'อิปซอสส์ฯ' มองโลกหลังโควิด 7 เทรนด์ เขย่า! วิถีมนุษย์เงินเดือน
โลกหลังโควิด ดิสรัปชั่น หลากวิชาชีพมองปรากฏการณ์ New Normal เขย่าทุกภาคส่วน วิถีชีวิตผู้คน ทิศทางทางธุรกิจเปลี่ยน อิปซอสส์ เจาะ 7 เทรนด์ กระทบคนทำงาน
แม้ประเทศจีนจะพบการระบาดโรคโควิด-19 เป็นลำดับต้นๆ แต่การจัดการปัญหาแพร่ระบาดของโรคเกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว 2 เดือนเศษ สิ่งที่เกิดขึ้นในมิติด้านธุรกิจ การตลาดมีความน่าสนใจมาก
อิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการอาวุโสองค์กรลูกค้าสัมพันธ์ บริษัท อิปซอสส์ (ไทยแลนด์) จำกัด หยิบกรณีศึกษาการเกิดโรคโควิด-19 ระบาดในจีนและรัฐบาลควบคุมการแพร่ระบาดใน 2 เดือนเศษ ยิ่งกว่านั้นชาวจีนมีความ “เชื่อมั่น” อย่างมาก ว่าเศรษฐกิจหลังโควิดจะฟื้นตัวได้เร็วภายในครึ่งปีหลัง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆทั่วโลกที่ยัง “ขาดความเชื่อมั่น” ว่าเศรษฐกิจประเทศตนจะฟื้นตัวได้
ตัวอย่างสะท้อนความเชื่อมั่นของชาวจีน คือการเปิดร้านแอร์เมส กวางโจว เพียง 1 วัน สามารถโกยยอดขายได้ 2.7 ล้านดอลลาร์ ทว่า ในภาพรวมจากนี้ไป ผู้บริโภคให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพมากขึ้น ห่วงเรื่องงาน และรายได้
ระหว่างการฟื้นตัวของประเทศ ผู้บริโภคยังห่วงเรื่องงาน รายได้ และใส่ใจสุขภาพมากขึ้น การออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งลดลง เปลี่ยนแบรนด์สินค้าในใจ สถานการณ์เหล่านี้ นักการตลาดต้องทำความเข้าใจเพื่อรับมือให้พร้อมค้าขายในอนาคต
ทั้งนี้ การปรับตัวของแบรนด์สินค้าเพื่อทำตลาดช่วงโควิดมีมากมาย เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชวนผู้บริโภคปาร์ตี้อออนไลน์สร้างเอ็นเกจเมนต์ แบรนด์สินค้าความงามแตกแบรนนด์ใหม่ สู่สินค้าใหม่ทั้งเจล สบู่ล้างมือ หน้ากากอนามัย ฯ จนยอดขายดี สามารถนำไปต่อยอดในอนาคตได้ ส่วนการทำตลาดขายสินค้าไม่ได้ แต่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมได้ เช่น Galanz เมื่อเปิดรับโรงงาน ส่งเครื่องบินไปรับพนักงานจากทุกพื้นที่ทั่วประเทศมาทำงาน ฯ เพื่อไม่ทอดทิ้ง ดังนั้น หากแบรนด์ยังต้องการครองใจ(Top of Mind)ของกลุ่มเป้าหมาย ต้องไม่ละทิ้งสิ่งเหล่านี้
“โควิดสร้างผลกระทบรุนแรงกว่าโรคซาร์สที่เกิดปี2545 ตอนนั้นขนาดเศรษฐกิจจีนยังไม่ใหญ่มาก แต่คนจีนเชื่อมั่นว่าหลังวิกฤติ เศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวเร็ว”
ทว่า "7 เทรนด์" ที่น่าสนใจ คือโลกหลังโควิดดิสรัปชั่น ทุกภาคส่วนมองว่าจะเกิดสิ่งใหม่ปกติ(New Normal) และใหม่ไปเลย ได้แก่ 1.การย้อนกลับถิ่นของฐานผลิต เป็นจังหวะที่ประเทศต่างๆที่เคยยกทัพปักฐานผลิตในประเทศแรงงานต่ำ ทั้งจีน ภูมิภาคอาเซียน จากนี้จะเห็นการกลับไปปัดฝุ่นฐานผลิตในประเทศ นำเทคโนโลยีมาใช้ผลิต ทำให้ต้นทุนสินค้าไม่แตกต่างจากเดิมนัก ภาพจากนั้นทำให้การกีดกันการค้าจะเข้มข้นขึ้น ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI)เตรียมรับมือผลกระทบ
2.รูปแบบการทำงานเปลี่ยน “คนเก่ง” ทำงานได้ทั่วโลก ส่งผลให้ออฟฟิศจะไม่ใช่พื้นที่ทำงาน อาจเป็นพื้นที่รวมตัวกันเฉพาะกิจ ผลกระทบอีกทอดคืออาจไม่ต้องแข่งกันสร้างออฟฟิศ ดันราคาที่ดินให้สูงเหมือนที่ผ่านมา 3.การจ้างงานเปลี่ยน จากการจ้างมนุษย์เงินเดือนจากจ่ายเป็นเวลา สู่การอิงทักษะความสามารถแทน จ่ายเป็นรายชิ้นงานแทน เช่น นักข่าวที่เดิมได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือน อาจจะได้รับค่าจ้างตามจำนวนชิ้นข่าวที่เขียนได้แทน ตัวแปรดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านเงินเดือน และสวัสดิการของมนุษย์เงินเดือนในอนาคต แต่กลับกันคนเก่งอาจทำงานได้หลายที่ภายใต้การจ่ายเงินตามความสามารถ
4.ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทต่อการทำงานประจำวัน(Routine) ทั้งการผลิต การโต้ตอบกับลูกค้า ปัจจัยเหล่านี้กระทบคนทำงาน ผู้บริหารระดับกลางที่มีความรู้ความสามารถดั้งเดิม ล้าสมัย และนำไปสู่การเลิกจ้าง คนตกงานเพิ่มขึ้น 5.การลดลงของสถาบันการศึกษาในรูปแบบแคมปัสที่ผนึกกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อผลิตคนเก่งจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
6.องค์กรธุรกิจพลิกบทบาทการรับผิดชอบต่อสังคม ต้องมีส่วนช่วยลดช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมมากขึ้น จากเดิมเป็นภาระใหญ่ของรัฐบาล และธุรกิจที่เคยได้รับประโยชน์จากการช่วยเหลือของรัฐ ต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้มากขึ้น เช่น การบินไทย ที่รัฐเข้ามาอุ้มหลายระลอก จากนี้ การจ่ายเงินเดือน โครงสร้างผู้บริหาร การจ่ายภาษีต้องเปิดเผยข้อมูล โปร่งใส ตรวจสอบได้เพิ่มขึ้น
“ผู้บริโภค 77% มองว่าธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาสังคม ไม่ใช้ให้เป็นหน้าที่รัฐบาลฝ่ายเดียวอีกต่อไป เพราะหากช่องว่างรายได้ของคนมากขึ้น จะเพิ่มความขัดแย้งทางสังคมสูงขึ้น”
7.การรื้อระบบความปลอดภัยต่างๆทางสังคม โลกในอนาคตการเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอนมีสูงมาก เศรษฐกิจจะเป็นถูกขับเคลื่อนด้วยการทำงานแบบชั่วคราว อิสระ ฟรีแลนซ์ หรือรูปแบบ GIG Economy มากขึ้น ทำให้เวลานี้ความกังวลใจสูงสุดของคนทั่วโลก คือเรื่องงาน ความยากจน ไม่มีเงิน มากกว่าเรื่องสุขภาพ และจากเหตุการณ์โควิด-19 คนน่าสงสารสุด คือคนในระบบที่ไม่มีตัวช่วยอะไรเลย ดังนั้น อนาคตอาจเห็นรัฐเก็บเงินประกันสังคมเพิ่ม บริษัทที่จ้างงานฟรีแลนซ์ อาจต้องมีส่วนร่วมจ่ายเงินสมทบต่างๆ เพื่อพยุงคนเดือดร้อนยามวิกฤติ
“ถ้าในโลกตอนนี้คนกังวลเรื่องอะไรมากสุด คำตอบ 5 อันดับแรก ห่วงความยากจนในสังคม ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม ห่วงมากกว่าเรื่องสุขภาพด้วยซ้ำ เพราะเมื่อตายไปแล้ว ไม่ต้องมีอะไร แต่การมีชีวิตอยู่ต้องใช้เงิน ท่ามกลางความไม่แน่นอนในอนาคต”