เปิดวิธี ‘แจกอาหาร’ ให้ถูกระเบียบ กทม. สู้ภัยโควิด-19 ไปด้วยกัน
ส่องมาตรการของ กทม. ในการทำระบบจัดการสำหรับผู้มีจิตศรัทธาที่อยาก “แจกอาหาร” หรือนำสิ่งของมาบริจาคช่วยสู้วิกฤติ “โควิด-19” ไปด้วยกัน การช่วยเหลือกันและกันเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ต้องระวังการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ตั้งใจ
ไม่นานมานี้เกิดกระแสโด่งดังในโลกโซเชียลกรณีผู้มีจิตศรัทธามา “แจกอาหาร” และนำสิ่งของมาบริจาคช่วยคนไทยสู้วิกฤติ “โควิด-19” แต่ดันถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาระงับการแจกจ่ายโดยให้เหตุผลว่าผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินในข้อที่ระบุว่าห้ามมาอยู่รวมกันหนาแน่นในที่สาธารณะ เนื่องจากรวมตัวของประชาชนจำนวนมากที่มารับของแจกโดยที่ไม่มีระบบจัดการที่ดี ก็อาจเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในวงกว้างได้
จะดีกว่ามั้ย? ถ้ามีการจัดระบบระเบียบในการ “แจกอาหาร” หรือการบริจาคสิ่งของให้สามารถทำได้ง่าย ไปพร้อมๆ กับการควบคุมดูแล และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” โดยต้องใส่ใจเรื่อง Physical Distancing เป็นสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้ทาง กรุงเทพมหานคร ได้ออกมาชี้แจงและกำหนดระเบียบในการ “แจกอาหาร” ในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว ซึ่งผู้ที่ต้องการบริจาคอาหารและสิ่งของจำเป็นต่างๆ ก็ควรให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด้วย
- กทม. แนะนำวิธีที่ปลอดภัยในการ “แจกอาหาร”
กรุงเทพมหานครจึงได้กำหนดแนวทางการนำอาหารหรือสิ่งของมาแจกจ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อน 3 แนวทาง ได้แก่
1. การแจกตามครัวเรือน
ผู้มีจิตศรัทธาสามารถ “แจกอาหาร” ได้ในลักษณะของการเคาะประตูบ้านแจก เพื่อลดการรวมตัวกันของประชาชน
2. ส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ช่วยแจก
ผู้มีจิตศรัทธาสามารถนำอาหารหรือสิ่งของมาฝากหน่วยงานรัฐหรือเอกชน ให้นำไปบริจาคต่ออีกที โดยผู้บริจาคไม่ต้องเดินทางไปอยู่ในที่มีผู้คนรวมกันจำนวนมาก หน่วยงานจะจัดสรรสิ่งของบริจาคให้เหมาะสมและนำไปส่งมอบแก่ประชาชนในชุมชนโดยตรง
3. บริจาคด้วยตนเองผ่านจุดแจกที่ กทม. จัดไว้ให้
กรุงเทพมหานครได้จัดจุดแจกสิ่งของ เบื้องต้นกำหนดไว้จำนวน 71 จุด ในพื้นที่ 50 สำนักงานเขต และจัดช่วงเวลาในการแจกออกเป็น 3 รอบ คือ รอบเช้า เวลา 07.00 - 09.00 น. รอบกลางวัน 11.00 - 13.00 น. และรอบเย็น เวลา 16.00 - 18.00 น. โดยได้จัดทำระบบ BKK HELP สำหรับอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่มีความประสงค์จะแจกอาหารหรือสิ่งของด้วยตนเอง ซึ่งสามารถเข้าไปแจ้งความประสงค์ตามวันและเวลาที่ต้องการได้เลย ผ่านทางเว็บไซต์ bkkhelp.bangkok.go.th
- เปิดวิธีใช้ BKK HELP จัดระเบียบ “แจกอาหาร”
สำหรับระบบ BKK HELP ที่ทางทีมออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ของ กทม. จัดทำขึ้นมาช่วยอำนวยความสะดวกนั้น มีวิธีการเข้าใช้ระบบดังนี้
1. เข้าเว็บไซต์ BKK HELP พร้อมเลือกจุดแจก
เข้าไปที่เว็บไซต์ bkkhelp.bangkok.go.th และเลือกจุดแจกสิ่งของโดยจะมีให้เลือก 71 จุดตามที่กรุงเทพมหานครจัดไว้ โดยแต่ละจุดจะมีรายละเอียดว่ามีผู้แจ้งความประสงค์ไว้แล้วในช่วงเวลาใดบ้าง และมีหมายเลขโทรศัพท์ผู้ประสานงานของแต่ละจุดในพื้นที่ เพื่อให้สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง
2. ติดต่อเจ้าหน้าที่ที่ดูแลจุดแจกนั้นๆ
โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ปรากฏในระบบ ชี้แจงรายละเอียด และทำการนัดหมายล่วงหน้า จากนั้นรอรับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่
3. อัพเดทจุดบริจาคลงเว็บไซต์
เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลการนัดหมายจากผู้แจกแล้ว ก็จะเอาข้อมูลต่างๆ เช่น วันที่ เวลา สถานที่ตั้งจุดแจก มาใส่ในระบบ และอัพเดทข้อมูลเหล่านั้นแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการแจกได้เข้ามาเช็คข้อมูลในระบบได้ตลอดเวลา
4. ดีเดย์วันแจกสิ่งของ
พอถึงวันที่กำหนดก็สามารถนำสิ่งของหรืออาหารมาบริจาคแจกจ่ายตามวัน เวลา และสถานที่นั้นๆ ได้เลย โดยสำนักงานเขตในพื้นที่จะจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก อาทิ มีการตรวจวัดอุณหภูมิ มีบริการแอลกอฮอล์เจลสำหรับล้างมือ มีการจัดระเบียบเว้นระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing) โดยจัดพื้นที่นั่งรอ พื้นที่นั่งทาน และพื้นที่สำหรับทิ้งขยะ พร้อมแนะนำวิธีการแจกของอย่างถูกต้องปลอดภัยทั้งผู้แจกและผู้รับ
เข้ามาดูจุดแจกในเขตพื้นที่ต่างๆ ของ กทม. ได้ที่นี่ >> กทม.เปิดตัว 'BKK HELP' ช่วย 'ผู้บริจาค' สิ่งของ-อาหาร
- “แจกอาหาร” ก็ต้องป้องกัน “โควิด-19” ด้วย
นอกจากนี้ มีข้อควรระวังที่อยากแนะนำไปยังผู้มีจิตศรัทธาที่อยาก “แจกอาหาร” ช่วยเหลือพี่น้องคนไทยในยามยาก เพื่อให้อาหารนั้นสะอาด ปลอดภัย ไม่เสียง่าย และยังช่วยป้องกันการแพร่ระบาด “โควิด-19” ได้อีกทางหนึ่งด้วย ดังนี้
- อาหารที่จะนำมาแจกควรเป็นอาหารที่ปรุงสุกใหม่วันต่อวัน ไม่ค้างคืน
- อาหารที่จะนำมาแจกควรเป็นอาหารประเภททอดหรือผัดที่ค่อนข้างแห้ง ไม่มีน้ำแกง จะได้ไม่บูดเสียง่าย
- อาหารที่จะนำมาแจกควรปรุงอย่างสะอาดทุกขั้นตอน
- ผู้ปรุงอาหารต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ทั้งตอนทำและตอนบรรจุลงภาชนะสำหรับแจก ระวังไม่ให้ไอหรือจามขณะทำ
- ปรุงอาหารให้สุกดี ห้ามเป็นอาหารดิบหรือปรุงแบบสุกๆ ดิบๆ เด็ดขาด ควรงดแจกผักสดไปก่อน
- ระหว่างการลงพื้นที่ไป “แจกอาหาร” ผู้แจกก็ควรสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ และยืนห่างเว้นระยะตามหลัก Physical Distancing