‘หุ่นยนต์สู้โควิด-19’ ฮีโร่รายใหม่สงครามโรคระบาด
นานมาแล้วที่หุ่นยนต์ต้องตกเป็นจำเลยสังคมหาว่ามาแย่งงานมนุษย์ แต่ในสงครามต้านไวรัสโคโรนามนุษย์ต้องพึ่งพาหุ่นยนต์มากขึ้นทุกที ด้วยคุณสมบัติรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และต้านทานโรคติดต่อ
ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน จุดเริ่มต้นการระบาดของโรคโควิด-19 โรงพยาบาลสนามแห่งหนึ่งใช้หุ่นยนต์ 1 ทีม มาคอยดูแลคนป่วยสลับกับเจ้าหน้าที่ คอยเสิร์ฟอาหาร วัดอุณหภูมิ และสื่อสารข้อมูล
หุ่นยนต์ตัวหนึ่งชื่อ “คลาวด์ ฟิงเกอร์” มาจากบริษัทคลาวด์มายด์ส ที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในกรุงปักกิ่งและแคลิฟอร์เนีย
“หุ่นยนต์ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ร่วมพูดคุย เต้นรำสร้างความบันเทิง หรือแม้แต่นำผู้ป่วยออกกายบริหารแบบยืดเหยียดก็ทำได้ โรงพยาบาลสนามอัจฉริยะใช้งานหุ่นยนต์ทั้งหมด” คาร์ล จ้าว ประธานคลาวด์มายด์ส กล่าวถึงหุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ที่ใช้งานอยู่ในอู่ฮั่น
หุ่นยนต์ในโรงพยาบาลสนามเหล่านี้มีแพทย์ทีมเล็กๆ คอยควบคุมจากทางไกล ส่วนคนไข้ต้องสวมสายรัดข้อมูลบรรจุข้อมูลความดันเลือดและข้อมูลสำคัญอื่นๆ
คลินิกอัจฉริยะจัดการคนไข้เพียงไม่กี่วัน แต่คาดการณ์กันว่าในอนาคตจะนำหุ่นยนต์มาใช้ดูแลผู้ป่วยด้วยโรคติดต่อ โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคอยดูแลอยู่ห่างๆ เพื่อความปลอดภัย
ผู้ป่วยในโรงพยาบาลหลายแห่งในประเทศไทย อิสราเอล และที่อื่นๆ ปรึกษาแพทย์ผ่านหุ่นยนต์ บางตัวทำได้ถึงขนาดฟังปอดผู้ป่วยได้ด้วย
โรงพยาบาลอเล็กซานดราในสิงคโปร์เตรียมใช้หุ่นยนต์ “บีมโปร” คอยส่งยาและอาหารให้กับผู้ป่วยโควิด-19 หรือผู้ต้องสงสัยติดไวรัสในห้องแยกโรค โดยแพทย์และพยาบาลคอยควบคุมหุ่นยนต์จากคอมพิวเตอร์นอกห้อง และสามารถสนทนากับผู้ป่วยได้ผ่านหน้าจอและกล้อง
อเล็กซานเดอร์ ยิป ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมสุขภาพ เผยกับสำนักข่าวแชนเนลนิวส์เอเชียของสิงคโปร์ว่า หุ่นยนต์ช่วยลดจำนวนจุดสัมผัสกับคนไข้ที่ถูกแยกตัว จึงลดความเสี่ยงต่อบุคลากรทางการแพทย์
หุ่นยนต์ยังถูกส่งเข้าไปสแกนหาไวรัสได้ด้วย เช่น เรือสำราญไดมอนด์พรินเซส หลังจากอพยพผู้โดยสารติดเชื้อออกไปหมดแล้ว ทางการส่งหุ่นยนต์เข้าไปตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยนานหลายสัปดาห์
ไม่เพียงเท่านั้น โรงพยาบาลกำลังหันมาใช้หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียในห้องพัก ห้องประชุม และราวจับประตู อย่างไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย
เมลินดา ฮาร์ท ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อ บริษัทซีเน็กซ์ของสหรัฐ เผยว่า ความต้องการหุ่นยนต์ไลท์สไตรค์ของบริษัทเพื่อนำไปใช้ในห้องฆ่าเชื้อพุ่งสูงขึ้น หุ่นยนต์รุ่นนี้ถูกนำไปใช้งานในสถานพยาบาลกว่า 500 แห่ง จำนวนใช้งานเพิ่มขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา
“เราได้รับการสอบถามมาจากทั่วโลก นอกจากโรงพยาบาลแล้ว ศูนย์ดูแลสุขภาพฉุกเฉิน โรงแรม หน่วยงานราชการและบริษัทยาก็สอบถามกันมา ต้องการนำไปใช้ในห้องฆ่าเชื้อ” ฮาร์ทกล่าว
ขณะที่ซิริล คับบารา ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทชาร์กโรบอติกส์ในฝรั่งเศส เผยว่า เดือนก่อนบริษัทเริ่มทดสอบแผนกลดการปนเปื้อน ขณะนี้พร้อมรับคำสั่งซื้อแล้ว
เลสลีย์ รอห์เบอ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สมาคมเทคโนโลยีผู้บริโภคสหรัฐ เผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นเหตุให้นวัตกรรมหุ่นยนต์ต้องเร่งพัฒนา
“เราอยู่ในยุคที่ต้องการเทคโนโลยีแบบนี้ ดูๆ แล้วประโยชน์น่าจะมากกว่าต้นทุน” รอห์เบอกล่าวและว่า ยิ่งเพิ่มความสามารถให้กับหุ่นยนต์ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เซ็นเซอร์ หรืออื่นๆ ก็ยิ่งดันราคาให้แพงขึ้น และต้องเพิ่มการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่หุ่นยนต์จำเป็นต้องใช้ด้วย
นอกจากหุ่นยนต์แล้ว นวัตกรรมอื่นๆ ที่นำมาใช้ในช่วงโรคระบาด เช่น โดรนติดเซ็นเซอร์และกล้อง ใช้สแกนฝูงชนหาสัญญาณการติดเชื้อไวรัสโคโรนา
ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลียร่วมมือกับ “ดราแกนฟลาย” บริษัทผลิตโดรนแคนาดากำลังทำนวัตกรรมนี้
จาวัน ซิงห์ ชาห์ล อาจารย์มหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลียเผยว่า โดรนชนิดนี้ใช้การสังเกตมนุษย์เพื่อระบุโอกาสการมีอยู่ของไวรัส ซึ่งอาจใช้เป็นส่วนหนึ่งของระบบเตือนภัย หรือประเมินจำนวนผู้ติดเชื้อในกลุ่มประชากรได้อย่างเป็นระบบ โดยทีมงานของเขาทำงานกับอัลกอริธึมในคอมพิวเตอร์ ที่สามารถตรวจหาการไอ จาม การพูดในอาคารผู้โดยสารสนามบิน ตรวจวัดชีพจรและอุณหภูมิมนุษย์จากที่ไกลได้
แม้โควิด-19 จะสร้างความเสียหายแก่โลกอย่างมหาศาล แต่อีกนัยหนึ่งโรคร้ายก็เป็นตัวเร่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างประโยชน์แก่มนุษย์ไปพร้อมๆ กัน