AI คืออะไร จะทรงพลังแค่ไหนในปี 2020
AI (artificial intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาล วิเคราะห์ข้อมูล ที่นำไปสู่การพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา หลายคนคงคุ้นหูกับคำว่า "AI" ที่ว่ากันว่าเข้ามานำหน้าที่จับข้อมูล คัดกรอง ในการพิจารณาให้เงินเยียวยา 5,000 บาท ในโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นมากมาย
"กรุงเทพธุรกิจ" พาไปทำความรู้จักกันสิ่งที่เรียกว่า AI คืออะไรกันแน่ และนอกเหนือจากการโครงการไม่ทิ้งกันแล้ว AI มีบทบาทอะไรอีกบ้าง
- AI คืออะไร
AI (Artificial Intelligence) ปัญญาประดิษฐ์ เป็นเทคโนโลยีที่ถูกกล่าวถึงบ่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมา เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดดิจิทัลดิสรัปชัน เนื่องด้วยการทำงานที่เปรียบเสมือนมันสมองที่แทรกอยู่ในเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในอุตสาหกรรมต่างๆ เร็วกว่า และแม่นยำ
เอไอถูกนำไปประยุกต์ใช้ในทุกอุตสาหกรรม ตั้งแต่การควบคุมสายการผลิต วิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าจาก Big data การวิเคราะห์ข้อมูลการลงทุนอัตโนมัติ ไปจนถึงแอพพลิเคชันในสมาร์ทโฟนที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน ฯลฯ ที่เรามองไม่เห็น
ในประเทศไทยเอง มีการใช้งาน AI เพื่อเข้ามามีส่วนช่วยในการพัฒนาธุรกิจ หลายหลายรูปแบบ อาทิ ในธุรกิจกลุ่มธนาคารของไทย ต่างพัฒนา AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อมาให้บริการลูกค้าผ่านแอพพลิเคชัน ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อเสนอ 'สินเชื่อ' ถึงมือ(ถือ)ของลูกค้า และอนุมัติสินเชื่อให้ลูกค้าแทนเจ้าหน้าที่ได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ AI จะถูกพัฒนาไปมากและมีศักยภาพช่วยมนุษย์ทำงานได้หลายรูปแบบ แต่ยังคงไม่สามารถ "แทนที่" มนุษย์ได้ไปเสียทุกอย่างได้ในวันนี้ และ AI ที่อยู่ระหว่างพัฒนา หรือระบบยังไม่ดีพอก็ย่อมผิดพลาดได้เช่นกัน
- ความสามารถของ AI ในอนาคตอันใกล้
ทว่า หากมองไปในอนาคต AI จะเริ่มถูกพัฒนาให้ฉลาดมากขึ้น ทำงานได้หลากหลายมากขึ้น และมีความสามารถใกล้เคียงกับมนุษย์มากยิ่งขึ้น เช่น
- Machine Learning (ML) การป้อนข้อมูลเพื่อให้ระบบคอมพิวเตอร์ทำการเรียนรู้กับชุดข้อมูลเพื่อแสดงผลตามที่ต้องการ เช่น เฟซบุ๊คใช้รวบรวมข้อมูลภาพที่ไม่เหมาะสม และไม่ควรแสดงบนหน้าฟีดให้กับเอไอเพื่อวิเคราะห์และหยุดการแสดงภาพนั้นๆ ได้อย่างทันท่วงที เป็นต้น
- Natural Language Processing (NLP) การพัฒนาให้ปัญญาประดิษฐ์สามารถเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์เสียง สีหน้าท่าทาง ซึ่งการพัฒนานี้จะช่วยให้เอไอสามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้แม่นยำมากขึ้น เช่นการรับข้อมูลจากเสียง การแปลภาษาแบบเรียลไทม์ ฯลฯ
- Deep Learning (Neural Networks) ซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ที่เลียนแบบการทำงานของระบบโครงข่ายประสาท (neurons) ในสมองมนุษย์ ถูกสร้างขึ้นจากการนำเอา neural network หลายๆ ส่วนมาต่อกัน เป็นโครงสร้างที่ถูกจัดเก็บแบบเป็นกองซ้อน (stack) ทำให้มีโครงสร้างที่ลึก (deep) ยิ่งขึ้น ประมวลผลหลายสิ่งพร้อมๆ กันได้มากขึ้นนั่นเอง
- 10 งานที่ AI เริ่มทำแทนมนุษย์
ขณะเดียวกันการพัฒนาของปัญญาประดิษฐ์ที่หลากหลาย ย่อมมีผลกระทบบางอย่างเกิดขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของอาชีพ วิถีชีวิต และธุรกิจแบบเดิมๆ ได้ชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
- ผู้ช่วยส่วนบุคคล (Personal Assistance) ที่สามารถใช้เอไอเป็นเครื่องมือในการจัดการสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง
- การแพทย์ (Medical diagnosis/prescription) ในอนาคตการผ่าตัดสามารถทำได้จากทางไกล โดยใช้ระบบ อินเทอร์เน็ตแบบ 5G และการเชื่อมต่อเครื่องมือผ่านการควบคุมผ่าน IoT (Internet of Things) ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะมีส่วนช่วยลดปัญหาแพทย์ขาดแคลน หรือการรักษาที่เร่งด่วนได้
- การดำเนินการ (B2B processes/Interaction) ระบบการดำเนินการต่างๆ สามารถทำได้โดยปราศจากตัวกลาง ทำให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น และลดโอกาสในความผิดพลาดในกระบวนการดำเนินงาน
- คำนวณ (Arithmetic Analysis) นอกจากใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการคำนวณข้อมูลจำนวนมหาศาลได้ในเวลาอันนั้นแล้ว ในอนาคตยังสามารถคำนวณโต้ตอบกับมนุษย์ได้แบบเรียลไทม์ ช่วยร่นระยะเวลาในการคำนวณ
- จัดเอกสาร (Law paperwork preparation) เอไอสามารถเข้ามาช่วยจัดระเบียบเอกสารจำนวนมากได้แม่นยำมากขึ้น เช่น เอกสารทางกฎหมายที่ค่อนข้างมีรูปแบบที่ชัดเจน ก่อนพัฒนาไปถึงการจัดเอกสารรูปแบบอื่นๆ ในอนาคต
- การนัดหมาย (Professional Scheduling) เอไอช่วยจัดการการนัดหมายต่างๆ เช่น จำนวนพนักงาน อุปกรณ์ที่ต้องใช้ วันเวลาในการทำงานได้ในคราวเดียว ช่วยลดความซ้ำซ้อน และลดความผิดพลาดของการนัดหมายต่างๆ
- ภาคการผลิต (Manufacturing Industry) แน่นอนว่านวัตกรรมที่มีปัญญาประดิษฐ์มาเกี่ยวข้องมีส่วนช่วยให้ภาคการผลิตให้สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว ได้มาตรฐาน และมีต้นทุนต่ำลงมากกว่าการใช้แรงงานมนุษย์ ทำให้สามารถแข่งขันกับในฐานะผู้ผลิตกับต่างประเทศได้ดีกว่า ซึ่งหมายความว่าแรงงานไร้ฝีมือที่ทำหน้าที่นี้อาจโดนดิสรัปชันที่รุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย
- ลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Services Provision) เอไอสามารถเข้ามีส่วนช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้ ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ของลูกค้า เช่น พฤติกรรมการซื้อของ วันเวลาที่ซื้อ และคาดการณ์เสนอสินค้าและบริการให้ลูกค้าอย่างตรงจุด ทำให้เกิดประสบการณ์ร่วมและกลับมาใช้บริการซ้ำ หรือใช้บริการใหม่ๆ
- การขนส่ง (Transportation Industry) สามารถใช้นวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะเอไอเข้ามาช่วยในกระบวนการขนส่ง เช่น คำนวณค่าใช้จ่าย ค่าน้ำมัน จัดสรรพื้นที่ขนสินค้าในระบบโลจิสติกส์ ที่ทำให้การขนส่งมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- ประกันภัย (Insurance Industry) ปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบประกันภัยในอดีต โดยสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมผู้เอาประกัน และคาดคะเนถึงโอกาสที่จะได้ใช้ประกันภัย ซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อประกันเฉพาะส่วนที่จำเป็น ไม่ต้องเสียเบี้ยประกันสูงๆ อย่างที่เคยเป็นมา การพัฒนาในส่วนนี้ทำให้ผู้ขายประกันต้องพัฒนาตัวเองในทิศทางอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตัเวองให้มากขึ้นเพื่อหลบดิสรัปชันเหล่านี้
- การศึกษา (Education-personal) การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทำให้ระบบการศึกษาเดิมๆ ไม่ใช่คำตอบ ดังนั้นเมื่อการใช้เอไอ และเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ หรือ Upskill ให้กับนักเรียนหรือแม้แต่คนทั่วไป เช่น ฝึกทักษะช่างทั่วไป ให้มีความรู้ในการซ่อมโดรน (อากาศยานไร้คนขับ) หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่ๆ
การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว อาจนำไปสู่จุดพลิกผันทางธุรกิจได้หากไม่มีการปรับตัว หรือเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีประโยชน์มาใช้อย่างตรงจุด ไม่มีใครสามารถหยุดความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้ ทาง "รอด" ที่ดีที่สุด คือการทำความรู้จักเทคโนโลยีใหม่ๆ เรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลง ฝึกฝนทักษะทั้งทางวิชาการ และการใช้ชีวิตในแบบที่เอไอทำไม่ได้
ที่มาข้อมูล: สถาบันไอเอ็มซี (IMC Institute)