ไทยพบผู้ติดเชื้อ 'โควิด-19' เพิ่ม 15 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย
ศบค. แถลง ไทยพบผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" รายใหม่เพิ่ม 15 ราย รวมยอดสะสม 2,826 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมยอดเสียชีวิตอยู่ที่ 49 ราย รักษาหาย 244 ราย ผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านเเล้ว 2,325 ราย
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 63 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน ว่า ประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" รายใหม่เพิ่ม 15 ราย รวมยอดสะสม 2,826 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 58 ปี อาชีพแม่บ้าน มีโรคประจำวันเบาหวาน ไขมัน ความดันในเลือดสูง และภาวะอ้วน มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับลูกสาวซึ่งเป็นผู้ป่วยยืนยัน รวมยอดเสียชีวิตอยู่ที่ 49 ราย รักษาหาย 244 ราย ผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านเเล้ว 2,325 ราย หรือ 83.23% และมีผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาล 425 ราย
ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20-29 ปี จำนวน 689 ราย อายุมากที่สุด 97 ปี และน้อยที่สุด 1 เดือน อายุเฉลี่ย 39 ปี แบ่งตามภูมิภาค กรุงเทพฯ นนทบุรี 1,605 ราย ภาคเหนือ 95 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 108 ราย ภาคกลาง 360 ราย และภาคใต้ 591 ราย
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ วันที่ 21 เมษายน จำนวน 15 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 10 ราย ผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้า 5 ราย ได้แก่ คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 1 ราย ไปสถานที่ชุมนุม เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 1ราย อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด หรือทำงานใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ เป็นต้น 3 ราย
ทั้งนี้ ผู้ป่วยใหม่ที่เพิ่มขึ้นในวันนี้ 15 ราย ใน 6 จังหวัด เข้ารับการรักษาใน ชุมพร 4 ราย, สงขลา 4 ราย, กรุงเทพมหานคร 3 ราย, พระนครศรีอยุธยา 2 ราย, ปทุมธานี 1 ราย และ นครปฐม 1 ราย
กรุงเทพมหานคร มีผู้ป่วยที่รับรักษาสะสมมากที่สุด 1,451 ราย ตามด้วย ภูเก็ต 193 ราย, นนทบุรี 152 ราย, สมุทรปราการ 109 ราย, ยะลา 95 ราย, ชลบุรี 85 ราย, ปัตตานี 79 ราย, สงขลา 43 ราย, เชียงใหม่ 40 ราย และปทุมธานี 35) ราย โดยอยู่ระหว่างการสอบสวนอีก 65 ราย และมีผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระหว่าง state quarantine ในจังหวัดต่างๆ 71 ราย
โดยยังมี 9 จังหวัดที่ยังไม่มีรายงานการรับรักษาผู้ป่วย ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี และ อ่างทอง
และมีอีก 36 จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
14 จังหวัดที่มีผู้ป่วยในช่วง 7 วันที่ผ่านมา
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ได้มีการจัดทำแผนที่แสดงจังหวัดที่รับรักษาผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ พบว่า กลุ่มจังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยช่วง 7 วันที่ผ่านมา 14 จังหวัด จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยช่วง 7-14 วันที่ผ่านมา 18 จังหวัด จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยช่วง 14-28 วันที่ผ่านมา 29 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีรายงานในช่วง 28 วัน ที่ผ่านมา 7 จังหวัด และจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยมาก่อน 9 จังหวัด
โดยจังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยช่วง 7 วันที่ผ่านมา 14 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ภูเก็ต ชลบุรี ยะลา ปัตตานี สงขลา ปทุมธานี นครปฐม กระบี่ นราธิวาส ขอนแก่น ชุมพร และพระนครศรีอยุธยา ส่วนจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยมาก่อน 9 จังหวัด และบวก 1 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี อ่างทอง และสตูล
37 จังหวัดไม่มีผู้ป่วยในช่วง 14 วัน
สำหรับ จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยใหม่ในช่วง 14 วัน มี 36 จังหวัด และ(+1 จังหวัด)นับจากวันที่แถลงข่าว ได้แก่ เชียงราย เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ จันทบุรี ตาก นครนายก บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ระยอง ราชบุรี ลพบุรี ลำพูน ศรีสะเกษ สกลนคร สมุทรสงคราม สระแก้ว สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี อุบลราชธานี และนครราชสีมา ขณะที่ จังหวัดที่ยังไม่พบรายงานผู้ติดเชื้อ 9 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี และอ่างทอง
นิยามผู้สงสัยติดเชื้อโควิด ถ้าเข้าข่ายรีบไปตรวจ
โฆษกศบค. กล่าวต่อไปว่า จากกรณีที่ผู้สงสัยว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยลง เพราะว่ามีการตรวจผู้ติดเชื้อน้อยไปหรือไม่ ซึ่งถ้าตรวจมากๆ จะทำให้เจอเพิ่มขึ้น และมองว่ารีบตรวจรีบเจอเป็นเรื่องที่ดีนั้น จากการค้นประวัติในผู้ป่วย 542 ราย ถึงระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 เริ่มมีอาการจนถึงวันที่ได้เก็บตัวอย่างทางห้องปฏิบัติการ พบว่า ค่าเฉลี่ยของผู้ที่มีอาการจะไปตรวจในวันที่ 4 และมากที่สุดที่ไปตรวจ บางคนมีอาการและไปตรวจในวันที่ 28 ที่มีอาการก็มี ดังนั้น มีความสุ่มเสี่ยงจะไปกระจายแพร่ให้ผู้อื่น ตอนนี้การตรวจนั้น ง่ายขึ้น ซึ่งบุคคลที่สงสัยว่าตนเองติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่นั้น ได้มีการจัดทำนิยามผู้สงสัยติดเชื้อ ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค หากมีอาการอย่างใดอย่างไหนบวกกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือบวกกับปัจจัยเสี่ยง ดังต่อไปนี้ ขอให้ไปตรวจทันที สามารถไปตรวจได้ทันที คือ อาการและอาการแสดง
1.ประวัติมีไข้ อุณหภูมิกายตั้งแต่ 37.5 องศา 2.มีอาการไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก หรือผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ ต้องไปตรวจ รวมถึงอาจจะมีปัจจัยเสี่ยง การมีประวัติในช่วง 14 วัน ก่อนวันเริ่มป่วย อย่างใดอย่างหนึ่ง มีประวัติเดินทางไปยัง หรือมาจาก หรืออยู่อาศัยในพื้นที่เกิดโรคติดเชื้อ ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกันนักท่องเที่ยว สถานที่แออัด หรือติดต่อคนจำนวนมาก ไปในสถานที่ชุมนุม หรือสถานที่ที่มีการรวมกลุ่ม เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า หรือขนส่งสาธารณะ และสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 โดยขณะนี้ในการตรวจนั้นมีความพร้อมอย่างมาก มีพื้นที่ให้บริการตรวจกว่า 100 แห่ง มีการผลิตชุดตรวจได้ด้วยบริษัทของคนไทย ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)และทุกส่วน ร่วมมือกันทำเต็มที เพื่อดูแล หากใครสงสัยว่าตนเองติดเชื้อ ขอให้เข้ามาตรวจ
ประเทศเพื่อนบ้านมีผู้ติดเชื้อพุ่ง มีผลผ่อนมาตรการ
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวต่อไปว่าสำหรับสถานการณ์ทั่วโลก 208 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 2 เรือสำราญ มีผู้ติดเชื้อรวม 2,554,568 ราย อาการหนัก 57,239 ราย รักษาหาย 689,445ราย เสียชีวิต 177,402 ราย โดยอันดับที่ 1 ยังคงเป็นสหรัฐอเมริกาที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 817,952 ราย ตามด้วยสเปน 204,178 ราย อิตาลี 183,957 ราย ฝรั่งเศส 158,050 ราย และเยอรมนี 148,453 ราย ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 54
ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศกลุ่มเอเชียนั้น พบว่า ในหลายๆ ประเทศมีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก คือ สิงคโปร์ 1,111 ราย ญี่ปุ่น 338 ราย อินโดนีเซีย 375 ราย ฟิลิปปินส์ 140 ราย มาเลเซีย 57 ราย ขณะที่ไทย 15 ราย ดังนั้น ต่อให้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนน้อยลง แต่ในประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ก็ย่อมมีผลต่อการผ่อนคลายมาตรการของเรา เพราะการจะผ่อนคลายมาตรการได้นั้น ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างใกล้ชิด และการ์ดอย่าตก
เผยสถานที่แออัด เปิด-ปิดตามมาตรการของรัฐ
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ได้มีการวิเคราะห์สถานที่แออัด หรือสถานที่ชุมนุมที่ผู้ป่วยแจ้งว่าเคยเดินทางไปในช่วง 14 วัน ก่อนป่วย (จากผู้ป่วยที่มีข้อมูลไปสถานทีแออัดหรืสถานที่ชุมนุมจำนวน 84 คน) ซึ่งการวิเคราะห์สถานที่เหล่านี้จะมีประโยชน์ต่อมาตรการผ่อนปรน และมีผลต่อการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีว่าจะเปิดปิด หรือไม่อย่างไร พบว่า ในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สถานบันเทิง สนามมวย สถานที่มั่วสุมเพื่อเล่นการพนัน โรงภาพยนตร์ ซุปเปอร์มาร์เกต ฟิตเนส วัด ร้านเสริมสวย มหาวิทยาลัย ร้านอาหาร พื้นที่ท่องเที่ยว เช่น ซอยทองหล่อ ตลาด ห้างสรรพสินค้า การใช้ขนส่งสาธารณะ สถานที่ทำงาน สถานพยาบาล
ส่วนต่างจังหวัด ได้แก่ สถานบันเทิง สนามมวย สถานที่มั่วสุมเพื่อเล่นการพนัน ซุปเปอร์มาร์เกต ห้างสรรพสินค้า พื้นที่ท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต หาดใหญ่ สงขลา ชะอำ สถานที่ทำงาน สำนักงาน สถานพยาบาล ตลาด วัด มัสยิด
นอกจากนั้น ทางกรมสุขภาพจิต ได้มีการจัดทำแบบสำรวจความเครียดของบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไป โดยมีการสำรวจ 3 ครั้ง ดังนี้ ครั้งแรก วันที่ 12-18 มีนาคม ครั้งที่ 2 วันที่ 30 มีนาคม ถึง 5 เมษายน และครั้งที่ 3 วันที่ 13-19 เมษายน เป็นผู้หญิงเข้าร่วมการสำรวจมากกว่าผู้ชาย พบว่า บุคลากรทางการแพทย์ ส่วนใหญ่สามารถรับมือกับความเครียดได้ แต่มีประมาณ 5.2% ที่มีความเครียดมากขึ้น ขณะที่ประชาชนทั่วไป ประมาณ 80% ที่สามารถปรับตัวได้ และมีความเครียดน้อย ขณะที่ประชานประมาณ 6.1% มีความเครียดมาก ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เมื่อมีมาตรการของการใช้เคอร์ฟิว และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะทำให้ประชาชนเกิดความเครียดมากขึ้น ซึ่งตัวเลขเหล่านี้แม้จะเทียบกับประชาชนทั้งหมดถือว่าไม่สูงมาก แต่ต้องได้รับการดูแล ดังนั้น ขอให้ประชาชนที่มีความเครียดออกมาติดต่อยังสถานพยาบาลต่างๆ เพื่อได้รับการช่วยเหลือ