'วัคซีนโควิด-19' ไปถึงไหนแล้ว?
ท่าทกลางการแข่งขันในการพัฒนาวัคซีนเพื่อรักษาโรคโควิด-19 เพราะหากประเทศใดเป็นผู้ผลิตวัคซีนที่ใช้งานได้ดีก่อนคนอื่น ก็จะได้เป็นเจ้าของ “อาวุธ” สำคัญยิ่งในการสร้างอำนาจและบารมีทางการเมืองในประเทศและระหว่างประเทศ แต่วัคซีนใดบ้างจะเป็นตัวเก็งในครั้งนี้
ไม่ว่าสังคมใดมีความสามารถยอดเยี่ยมเพียงใดในการระแวดระวังป้องกันและรักษาพยาบาลโรคโควิด-19 จนเรียกได้ว่าควบคุมอยู่มือ แต่นั่นก็เป็นเพียงการชนะศึก (win battles) เท่านั้น ชัยชนะอย่างแท้จริงคือชนะสงคราม (win the war) นั้นยังไม่เกิด ถ้าจะเกิดก็ต้องมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพออกมา ข่าวดีล่าสุด ก็คือ ณ 15 เม.ย.2563 ทั้งโลกมีจำนวนวัคซีนที่อาสาปราบสงครามนี้อยู่ถึง 86 ตัว!
ข้อมูลส่วนใหญ่สำหรับเขียนวันนี้มาจากนิตยสาร The Economist ฉบับล่าสุด (18-2 April 2020) นิตยสารรายอาทิตย์ระดับโลกของอังกฤษที่ได้รับความเชื่อถืออย่างยิ่ง 176 ปี ครอบคลุมทุกเรื่องโดยเฉพาะเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ธุรกิจ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ พิมพ์อาทิตย์ละ 9 แสนฉบับ และยังมีอยู่ในรูป digital ให้กับสมาชิกอีก 1.6 ล้านราย
ขณะนี้วัคซีนทั้ง 86 ตัว อยู่ในขึ้นทดลองที่แตกต่างกัน กำลังแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะประเทศใดเป็นผู้ผลิตวัคซีนที่ใช้งานได้ดีก่อนคนอื่น โดยมีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันได้สูง ผลิตได้ง่ายเร็ว ถูก และปลอดภัย ก็จะได้เป็นเจ้าของ “อาวุธ” สำคัญยิ่งในการสร้างอำนาจและบารมีทางการเมืองในประเทศและระหว่างประเทศ สร้างอำนาจทางการทูตและเกิดอำนาจต่อรองที่สำคัญ และประการสำคัญที่สุดจะได้รับความชื่นชมจากทั่วโลกเป็นอย่างยิ่ง
ไวรัสที่ทำให้ชาวโลกลำบากมีชื่อว่า SARS-CoV-2 (อยู่ในตระกูล Corona และเป็นพี่น้องกับไวรัส SARS -CoV ที่ทำให้เกิดโรค SARS) ก่อให้เกิดโรค Covid-19 (มาจาก Coronavirus disease ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2019
ข่าวดีก็คือ วัคซีนตัวเก็งมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 6 ตัว และอาจได้มากกว่า 1 ตัวก่อนสิ้นเดือน ส.ค.ปีนี้
ข่าวดีก็คือ วัคซีนตัวเก็งมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 6 ตัว และอาจได้มากกว่า 1 ตัวก่อนสิ้นเดือน ส.ค.ปีนี้ ซึ่งจะยืนยันได้ว่าเป็น practical vaccine กล่าวคือมีลักษณะดังที่ได้กล่าวข้างต้น อย่างไรก็ดี ถึงมีข่าวดีแต่ก็มีข่าวร้าย Melinda Gatesแห่งGates Foundation ซึ่งทำงานการกุศล ด้านสาธารณสุขที่ได้เกี่ยวพันกับหลายวัคซีนในระดับโลก ระบุว่า กว่าจะพร้อมฉีดให้แก่ชาวโลกได้อย่างจริงจังนั้น อาจใช้เวลาถึง 18 เดือนนับจากปัจจุบัน
แม้จะบอกได้ว่า ตัวใดเป็น practical vaccine(s) แล้ว เหตุใดต้องใช้เวลาอีกกว่า 1 ปี จึงจะถึงมือชาวโลก เร่งให้เร็วกว่านี้ไม่ได้หรือ? วัคซีน “ตัวเก็ง” จะเป็นของชาติใด และมีวิธีการผลิตแบบใด?
หัวใจของทุกวัคซีนคือ antigens เพราะเป็นสิ่งที่ไปกระตุ้นร่างกายให้เกิด antibodies และการตอบสนองอื่นๆ ที่สร้างภูมิคุ้มกัน ในกรณีนี้ เมื่อ SARS-Cov-2 เจาะเข้าไปในร่างกายได้วัคซีนซึ่งได้ไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคนี้ไว้แล้ว (ผ่านกระบวนการทางชีววิทยา หลังจากฉีดวัคซีนก่อนหน้า) ก็จะปราบเชื้อไวรัสนี้ได้อยู่หมัด ตนเองไม่ป่วยและก็ไม่เป็นพาหะให้เชื้อโรคกระจายไปถึงคนที่ไม่ได้ฉีดด้วย ด้วยวิธีการนี้จึงจะสามารถเอา “ชนะสงคราม” ได้ ด้วยเส้นทางที่เคยต่อสู้โรคระบาดอื่นๆ มามากมายในอดีต
การสร้างวัคซีนแบบดั้งเดิมมี 3 วิธี คือ (1) ใช้บางสายพันธุ์ของตัวเชื้อหรือที่ใกล้เคียงซึ่งง่อยเปลี้ยเสียขาแล้วจนทำให้ป่วยไม่ได้เข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันโรคนี้เช่นวัคซีน โรคหัดคางทูมหัดเยอรมัน (2) ใช้เชื้อตัวนี้ที่หมดฤทธิ์แล้วเข้าไปสร้างภูมิคุ้มกันเช่นวัคซีนโปลิโอและวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่หลายสายพันธุ์ (3) ใช้antigenที่เกี่ยวพันกับโรคนี้เช่นเอาเลือดของคนที่เคยเป็นโรคนี้มาสกัดเป็นวัคซีนเช่นโรคตับอักเสบB
เมื่อได้วัคซีนตัว “เผด็จศึก” มาแล้วก็ต้องทดลองกับสัตว์ (เรียกว่าขั้น พรีคลีนิก) เช่น หนู ลิง ฯลฯ และเมื่อมั่นใจว่าจะใช้กับคนได้เช่นกันแล้ว ก็จะลงมือผลิตวัคซีนเพื่อผ่านไปทดลองกับมนุษย์ ซึ่งมี 3 ขั้นตอน กล่าวคือขั้นตอนที่หนึ่งเพื่อมั่นใจว่าปลอดภัย ขั้นตอนที่สองเพื่อมั่นใจว่ากระตุ้นภูมิต้านทานได้จริงและขั้นตอนสุดท้าย คือมีefficacyคือให้ผลในการป้องกันโรคได้จริง
การคิดค้นได้วัคซีนมาเป็นต้นแบบ (prototype) ก็ว่ายากแล้ว แต่การพิสูจน์ว่าได้ผลจริงนั้นยิ่งยากกว่า ต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับอนุญาต (มีองค์การต่างๆทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และ WHO อาจเป็นผู้ดูแล) วัคซีนป้องกันโรค Ebola ซึ่งร้ายแรงมากสุดขนาดเร่งกันเต็มที่แล้ว ทั้ง 3 ขั้นตอนก็ใช้เวลาถึง 10 เดือนก่อนจะไปถึงการผลิตอย่างเป็นกอบเป็นกำ
วัคซีนโควิดทั้ง 86 ตัว อยู่ในขั้นการทดลองที่แตกต่างกัน บ้างยังอยู่ในขั้นทดลองกับสัตว์ ขณะนี้มีอยู่ 3 ตัวที่ก้าวหน้าสุดจนถือได้ว่าเป็นตัวเก็ง วัคซีนต้นแบบที่มีความก้าวหน้าสำคัญสุดอยู่ในขั้นที่สองคือ ของ CanSino Biological and Beijing Institute of Biotechnology ซึ่งเป็นของจีน
ต้นแบบตัวที่ 2 ยังอยู่ในขั้นทดลองที่ 1 ก้าวหน้าใกล้เคียงกันจาก Moderna (อเมริกา) / Inovio Pharmaceuticals (อเมริกา) / และ Oxford University
ตัวแบบตัวที่ 3 มาจาก Sinovac Biotechnology ของจีน ซึ่งก้าวหน้าเร็วเพราะใช้การต่อยอดจากการผลิตวัคซีนป้องกัน SARS ซึ่งได้ไปไกลถึงขั้นที่หนึ่งแล้ว แต่สะดุดไป เพราะจู่ๆ SARS ก็หายไป ดังนั้นจึงอาศัยความรู้เดิมในการผลิตวัคซีนมาปราบญาติตัวใหม่ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 1 โดยใช้วิธีผลิตแบบดั้งเดิม
ในการแข่งขันผลิตวัคซีนต้นแบบก่อนที่จะนำไปทดลองนั้น ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมามีวิธีการผลิตผิดไปจากเดิมอย่างมาก โดยใช้วิศวพันธุกรรมศาสตร์ (Genetic Engineering) สำหรับวัคซีนโควิด-19 นั้นมี 3 วิธีใหญ่ๆ โดยอยู่บนการตัดบางส่วนของยีนส์ของ SARS-CoV-2 (เป็น RNA ไม่ใช่ DNA โดยมี strand อยู่เส้นเดียวการถอด genome ของเชื้อตัวนี้ก็ทำสำเร็จกันแต่แรกๆ แล้ว) ที่เกี่ยวกับการผลิต spike protein (spike คือ ลักษณะพิเศษเป็นแหลมคล้ายยอดมงกุฎที่ยื่นออกจากผิว) ที่ไม่ได้ทำให้ป่วยไข้ และเอาส่วนที่ตัดออกมานี้ไปทำเป็นวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน SARS-CoV-2
วิธีการแรก (recombinant vector vaccine) คือเอายีนส์ที่ตัดออกมานี้ไปใส่ในไวรัสอีกตัวที่ไม่เป็นอันตรายเพื่อให้มันผลิต spike protein เมื่อเป็นวัคซีนเข้าไปในร่างกาย เซลล์ก็จะติดเชื้อซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการติดเชื้อจาก SARS-CoV-2 เมื่อหลอกร่างกายแล้ว antibody ก็จะถูกผลิตออกมาร่วมสร้างระบบภูมิคุ้มกันแล้ว ก็จะคุ้นเคยกับการปราบครั้งนี้จนต่อมาหากรับเชื้อของจริงเข้าไประบบภูมิคุ้มกัน ก็จะออกมาปกป้องฆ่าฟันมันได้ทันที
วิธีที่ 2 (subunitvaccine) ใช้หลักการเดียวกันคือ เอายีนส์ที่ตัดออกมาแบ่งเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจนมี spike proteins ออกมาอย่างเป็นกอบเป็นกำ เมื่อเป็นวัคซีนเข้าไปในร่างกาย เศษ spike proteins จำนวนมาก ซึ่งเป็นก็อปปี้กันก็จะล่องลอยอยู่จนเป็นเป้าให้ร่างกายผลิต antibody ออกมาปราบ
วิธีที่ 3 ชื่อ nucleic-acid vaccine ใช้หลักการเหมือนกัน แต่สร้างก๊อบปี้จำนวนมหาศาลจากยีนส์ที่ตัดออกมา ซึ่งผลิต spike proteins เซลล์ในร่างกายซึ่งรับยีนส์นี้ไปก็ดูเหมือนติดเชื้อจากก๊อบปี้เหล่านี้ การกระตุ้น antibody ออกมาปราบก็จะเกิดขึ้น
ใน 86 วัคซีน มีการใช้วิธีการที่ 2 มากที่สุด CanSino ตัวเก็งสุดใช้วิธีที่หนึ่งส่วนบริษัทเยอรมัน CureVac ใช้วิธีที่ 3 (“RNA Printer") ซึ่งผลิตวัคซีนได้มากและรวดเร็ว วัคซีนเป็นจำนวนมากใช้ 3 วิธีสมัยใหม่ จึงสามารถผลิตวัคซีนต้นแบบออกมาได้เร็ว
โดยสรุปจีนดูจะเหมือนใกล้เส้นชัยที่สุด โดยมีวัคซีนหลายตัวภายใต้หลายวิธีการอีกหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส คานาดา เยอรมนี อังกฤษ อินเดีย อิสราเอล สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ กำลังทดลองอย่างแข่งกับเวลาไทยเองก็มีแผนการจะพัฒนาวัคซีนเอง และ/หรือร่วมทดลองกับหลายโครงการในปัจจุบัน
ปัญหาของโลกอยู่ตรงที่การผลิตอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ให้คนทั่วโลกประเทศที่เป็นผู้ชนะย่อมสามารถให้ใครก่อนหลังได้มากน้อยเพียงใด การเมืองระหว่างประเทศและการทูตจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ ใครเป็นมิตรดีกับใคร ผลประโยชน์อิงกันอย่างไร จะเป็นตัวตัดสินชะตากรรมของคนในประเทศนั้นๆ ในระยะเวลาสั้นก่อนที่จะเร่งผลิตกันครั้งใหญ่ในโลก