'รักษ์แม่น้ำโขง' เส้นเลือดเศรษฐกิจ หล่อเลี้ยงภูมิภาค

'รักษ์แม่น้ำโขง' เส้นเลือดเศรษฐกิจ หล่อเลี้ยงภูมิภาค

ชวนอ่านบทความเกี่ยวกับ "แม่น้ำโขง" ในหลากมิติ ผ่านแว่นตา "ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี" เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย

สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี) ยืนยันว่า องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติได้ย้ายเข้าไปยังสามเหลี่ยมทองคำ  ซึ่งเพิ่มการผลิตและขนส่งยาเสพติดผิดกฎหมายจากพื้นที่อีกฟากฝั่งแม่น้ำโขงในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา รวมทั้งฟอกเงินที่ได้จากผลกำไรดังกล่าวผ่านธุรกิจบ่อนการพนันในภูมิภาค 

ยูเอ็นโอดีซี  ประเมินว่าการก่ออาชญากรรมข้ามชาติในลุ่มน้ำโขงมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี โดยเชื่อว่ากว่า 9,000 ล้านเดอลลาร์มาจากการค้ามนุษย์ จีนอ้างว่าเหตุผลหนึ่งของการลาดตระเวนลุ่มน้ำโขงนอกอาณาเขตของตนในลาวและเมียนมานั้น คือการปราบปรามขบวนการอาชญากรรม 

158779957874

แม้ว่าจีน ยังไม่สามารถยับยั้งการลักลอบนำสารเคมีตั้งต้นจากจีนไปยังเมียนมาได้ อันกระตุ้นให้เกิดการระบาดของเมทแอมเฟตามีนในเอเชีย ตลอดจนความรุนแรงและอาชญากรรมมากมายในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อาชญากรรมข้ามชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในพื้นที่นี้ทำให้ชุมชนท้องถิ่นกลัวว่าจะสูญเสียความมั่นคงนอกเหนือไปจากวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของตน

สหรัฐ กำลังช่วยไทยปกป้องพื้นที่ชายแดนและดำเนินการเพื่ออนาคตที่ปลอดภัยและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นสำหรับชาวไทย ตั้งแต่ปี 2506 สำนักงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐ (ดีอีเอ) ได้สนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลไทยเพื่อหยุดการลักลอบนำเข้าสารควบคุมในไทย สหรัฐ และตลาดโลก 

เมื่อต้นเดือนนี้ ดีอีเอ ให้ความช่วยเหลือในปฏิบัติการต่อต้าน 5 เครือข่ายยาเสพติดที่มีมูลค่าการฟอกเงินกว่า 3,000 ล้านบาท และในปี 2562 รัฐบาลสหรัฐ สนับสนุนหน่วยงานการบังคับใช้กฎหมายของไทยในการยึดเมทแอมเฟตามีนกว่า 9 ตัน และยาบ้ากว่า 43 ล้านเม็ด ในขณะที่สำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐ องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (ยูเสด) และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ร่วมต่อต้านการค้ามนุษย์และสัตว์ป่า ทั้งยังเสริมสร้างความมั่นคงให้กับชายแดนไทย 

เมื่อปีที่แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ไมค์ ปอมเปโอ ได้ประกาศมอบเงินสนับสนุนเพิ่มเติม 420 ล้านบาท เพื่อต่อต้านอาชญากรรมและการค้ามนุษย์ข้ามชาติในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง

158779960411

รัฐมนตรีปอมเปโอ ยังประกาศมอบทุนสนับสนุนประมาณ 60 ล้านบาทให้แก่โครงการข้อริเริ่มในการจัดการข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขง เพื่อสนับสนุนให้นักวิจัยในพื้นที่แถบลุ่มแม่น้ำโขงแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการไหลของน้ำ 

และเรายังมีโครงการ SERVIR-Mekong ซึ่งเป็นความริเริ่มระหว่างยูเสดและองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (นาซา) โดยโครงการดังกล่าวจะใช้ข้อมูลดาวเทียมที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ในการส่งเสริมให้รัฐบาลของประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างลดความเปราะบางต่อสถานการณ์ภัยแล้ง อุทกภัย และการแย่งชิงทรัพยากรน้ำซึ่งรุนแรงขึ้นเพราะเขื่อนต้นน้ำ 

เมื่อเดือนที่แล้ว คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอารซี) เปิดตัวระบบคลังข้อมูลเพื่อการเตือนภัยแล้งล่วงหน้า (Drought Early Warning portal) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เอ็มอาร์ซี และโครงการ SERVIR-Mekong ร่วมกันพัฒนาขึ้น เพื่อให้ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างนำไปใช้เป็นระบบการแจ้งเตือนล่วงหน้าสำหรับการพยากรณ์และติดตามภัยแล้งในภูมิภาค

โครงการต่างๆ ข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อริเริ่มอีกมากมายที่เรากำลังดำเนินการร่วมกับรัฐบาลไทยและประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เพื่อธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม ต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ และปกป้องทรัพยากรน้ำ โดยใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมการหารืออย่างโปร่งใส ตลอดจนหาวิธีแบ่งปันทรัพยากรน้ำอย่างเป็นธรรม

สหรัฐ เป็นมิตรที่ซื่อตรงกับไทยมาตลอด 200 ปีที่ผ่านมา และเราจะยังคงดำรงความสัมพันธ์นี้ต่อไปในอีก 200 ปี เนื่องในโอกาสที่แม่น้ำมิสซิสซิปปีปราศจากพิษภัยของสงครามโดยสิ้นเชิงในปี 2406 ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น กล่าวไว้ว่า “บิดาแห่งสายน้ำได้กลับคืนสู่ท้องทะเลโดยสงบอีกครั้งหนึ่ง” เราหวังว่า มารดาแห่งสายน้ำของไทยจะได้กลับคืนสู่ท้องทะเลโดยสงบอีกครั้งหนึ่งเช่นเดียวกัน โดยไม่ถูกกีดขวางด้วยสถานการณ์ปัญหาที่ต้นน้ำโขง