8 ธุรกิจ เสี่ยงตกงาน 7 ล้านคน
กกร.คาดโควิดกระทบเศรษฐกิจหลักล้านล้านบาท รุนแรงกว่าต้มยำกุ้ง ส่งผลต่อธุรกิจ-ประชาชนทุกระดับ คาดยืดเยื้อถึง มิ.ย.นี้ ตกงาน 7.1 ล้านคน พร้อมลามถึงบริษัทใหญ่ต้องลดคน แนะประกันสังคมช่วยอุ้มค่าจ้าง 50%
การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย วานนี้ (8 เม.ย.) ได้ประเมินผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะผลกระทบต่อการจ้างงานที่ชัดเจนมากขึ้น
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.เปิดเผยว่า วิกฤติโควิด-19 มีความรุนแรงมากกว่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เนื่องจากปี 2540 ผู้ที่ได้รับผลประทบจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ถึงกลาง และธุรกิจการเงินที่กู้เงินจากต่างประเทศ และเมื่อค่าเงินบาทลอยตัวทำให้ธุรกิจเหล่านี้ต้องปิดกิจการ
“วิกฤติโควิด-19 ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะกระจายไปทุกกลุ่ม ตั้งแต่ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและรายย่อย ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่บางส่วน ทำให้มีผู้ตกงานและได้รับผลกระทบจำนวนมากกว่า โดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้แรงงานมากและธุรกิจฐานราก เช่น ธุรกิจบริการทุกขนาดและธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่ง กกร.ประเมินว่าสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจหลักล้านล้านบาท”
กกร.ประเมินว่าภายในเดือน มิ.ย.นี้ จะมีแรงงานตกงาน 7.13 ล้านคน จากแรงงานในระบบประกันสังคมประมาณ 38 ล้านคน คิดเป็น 18.5% ของแรงงานทั้งหมด แบ่งเป็น
1.ธุรกิจบันเทิง คาดว่าจะเลิกจ้าง 6 หมื่นคน
2.ร้านอาหาร 2.5 แสนคน
3.สปาและร้านนวดในระบบ 3.96 หมื่นคน สปาและร้านนวดนอกระบบ 2 แสนคน
4.ธุรกิจโรงแรม 9.78 แสนคน
5.ศูนย์การค้าและค้าปลีก 4.2 ล้านคน
6.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 7.76 หมื่นคน
7.สิ่งทอ 2 แสนคน
8.ธุรกิจก่อสร้าง 1 ล้านคน โดยแรงงานที่อาจตกงาน 7.13 ล้านคนนี้ จะเป็นแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน 6.773 ล้านคน คิดเป็น 95% ของแรงงานที่ตกงาน
“ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงเป็นเอสเอ็มอี หากการระบาดยืดยาวเกินเดือน มิ.ย.นี้ จะรุกลามไปกระทบธุรกิจใหญ่ เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงธุรกิจส่งออกขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้ตัวเลขการตกงานสูงขึ้นกว่าที่คาด”
สำหรับ ผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ จะติดลบแน่นอน แต่จะติดลบมากเท่าไรขอประเมินจากมาตรการแก้ไขเศรษฐกิจของภาครัฐก่อนว่าได้ผลเพียงใด ส่วนการส่งออก คาดว่าจะติดลบ 5-10% เป็นอย่างน้อย อัตราเงินเฟ้อจะติดลบ 1.5% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 0% ถึงลบ 0.5%
แนะรัฐเพิ่มมาตรการช่วยเหลือ
นอกจากนี้ กกร.เห็นว่ารัฐบาลควรเพิ่มมาตรการช่วยผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมาตรการด้านผู้ประกอบการ ประกอบด้วย 1.ขอให้ภาครัฐออกคำสั่งปิดกิจการโรงแรมทั่วประเทศ เพื่อให้พนักงานเข้าข่ายกิจการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการของรัฐ และพนักงานจะได้เงินชดเชยตามมาตรการที่รัฐกำหนด เพราะแม้โรงแรมไม่ถูกสั่งปิดก็เหมือนต้องปิดกิจกาารหลังจากไม่มีผู้ใช้บริการ
2.ขอให้ลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศ เพราะต้นทุนน้ำมันลดลงมาก จึงขอให้ค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) สะท้อนต้นทุนแท้จริงด้วย 3.เพิ่มสภาพคล่องโดยอัดฉีดวงเงินใหม่ให้ภาคธุรกิจอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันวงเงินกู้เพิ่มจาก 40% เป็น 80%
4.ให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายในการป้องกันการระบาด 5.รัฐจัดสรรงบประมาณจ้างงาน ซื้อสินค้า จากผู้ผลิตในประเทศในราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องใช้การป้องกันการระบาด
มาตรการด้านแรงงาน ประกอบด้วย 1.ขอให้ภาครัฐมีมาตรการเพิ่มเติมให้แรงงานในระบบประกันสังคมได้รับชดเชยรายได้ เพราะพนักงานที่ต้องหยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือนจะไม่ได้รับเงินชดเชยการหยุดกิจการชั่วคราวจากคำสั่งของรัฐ และไม่เข้าหลักเกณฑ์เยียวยา 5,000 บาท ดังนั้นสำนักงานประกันสังคมควรมาช่วยเหลือ โดยจ่ายเงิน 50% ของค่าจ้าง
2.เสนอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท โดยยังได้รับเงินเดือน 75% และไม่ตกงาน โดยบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีโอกาสปลดแรงงานออก เพื่อให้จ่ายเงินเดือนอัตรา 75% ของเงินเดือนปกติ โดยภาครัฐสนับสนุนค่าจ้างเงินเดือน 50% จากประกันสังคม และบริษัทเอกชนจ่ายอีก 25% ให้พนักงานและแรงงานที่มีเงินเดือนไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ซึ่งจะช่วยลดอัตราการว่างงานได้มาก
3.อนุญาตให้จ้างงานรายชั่วโมง เพื่อป้องกันปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน โดยกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 325 บาทต่อวัน คิดเป็น ชั่วโมงละ 40-41 บาท ต่อการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง เพราะมีหลายกิจการที่ยอดขายลดลงมาก ทำให้ต้องลดเวลาในการทำงาน ซึ่งหากต้องจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวนตามอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำรายวัน จะไม่มีเงินมาจ่ายค่าจ้างจนทำให้ต้องเลิกจ้างแรงงานเหล่านี้
4.ลดอัตราเงินสมทบของนายจ้าง จาก 4% เหลือ 1% ให้เท่ากับผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 และ 5.บริษัทนำค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนค่าจ้างแรงงานมาใช้หักภาษีได้ 3 เท่าในช่วงระหว่างโควิด-19 ระบาด