 18 มี.ค. รัฐบาลประกาศระงับการออกวีซ่าให้กับหลายประเทศ ปัจจุบัน ผู้ถือสัญชาติต่างประเทศที่เกิดในอินเดียหลายล้านคนซึ่งก่อนหน้านี้เข้าประเทศได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า จะต้องยื่นขอวีซ่าก่อนเช่นกัน
นอกจากนี้ ทางการยังขอให้ชาวอินเดียหลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศในช่วงเวลานี้ หากไม่มีเหตุจำเป็น
เมื่อวันที่ 17 มี.ค. อินเดียระงับการออกวีซ่าให้กับพลเมืองฝรั่งเศส สเปน และเยอรมนี จนกว่าจะมีการประกาศเพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้านี้บังคับใช้มาตรการเดียวกันกับพลเมืองจีน อิตาลี อิหร่าน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็น 5 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิดระบาดหนักที่สุดในขณะนั้น
ขณะเดียวกัน รัฐบาลอินเดียยังสั่งปิดพรมแดนฝั่งที่ติดกับเพื่อนบ้านเมียนมาด้วย
- อิตาลี (ยอดผู้ป่วย ณ 7 เม.ย. : 135,586 ราย)
ในอิตาลีซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุดในโลกถึงกว่า 16,000 คน รัฐบาลได้บังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ในความพยายามเพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัสมรณะ โดยล่าสุดรัฐบาลประกาศขยายมาตรการนี้ไปจนถึงอย่างน้อยวันที่ 12 เม.ย. จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 3 เม.ย.
ทางการไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศผ่านสนามบินในแคว้นลอมบาร์ดี และอีกหลายจังหวัด เช่น อเลสซานเดรีย, อัสตี, โมเดนา, โนวารา, ปาโดวา, ปาร์มา, เปเซโรและอูร์บิโน, ปิอาเชนซา, เรจจิโอ เอมิเลีย, ริมินี, เตรวิโซ-เวนิซ, แวร์บาโน-คูซิโอ-ออสโซลา และแวร์เชลลี
คนที่เดินทางไปทำธุระด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ธุระเร่งด่วน หรือหากเป็นผู้อาศัยในพื้นที่นั้น ๆ ต้องแจ้งการเดินทางเข้าประเทศต่อสำนักงานป้องกันโรคระดับภูมิภาค และต้องอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังอาการและกักตัวเป็นเวลา 14 วัน
รัฐบาลสั่งห้ามการเดินทางภายในประเทศและปิดอุตสาหกรรมหลายประเภทเมื่อวันที่ 23 มี.ค. เพื่อต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19
- ญี่ปุ่น (ยอดผู้ป่วย ณ 7 เม.ย. : 3,906 ราย)
เดิมนั้น รัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัยบังคับใช้มาตรการห้ามเข้าประเทศสำหรับนักเดินทางที่เคยอยู่ในจีน อิหร่าน หรืออิตาลี ช่วง 14 วันก่อนมาถึงญี่ปุ่น และวันที่ 3 เม.ย. ทางการได้ขยายคำสั่งห้ามนี้เป็น 73 ประเทศ รวมถึงสหรัฐ สหราชอาณาจักร และแคนาดา
คำสั่งห้ามเข้าประเทศยังครอบคลุมถึงอย่างน้อย 44 ประเทศยุโรป, 12 ประเทศเอเชีย (รวมถึงไทย), 4 ประเทศตะวันออกกลาง, 5 ประเทศแอฟริกา, 6 ประเทศละตินอเมริกา เช่นเดียวกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
ล่าสุด รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงโตเกียวและอีก 6 จังหวัด ได้แก่ ชิบะ, คานางาวะ, ไซตามะ, โอซากา, เฮียวโงะ และฟูกูโอกะ เพื่อให้ผู้ว่าการแต่ละเมืองมีอำนาจตามกฎหมายในการสั่งให้ประชาชนอยู่ในบ้านและให้ภาคธุรกิจปิดทำการได้ โดยมีผลบังคับใช้นาน 1 เดือนตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย.
- มาเลเซีย (ยอดผู้ป่วย ณ 7 เม.ย. : 3,963 ราย)
เมื่อวันที่ 17 มี.ค. รัฐบาลประกาศปิดประเทศ ห้ามพลเมืองมาเลเซียเดินทางออกนอกประเทศและไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่ไม่มีถิ่นพำนักในมาเลเซียเข้าประเทศ ส่วนคนสัญชาติมาเลเซียและชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในประเทศ จะถูกกักกันโรคเป็นเวลา 14 วันเมื่อเดินทางมาถึง
เดิมนั้น คำสั่งดังกล่าวมีผลถึงวันที่ 31 มี.ค. ก่อนที่รัฐบาลจะขยายเวลาไปอีก 2 สัปดาห์จนถึงวันที่ 14 เม.ย.
ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. เป็นต้นไป ทางการไม่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนเครื่องจากเที่ยวบินระหว่างประเทศไปเที่ยวบินภายในประเทศ จนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม
- สิงคโปร์ (ยอดผู้ป่วย ณ 7 เม.ย. : 1,481 ราย)
เมื่อวันที่ 23 มี.ค. สิงคโปร์ ประกาศปิดประเทศโดยไม่อนุญาตให้ผู้ถือวีซ่าระยะสั้น นักท่องเที่ยวจากทุกประเทศ เดินทางเข้าสิงคโปร์ รวมถึงไม่อนุญาตให้มาเปลี่ยนสายการบินที่สิงคโปร์ มีผลตั้งแต่เวลา 23.59 น. วันที่ 23 มี.ค. ตามเวลาท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ยกเว้นผู้ที่มีวีซ่าทำงานเกี่ยวกับด้านการขนส่งและการดูแลสุขภาพ ซึ่งยังสามารถเดินเข้าประเทศได้
ส่วนผู้ที่มีถิ่นพำนักในสิงคโปร์และผู้ที่ถือใบอนุญาตทำงานหรือทำธุรกิจในสิงคโปร์ที่กลับมาจากต่างประเทศ จะต้องถูกกักกันโรคหรือขอความร่วมมือให้กักกันตัวเองเป็นเวลา 14 วันเมื่อเดินทางมาถึง
นอกจากนี้ รัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. ไปจนถึงวันที่ 4 พ.ค. เพื่อสกัดการระบาดของโควิด-19 ทำให้สถานที่ทำงาน ห้องสมุดสาธารณะ และศูนย์การค้าต้องปิดทำการ ส่วนโรงเรียนและมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนไปสอนออนไลน์แทน
ที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้รับคำชมจากหลายฝ่ายกรณีใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดในการตรวจหาผู้ติดเชื้อและติดตามผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย แต่ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อกลับยังเพิ่มขึ้น จนรัฐบาลต้องยกระดับมาตรการ
- เกาหลีใต้ (ยอดผู้ป่วย ณ 7 เม.ย. : 10,331 ราย)
เมื่อวันที่ 17 มี.ค. รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศคุมเข้มการตรวจคนเข้าเมืองทุกจุดผ่านแดนสำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ หลังจากก่อนหน้านั้นได้ตรวจเข้มงวดกับผู้มาเยือนจากจีน อิตาลี และอิหร่าน ด้วยการกำหนดให้นักเดินทางจากประเทศเหล่านี้ลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือเพื่อติดตามว่าพวกเขามีอาการป่วย เช่น มีไข้สูง หรือไม่
นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังออกคำแนะนำการเดินทางฉบับพิเศษเมื่อวันที่ 23 มี.ค. เรียกร้องให้พลเมืองเกาหลีใต้ยกเลิกหรือเลื่อนทริปไปเที่ยวทุกประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการระบาดของโควิด-19
เกาหลีใต้ได้บังคับใช้มาตรการกักกันโรค 2 สัปดาห์และตรวจหาโรคโควิด-19 กับนักท่องเที่ยวที่มีวีซ่าระยะยาวทุกคนจากยุโรป ไม่ว่าจะแสดงอาการป่วยหรือไม่ก็ตาม เพื่อป้องกันการนำเชื้อไวรัสจากต่างแดนเข้ามาแพร่ในประเทศ
- สเปน (ยอดผู้ป่วย ณ 7 เม.ย. : 140,511 ราย)
กระทรวงมหาดไทยสเปนสั่งคุมเข้มการเข้าประเทศสำหรับชาวต่างชาติส่วนใหญ่ที่เดินทางผ่านสนามบินและท่าเรือเป็นเวลา 30 วันตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19
คำสั่งนี้มีขึ้นไม่กี่วันหลังจากสเปนประกาศจำกัดการเข้า-ออกพรมแดนทางบกที่ติดกับฝรั่งเศสและโปรตุเกส หลังบรรดาผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) เห็นพ้องให้ปิดพรมแดนกลุ่มอียูทั้งหมดเป็นเวลา 30 วัน
อย่างไรก็ดี ผู้มีสัญชาติสเปน ชาวต่างชาติที่อาศัยในสเปน ลูกเรือสายการบินโดยสารและสายการบินขนส่งสินค้า เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่การทูต ได้รับอนุญาตให้เดินทางได้ตามปกติ
ก่อนหน้านั้น รัฐบาลสเปนประกาศปิดพรมแดนทางบกทั้งหมดเมื่อวันที่ 16 มี.ค. โดยอนุญาตเพียงพลเมืองสเปน ผู้มีถิ่นพำนักในประเทศ และบุคคลอื่น ๆ ที่มีธุระจำเป็นเร่งด่วน เดินทางเข้าประเทศได้
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศขยายเวลาล็อคดาวน์ทั่วประเทศอีก 2 สัปดาห์จนถึงเที่ยงคืนของวันที่ 25 เม.ย. ตามเวลาท้องถิ่น จากคำสั่งเดิมเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 11 เม.ย. เพื่อให้เวลาในการฟื้นฟูระบบสาธารณสุขของประเทศที่รับศึกหนักจากโรคระบาดครั้งนี้
สเปนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลก โดยนับถึงวันที่ 7 เม.ย. มีผู้ป่วยรวมกว่า 140,000 คน มากที่สุดรองจากสหรัฐ และผู้เสียชีวิตกว่า 13,800 คน มากที่สุดรองจากอิตาลี
- สหราชอาณาจักร (ยอดผู้ป่วย ณ 7 เม.ย. : 55,242 ราย)
รัฐบาลสหราชอาณาจักรเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ไม่ต่างจากประชาชนทั่วไป นำโดยนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ที่ขณะนี้รักษาตัวอยู่ในห้องไอซียูและมีอาการคงที่ และแม้แต่ แมตต์ แฮนค็อก รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลรับผิดชอบสถานการณ์นี้โดยตรงก็ยังติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม ในด้านการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ รัฐบาลได้ออกคำแนะนำเมื่อวันที่ 17 มี.ค. ให้พลเมืองหลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศทั่วโลก หากไม่มีธุระจำเป็น เป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน
ต่อมาในวันที่ 23 มี.ค. รัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ทั่วประเทศเป็นเวลา 3 สัปดาห์ พร้อมสั่งปิดห้างร้านที่ไม่จำเป็น และห้ามประชาชนออกจากบ้านหรือรวมตัวในที่สาธารณะเกิน 2 คนขึ้นไป ยกเว้นออกไปซื้อข้าวของที่จำเป็น ไปพบแพทย์ หรือไปทำงานเท่านั้น
นีล เฟอร์กูสัน ที่ปรึกษาของรัฐบาลและศาสตราจารย์แถวหน้าด้านคณิตศาสตร์ชีววิทยาจากวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ คาดว่า รัฐบาลจะยังไม่ผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์เข้มงวด จนกว่าจะถึงสิ้นเดือน พ.ค.นี้
- สหรัฐ (ยอดผู้ป่วย ณ 7 เม.ย. : 386,104 ราย)
ในสหรัฐซึ่งมีผู้ป่วยโควิด-19 มากที่สุดในโลกอยู่ที่กว่า 386,000 ราย รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บังคับใช้มาตรการห้ามเข้าประเทศสำหรับชาวต่างชาติทุกสัญชาติที่เคยเดินทางไป30 ประเทศ ซึ่งรวมถึงจีน อิหร่าน ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน หรือสหราชอาณาจักร ช่วง 14 วันก่อนมาถึงสหรัฐ
ขณะที่พลเมืองอเมริกันหรือผู้มีถิ่นพำนักถาวรในสหรัฐที่กลับจากเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง ต้องบินไปลงที่สนามบินนานาชาติแห่งใดแห่งหนึ่งใน 13 แห่งที่เพิ่มมาตรการคัดกรองผู้โดยสารขาเข้าไว้แล้ว
เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ทรัมป์ประกาศปิดพรมแดนสหรัฐที่ติดกับแคนาดาด้วยความยินยอมร่วมกัน สำหรับการเดินทางที่ไม่จำเป็น เช่น ท่องเที่ยวและการเยือนเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ
ต่อมาวันที่ 19 มี.ค. ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ เผยว่า สหรัฐและเม็กซิโกตกลงจำกัดการเดินทางที่ไม่จำเป็นระหว่างพรมแดนเป็นเวลา 30 วัน และจะพิจารณใหม่อีกครั้งเมื่อพ้นช่วงเวลาดังกล่าว
ต้นเดือน เม.ย. ทรัมป์กล่าวว่า กำลังพิจารณาสั่งให้สายการบินต่าง ๆ ระงับเที่ยวบินภายในประเทศระหว่างจุดที่โรคโควิด-19 ระบาดรุนแรง เช่น นิวยอร์ก เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ และยังมีแผนที่จะจำกัดการเดินทางทางรถไฟด้วย แต่ยังไม่ตัดสินใจขั้นสุดท้าย