เงินเยียวยา กี่เดือน จำนวนเท่าไหร่ 'ข้อเสนอ-ข้อเรียกร้อง' ถึงจะไม่ทิ้งกัน?
งบประมาณจาก "ภาษีประชาชน" มีจำกัด ถึงจะออกกฎหมายกู้เงินเป็นล้านล้าน เพื่อเยียวยาจากกรณีโควิด-19 แต่เกิดคำถามเหมือนกันว่า เงินเยียวยากี่เดือน จำนวนเท่าไหร่ ขณะเดียวกัน มีข้อเสนอและข้อเรียกร้อง เพื่อเราจะไม่ทิ้งกัน น่าพินิจพิเคราะห์อยู่เหมือนกัน
ยามวิกฤติ ประชาชนตกงานและว่างงาน เพราะคำสั่งรัฐบาลไม่ว่าจะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเคอร์ฟิว สั่งปิดสถานบริการ สถานบันเทิง โรงเรียน มหาวิทยาลัย และล็อกดาวน์ของจังหวัดต่างๆ รวมถึงห้ามจัดงานกิจกรรม งานบุญ และห้ามขายเหล้าเครื่องแอลกอฮอร์ เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19 COVID-19
กลายเป็นประเด็นว่า ไม่มีงานทำแล้วจะมีเงินจากไหน มาจับจ่ายซื้อข้าวของในแต่ละวัน เป็นเรื่องเครียดอยู่เหมือนกัน กับการอยู่บ้านตามนโนบายรัฐบาล "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" แต่บางคนอาจพูดด้วยอารมณ์ว่า ไม่กลัวตายเพราะโควิด แต่กลัวอดตายก่อน เพราะไม่มีเงิน และออกไปทำงานไม่ได้
การแก้ปัญหาของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือดูแลประชาชนตกงานและว่างงานเพราะโควิด มีหลากหลายมาตรการแต่โครงการที่พูดถึงกันมากคือ "เราไม่ทิ้งกัน" การจ่ายเงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาท (ห้าพันบาท) ที่มีปัญหาเรื่องการคัดกรองที่มาลงทะเบียนกับเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com มากถึง 27 ล้านกว่าคน
ซึ่งมีการจ่ายเงินไปบางส่วนแล้ว ซึ่งคนที่ได้เงินเยียวยาแล้วก็ดีใจ แต่คนไม่ได้ทั้งที่อ้างว่าตนเองมีคุณสมบัติครบ จึงโวยวาย และร้องเรียน จนทำให้กระทรวงการคลังต้องให้อุทธรณ์สิทธิ์หรือเปิดให้ทบทวนสิทธิ์ แต่ก็ยังมีปัญหาตามมา จึงเกิด ข้อเรียกร้องและข้อเสนอ ตามมา
อ่านข่าวเพิ่มเติม :
'อยู่ระหว่างการตรวจสอบ' เช็คสถานะเจอแบบนี้ควรทำอย่างไรต่อ?
โจทย์ 5 พันบาท ครอบคลุมทั่วถึง
'ขอทบทวนสิทธิ์' เงินเยียวยา 5,000 บาท 'เราไม่ทิ้งกัน'
ข้อเรียกร้องจากฝ่ายค้าน
พรรคเพื่อไทย โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรค เปิดเผยว่าได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมากว่าถูกระบบคัดกรอง “ปฏิเสธสิทธิ์” ทำให้ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ทั้งที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐโดยตรง ซึ่ง ส.ส.เพื่อไทยทุกคนไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้พยายามสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้เดือดร้อนว่าจะต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับภาครัฐเพื่อให้ได้รับสิทธิ์อย่างไร แต่ดูเหมือนปัญหาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนที่เดือดร้อนจริงกลับถูกระบบปฏิเสธ ทั้งนี้จุดอ่อนน่าจะเกิดจากระบบคัดกรองที่ไม่สามารถยืนยันว่าผู้กรอกข้อมูลคนไหนเป็นผู้เดือดร้อนตัวจริง ซึ่งทราบว่ารัฐบาลจะเปิดโอกาสให้ผู้เดือดร้อนได้อุทธรณ์สิทธิ์ในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นเรื่องต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน เพราะจากการลงพื้นที่และฟังเสียง ส.ส.เพื่อไทยสะท้อนความเดือดร้อนของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทุกคนห่วงว่าการจ่ายเงินช่วยเหลือที่ล่าช้าเกือบเดือนนับแต่ประชาชนขาดรายได้ จะทำให้บางครอบครัวอยู่ไม่รอดถึงวันรับเงิน จึงอยากเร่งรัดรัฐบาลให้แก้ปัญหานี้เป็นอันดับแรก
“ส.ส.เพื่อไทยทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารัฐบาลต้องเร่งรัดการจ่ายเงิน 5,000 บาท ให้ถึงมือผู้เดือดร้อนโดยเร็วที่สุด เพราะส่วนใหญ่ตกงานขาดรายได้มาหลายสัปดาห์ เงินสะสมร่อยหรอ บางครอบครัวไม่เหลือเงินสดแล้วต้องไปกู้นอกระบบที่ดอกเบี้ยมหาโหด ผมเจอด้วยตัวเองหลายกรณี เช่น แม่ลูกสามที่เกือบใช้เงินก้อนสุดท้ายซื้อยาล้างห้องน้ำฆ่าตัวตายหมู่ ถ้าไม่เจอก่อน ป่านนี้จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ซึ่ง ส.ส.หลายคนก็เจอแบบเดียวกัน จึงอยากวิงวอนรัฐบาลอีกครั้งให้จ่ายเงินให้ครอบคลุมทุกกลุ่มโดยเร็ว ก่อนที่เหตุการณ์ต่างๆจะย่ำแย่ไปกว่านี้”
พรรคก้าวไกล โดย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรค นำคณะบุกทำเนียบรัฐบาล ยื่น 4 ข้อเรียกร้องรัฐบาล กรณีเงินเยียวยา 5,000 บาท
1. ขอให้รัฐบาลเปลี่ยนกรอบความคิด จากเดิม ที่รัฐบาลมีฐานคิดที่ว่าตนเป็นเจ้าของงบประมาณ ที่กำลังเจียดเงิน เพื่อบริจาคสงเคราะห์ให้กับประชาชน ให้เปลี่ยนมาเป็น รัฐบาลเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากประชาชน ให้มาทำหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณที่เป็นของประชาชน ในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
2. ขอให้รัฐบาลยกเลิกกระบวนการพิสูจน์ความทุกข์ยากของประชาชน ยกเลิกเกณฑ์อาชีพที่เดิมรัฐบาลปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับเงินโดยถ้วนหน้า และรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงนักเรียน นักศึกษาที่หาเลี้ยงตนเอง และจุนเจือครอบครัว หากช่วยเหลือเยียวยารายละ 5,000 บาท จำนวน 14.5 ล้านคน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ก็จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 217,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่อยู่ในวิสัยที่รัฐบาลสามารถจัดสรรได้
3. ขอให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือเยียวยาแรงงานในระบบประกันสังคมที่มีอยู่ประมาณ 12 ล้านคน ที่ ณ ปัจจุบัน กำลังประสบปัญหารายได้ลดลง อันเนื่องมาจากถูกลดเงินเดือน ถูกสั่งให้หยุดงานบางวัน และจ่ายค่าแรงเพียงบางส่วน หรือถูกลดชั่วโมงทำงานล่วงเวลา และเร่งช่วยเหลือเยียวยาแรงงงานนอกระบบในภาคเกษตร ที่มีอยู่ราวๆ 11.5 ล้านคน
4. รัฐบาลควรเตรียมมาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาเก็บตก กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่เข้าไม่ถึงระบบการลงทะเบียนแบบออนไลน์ ให้สามารถลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ได้ และจัดหาสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตอื่นๆ เช่น ศูนย์พักพิง ศูนย์กักกันโรค อาหาร น้ำดื่ม และของใช้จำเป็น เพื่อให้มั่นใจได้ว่า รัฐบาลจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัญญาเอาไว้
อ่านข่าวเพิ่มเติม :
'เพื่อไทย' จี้รัฐเร่งจ่ายเงินชดเชยครบกลุ่ม ขอตรึงราคาสินค้า
พรรคก้าวไกล ยื่น 4 ข้อเรียกร้องรัฐบาล กรณีเงินเยียวยา 5,000 บาท
ข้อเสนอ "กลุ่มอาจารย์เศรษฐศาสตร์-พรรคการเมือง"
คณาจารย์จาก คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ มีผู้ร่วมลงชื่อคือ
- กุศล เลี้ยวสกุล
- เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
- เฉลิมพงษ์ คงเจริญ
- ชล บุนนาค
- ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล
- ณพล สุขใส
- ดวงมณี เลาวกุล
- ธนสักก์ เจนมานะ
- นภนต์ ภุมมา
- พรเทพ เบญญาอภิกุล
- พลอย ธรรมาภิรานนท์
- พิชญ์ จงวัฒนากุล
- ภาวิน ศิริประภานุกูล
- วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร
- สัณห์สิรี โฆษินทร์เดชา
- อนันต์ ภาวสุทธิไพศิฐ
- อภิชาต สถิตนิรามัย
- อิสร์กุล อุณหเกตุ
มองว่ามีทั้งผู้เดือดร้อนที่เข้าไม่ถึงและผู้ที่ไม่เดือดร้อนแต่เข้าถึงมาตรการแจกเงิน 5,000 บาทของรัฐบาล ซึ่งชี้ว่าทั้งเกณฑ์และข้อมูลประกอบการคัดกรองของรัฐบาลนั้นยังมีความไม่สมบูรณ์อยู่มาก ทั้งนี้ยังไม่นับความล่าช้าที่เกิดขึ้น ในการได้รับเงินของที่ผู้เข้าเกณฑ์ทั้งหมด และต้นทุนของรัฐในการคัดกรอง พวกเราเห็นว่า ควรยกเลิกมาตรการ 5,000 บาท โดยหันมาใช้วิธีการที่ทั่วถึง เป็นธรรม และรวดเร็วกว่าคือ การจ่ายเงินช่วยเหลือประมาณ 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งมีค่ามากกว่าเส้นความยากจนของสังคมเราในปัจจุบันเล็กน้อย ในเวลา 3เดือนเป็นขั้นแรกให้กับประชากรทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
ยกเว้นบุคลากรของภาครัฐ-รัฐวิสาหกิจและผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ซึ่งมีกลไกดูแลอยู่แล้ว แม้ว่าจะต้องรีบปรับปรุงต่อไปก็ตาม (โดยผู้ที่คิดว่าตนได้รับผลกระทบน้อย อาจสามารถเลือกสละสิทธิ์ได้) ทั้งหมดนี้เพื่อให้มาตรการครอบคลุมคนทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร แรงงานนอกระบบ ตลอดจนถึงนักเรียนนักศึกษา ซึ่งจะแก้ปัญหาการแจกเงินของรัฐบาลที่ไม่สามารถคัดกรองผู้ที่เดือดร้อนได้ครบถ้วน โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 440,000 ล้านบาทสำหรับเวลา 3 เดือน
จัดให้มีการแจกจ่ายอาหารและปัจจัยเพื่อการดำรงชีพโดยตรงแก่กลุ่มคนเปราะบางทุกกลุ่ม ซึ่งบางส่วนอาจเข้าไม่ถึงมาตรการข้างต้น เช่น กลุ่มคนไร้สัญชาติ คนไร้บ้าน ฯลฯ รวมทั้งแรงงานต่างด้าวที่ตกงานและตกค้างในไทย พวกเราคาดว่า งบประมาณที่จำเป็นสำหรับการจัดถุงยังชีพให้แก่ประชากรเปราะบาง 2 ล้านคนเป็นระยะเวลา 3 เดือนในขั้นแรกจะคิดเป็นจำนวน 7,800 ล้านบาท
จากการคำนวณข้างต้นพบว่า ต้นทุนทางการคลังจากมาตรการทั้งสองจะอยู่ภายใต้วงเงินของ (ร่าง) พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี
ในขณะที่ผลกระทบของวิกฤตต่อแรงงานและผู้ประกอบการเห็นได้ชัดเจนในรูปของการตกงานและยอดขายลดลงมาก พวกเราเห็นว่าเจ้าของที่ดินและทุนต้องร่วมเข้ามาเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เพื่อช่วยเหลือและเพื่อความสมานฉันท์ทางสังคม
เราตระหนักดีว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการช่วยเหลือแล้วหลายประการ เช่นการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แต่พวกเราเห็นว่ายังไม่พอเพียง จึงขอเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้สถาบันการเงินยุติการคำนวณดอกเบี้ยในสินเชื่อคงค้างของบุคคลและนิติบุคคลขนาดเล็กในตลอดช่วงเวลาของวิกฤตครั้งนี้ ให้คิดดอกเบี้ยได้เฉพาะต่อสินเชื่อใหม่เท่านั้นและในอัตราผ่อนปรน รวมทั้งระงับการฟ้องคดีล้มละลายต่อทั้งบุคคลและนิติบุคคลขนาดเล็กในตลอดช่วงเวลาแห่งวิกฤต
พวกเราเห็นว่ามาตรการข้อ 1 คือ มาตรการพื้นฐานที่จะช่วยให้คนไทยทุกคนมีความสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่รอดในช่วงวิกฤตไปได้อย่างเท่าเทียมและมีศักดิ์ศรี ขณะที่มาตรการในข้อ 2 จะเป็นมาตรการเสริมที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กในประเทศสามารถที่จะรักษากิจการของตนไว้ได้ เพื่อเป็นรากฐานที่เข้มแข็งเพียงพอที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาในภายหลัง
พรรคกล้า เสนอเยียวยา 5,000 บาท ครบ 24 ล้านคน ยึดหลัก UBI รายได้พื้นฐานต้องครอบคลุม-ทั่วถึง-ครบถ้วน ทบทวนใหม่ทั้งระบบ เพิ่มสิทธิแก่ เกษตรกร-คนพิการ-คนสูงอายุ-แม่เด็กเกิดใหม่ รวมถึงคนในระบบประกันสังคมที่รายได้น้อย และ อาชีพอิสระที่ตกหล่นจากระบบคัดกรอง
อ่านข่าวเพิ่มเติม :
กลุ่มอาจารย์ 'เศรษฐศาสตร์ มธ.' ชงรัฐเลิกแจก 5,000 เป็นแจก 3,000 บาททุกคน
ข้อชี้แจงของรัฐบาล
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า รัฐบาลเป็นห่วงและให้ความสำคัญกับทุกอาชีพที่ได้รับผลกระทบ แต่เรามีแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบจำนวน 37 ล้านคน มีแรงงานอิสระ 9 ล้านคน แรงงงานในระบบประกันสังคม จำนวน11 ล้านคน และเกษตรกรอีก17 ล้านคนยังไม่นับรวม นิสิต นักศึกษาที่ได้รับกระทบดังกล่าวด้วย
"ผมเห็นใจและสงสาร ผมร้อนใจมากกว่าท่าน คณะกรรมการที่กำกับดูแลและติดตาม ได้บูรณาการข้อมูล ตรวจสอบการเยียวยา เพื่อให้ทั่วถึง แต่ต้องยอมรับความจริงว่าเงินที่รัฐบาลจะนำมาเยียวยานั้นมาจากงบกลางจำนวน 50,000 ล้านบาท เดิมจะเยียวยา 3 ล้านคน ซึ่งจะเยียวยาได้ 3 เดือน หรือ 15,000 บาทต่อคน แต่เมื่อจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซด์ เราไม่ทิ้งกัน.com มีจำนวนมากถึง 9 ล้านคน ทำให้รัฐบาลมีเงินเยียวยาได้เพียงเดือนเดียว เพื่อรองรับประชาชนที่เดือดร้อน 9 ล้านคน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ชี้แจงว่า รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอในการจ่ายเงินเยียวยาฯ แต่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อนำมาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น พร้อมเยียวยาทุกคนที่เข้าหลักเกณฑ์ สำหรับงบประมาณที่จะนำมาช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ในช่วงเดือนแรกนั้น นายกรัฐมนตรีให้ใช้เงินจากงบประมาณปี 63 ไปพลางก่อน ซึ่งเงินงบประมาณปี 63 ยังเตรียมไว้เพื่อนำไปใช้ตามแผนงานที่วางไว้ในส่วนอื่น ๆ อีกด้วย ส่วนการจ่ายในเดือนต่อไปนั้น จะใช้งบประมาณจากพระราชกำหนดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่มีขั้นตอนและรอประกาศใช้ ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงปลายเดือนเมษายน การใช้เงินนี้ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ ตามขั้นตอนของร่าง พ.ร.ก. เงินกู้ ก่อน ดังนั้นกว่าจะใช้เงินกู้ได้น่าจะประมาณ 1 เดือนหรือประมาณช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งจะได้นำเงินมาสานต่อช่วยเหลือเยียวยาทุกคนที่เข้าหลักเกณฑ์
ย้ำว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไม่มีงบประมาณแล้วหรือจะจ่ายให้ประชาชนเพียงเดือนเดียว แต่เป็นการชี้แจงข้อเท็จจริงถึงขั้นตอน กติกา ให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจน ยืนยันรัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอในการเยียวยาประชาชนครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ ซึ่งนายกรัฐมนตรีห่วงใยและต้องการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างครอบคลุมและจะทำอย่างเต็มที่
ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงเพิ่มเติมว่า รัฐบาลพร้อมเยียวยาโควิดต่อเนื่อง กรณีมีคำถามว่า รัฐบาลจะชดเชยเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เดือนละ 5,000 บาท เพียงเดือนเดียวหรือไม่นั้น ผมขอชี้แจงว่า รัฐบาลยังคงดำเนินมาตรการเยียวยาตามแผนเดิม พร้อมทั้งจะชดเชย ให้ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องได้รับความช่วยเหลืออีกด้วย
ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้งบประมาณปี 2563 ในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนตามมาตรการดังกล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว และจะช่วยเหลือต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เม็ดเงินจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่ง พ.ร.ก.ดังกล่าว เพิ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรีไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งรัฐบาลได้เร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ส่งเงินเยียวยาประชาชนไปแล้ว รวมกับอยู่ระหว่างการจ่ายจนถึงวันที่ 17 เม.ย.นี้ รวมทั้งสิ้น 3.2 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงินราว 16,000 ล้านบาท
"..ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่ารัฐบาล จะไม่มีการเยียวยาต่อเนื่อง ตามแผนมาตรการที่วางไว้ก่อนหน้านี้.." รมว.คลัง ระบุ
อ่านข่าวเพิ่มเติม :
สงครามโควิด 'ประยุทธ์-พท.-ก้าวไกล' สมรภูมิ 'เราไม่ทิ้งกัน' เดือด?