เปิดรายงานพยากรณ์ 'ไข้เลือดออก' ส่อระบาดซ้ำ COVID-19
ชวนดูรายงานพยากรณ์ "ไข้เลือดออก" ประจำปี 2563 ที่นักวิชาการคาดว่าอาจระบาดในไทยตีคู่มากับโควิด-19 ที่ยังระบาดไม่หยุด พร้อมเช็คอาการป่วยจาก "ไข้เลือดออก" ว่าแตกต่างจากอาการป่วยโควิดอย่างไรบ้าง?
ความระบาดของ "โควิด-19" ยังไม่ทันหาย ความระบาดของ "ไข้เลือดออก" ก็จ่อตามมาติดๆ ซะอย่างนั้น! เมื่อตอนนี้เกิดฝนตกชุกในหลายพื้นที่ของประเทศไทยซึ่งเป็นผลมาจากพายุฤดูร้อน พอฝนตกก็เกิดน้ำขัง พอมีน้ำขังก็เกิดปัญหา "ยุงลาย" และ "ไข้เลือดออก" ตามมา
มีรายงานพยากรณ์โรค "ไข้เลือดออก" ประจำปี 2563 จากกองโรคติดต่อนำโดยแมลง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 กรมควบคุมโรค คาดการณ์ว่าในปี 2563 ประเทศไทยจะมีการระบาดต่อเนื่องจากปี 2562 ที่พบผู้ป่วยจำนวนมากถึง 147,361 ราย ซึ่งใกล้เคียงกับการระบาดใหญ่ในปี 2558 โดยแนวโน้มจะสูงขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน และจํานวนผู้ป่วยสูงลอยไปจนถึงสิ้นปี โดยรายงานฉบับนี้เป็นผลการพยากรณ์ในช่วงเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา
แต่อย่างไรก็ตามจากการทดสอบโมเดลการพยากรณ์ พบค่าผลการพยากรณ์จะให้ความแม่นยําสูง ในช่วง 3 - 4 เดือนแรกเท่านั้น ไม่สามารถวัดผลที่แม่นยำในระยะยาวกว่านี้ได้ ดังนั้น จึงควรมีการพยากรณ์ใหม่ทุกๆ 3-4 เดือน ซึ่งกองโรคติดต่อนําโดยแมลงจะดําเนินการพยากรณ์ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกอีกครั้งในเดือนเมษายน เพื่อเฝ้าระวังโอกาสที่จะเกิดการระบาดก่อนเข้าสู่ฤดูฝน ทั้งนี้มีรายละเอียดเกี่ยวกับพื้นที่การระบาดของ "ไข้เลือดออก" และประชาชนกลุ่มเสี่ยง ที่ระบุในรายงาน ดังนี้
1. พื้นที่เสี่ยงสูงต่อ "ไข้เลือดออก" ระดับอําเภอ
สําหรับพื้นที่เสี่ยงสูงต่อการระบาดโรคไข้เลือดออกระดับอําเภอ มีจํานวน 224 อําเภอ ใน 60 จังหวัด โดยพบว่าอําเภอเสี่ยงสูงส่วนใหญ่เป็นอําเภอเมือง และอําเภอที่มีขนาดใหญ่และมีความเจริญเทียบเท่าอำเภอเมือง โดยเป็นที่ตั้งของสถานที่สําคัญต่างๆ เช่น สถานศึกษา ศูนย์ราชการ สถานที่ท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ
เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้มีประชากรเคลื่อนย้ายเข้ามาเป็นจํานวนมาก ประกอบกับจากการสํารวจลูกน้ํายุงลายทั้งในโปรแกรมทันระบาดและกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อกําจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย พบว่าในสถานที่ต่างๆ เหล่านี้ยังมีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ํายุงลายกระจายอยู่ทั่วไป ทําให้มีโอกาสที่ประชาชนที่เดินทางเข้ามาจะติดเชื้อไวรัสเดงกีและนําไปแพร่กระจายต่อยังพื้นที่อื่นได้
2. กลุ่มเสี่ยงต่อการป่วย "ไข้เลือดออก"
กลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยโรค "ไข้เลือดออก" ยังคงอยู่กลุ่มเด็กวัยเรียน อายุประมาณ 10-14 ปี แต่อย่างไรก็ตามในกลุ่ม อายุ 15 ปีขึ้นมีแนวโน้มของอัตราป่วยเพิ่มสูงขึ้น โดยภาคเหนือและภาคกลาง สัดส่วนผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม ผู้ใหญ่ (มากกว่า 18 ปีขึ้นไป) ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภารใต้สัดส่วนผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็ก (น้อยกว่า 18 ปี)
3. กลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตจาก "ไข้เลือดออก"
กลุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอยู่ในกลุ่มเด็กเล็ก (0-4 ปี) และวัยผู้ใหญ่ (อายุ 25 ปีขึ้นไป) โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) มีอัตราป่วยและเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 0.28 เนื่องจากผู้ใหญ่และผู้สูงอายุมักมีโรคประจําตัวเรื้อรัง ทําให้เมื่อป่วยเป็นไข้เลือดออกจะมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ตับวาย ไตวาย ที่รักษาได้ยาก นอกจากนี้ผู้ใหญ่ส่วนมากเมื่อป่วยมักซื้อยารับประทานเองหรือไปฉีดยาลดไข้ที่คลินิก ทําให้ไม่ได้ไปตรวจหาสาเหตุของไข้ที่โรงพยาบาลแต่เนิ่นๆ จึงได้รับการรักษาที่ล่าช้า
4. เชื้อก่อโรค "ไข้เลือดออก" คือเชื้อไวรัส!
การรายงานผลการตรวจหาชนิดเชื้อไวรัสเดงกีของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และกองโรคติดต่อนําโดยแมลง พบว่า ในปี 2560-2562 เชื้อไวรัสสายพันธุ์ DENV-1 และ DENV-2 เป็นเชื้อชนิดเด่นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับชนิดเชื้อไวรัสเดงกีในผู้ป่วยเสียชีวิต ซึ่ง DENV-2 เป็นชนิดเชื้อไวรัสเดงกีที่ทําให้เกิดอาการรุนแรง ดังนั้น ในปี 2563 จึงอาจจะเป็นอีกปีที่มีการระบาดต่อเนื่อง และมีผู้ป่วยอาการรุนแรงและเสียชีวิตสูงเหมือนกับปี 2562
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
5. อาการป่วย "ไข้เลือดออก" VS "โควิด-19"
มีรายงานจากวารสารแลนเซ็ต ที่จัดทำโดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมในสิงคโปร์ ระบุว่า การแยกความแตกต่างระหว่างโรค "ไข้เลือดออก" กับ "โควิด-19" เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากทั้งสองโรคมีลักษณะทางคลินิกและห้องทดลองปฏิบัติการคล้ายคลึงกัน และหากผลตรวจเลือดออกมาเป็นบวก แพทย์มักสรุปก่อนว่าเป็นไข้เลือดออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ที่ไข้เลือดออกระบาด
ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มดังกล่าวยังให้ความเห็นอีกว่า โรคที่เกิดจากไวรัสทุกอย่างมีความคล้ายกันมาก เช่น อาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ที่พบได้ทั้งผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ไข้ซิกา หรือไข้ชิคุนกุนยา อีกทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันว่า ไวรัสไข้เลือดออกและไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้อาการเบื้องต้นจะคล้ายกันแต่จะแยกแยะได้เมื่อมีการดำเนินโรค โดยแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจสั่งตรวจตามข้อมูลทางการแพทย์และข้อมูลอื่นๆ ของผู้ป่วย
ด้านนายแพทย์อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค อธิบายว่า แม้ว่าตอนนี้ประเทศไทยยังต้องต่อสู้และควบคุมการระบาดของโควิด-19 ให้ได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าในฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ ยังมีโรค "ไข้เลือดออก" และ "ไข้หวัดใหญ่" ที่สามารถพบผู้ป่วยได้มากเช่านกัน ซึ่งตอนนี้รายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ลดลง เพราะประชาชนร่วมกันสวมหน้ากาก ล้างมือ สำหรับโรคไข้เลือดออกก็ต้องช่วยกันป้องกัน สามารถทำได้โดยช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตัดวงจรการแพร่พันธุ์ในช่วงอยู่ที่บ้าน นอกจากนี้โรงพยาบาลแต่ละแห่งต้องตระหนักเรื่องการวินิจฉัยโรคทั้งโควิด-19 และโรคไข้เลือดออก เพราะผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการคล้ายกัน
สำหรับอาการของโรคโควิด-19 และโรคไข้เลือดออกมีอาการป่วยแตกต่างกัน ดังนี้
- อาการไข้จากโรค ไข้เลือดออก
- ผู้ป่วยมักจะมีไข้สูงอย่างเฉียบพลัน (ไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส) และไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน
- บางรายอาจมีอาการชักได้โดยเฉพาะในเด็ก ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีน้ำมูกหรือไอ แต่จะเบื่ออาหารและอาเจียน
- อาจพบมีผื่นแบบ erythema หรือ maculopapular ซึ่งมีลักษณะคล้ายผื่น rubella ได้
- พบว่ามีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน
- ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena)
- ส่วนใหญ่จะคลำพบตับโตได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว และอาจเกิดภาวะช็อกได้
- อาการไข้จากโรค โควิด-19
- แสดงอาการตั้งแต่ระดับความรุนแรงน้อย ไม่ว่าจะเป็นอาการคัดจมูก มีไข้ ปวดหัว
- ไข้สูงติดต่อกัน 48 ชั่วโมง และมีอาการหอบเหนื่อยร่วมด้วย
- หากป่วยในระดับความรุนแรงมาก จะมีอาการปอดบวม หายใจลำบาก และอาจถึงขั้นเสียชีวิต
- อาการที่พบบ่อยคือ มีไข้ (88%), ไอแห้งๆ (68%), หอบเหนื่อย (38%), หายใจลำบาก (18%), เจ็บคอ (14%)
--------------------
ที่มา: กองโรคติดต่อนำโดยแมลง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 กรมควบคุมโรค