เงิน 1.9 ล้านล้านบาท แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้หรือไม่?

เงิน 1.9 ล้านล้านบาท แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้หรือไม่?

เจาะลึกประเด็น พ.ร.ก. 3 ฉบับ เป็นเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้น จำเป็นสำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้หรือไม่ และจะมีผลต่อเศรษฐกิจมหาภาคอย่างไรบ้าง?

เมื่อไม่นานนี้ ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งผมได้พิจารณาข้อมูลและมีความคิดเห็นในหลายประเด็นดังนี้

1.จำเป็นต้องกู้หรือไม่

เนื่องจากงบประมาณเดิมไม่เพียงพอ งบปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้าน มีแผนใช้จ่ายหมดแล้ว งบกลางมีรายจ่ายที่ผูกพันไว้ใกล้ครบ 96,000 ล้านบาทแล้ว และแม้จะพยายามโอนงบประมาณจากทุกกระทรวงมารวมที่งบกลางก็จะได้น้อยมาก ดังนั้นผมคิดว่าในสถานการณ์นี้รัฐบาลจำเป็นต้องกู้

1.1) กู้เท่าไรจึงจะเหมาะสม

กรอบความยั่งยืนทางการคลังของไทย คือ หนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 60% ของจีดีพี ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ใช้มานานมาก สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทำให้เพดานควรจะต่ำกว่านั้น นักวิชาการบางท่านเห็นด้วยกับผมว่าหนี้สาธารณะไม่ควรจะเกิน 50% ของจีดีพี

เดือน ก.พ.2563 หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 41.44% ของจีดีพี เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 52.64% ของจีดีพี แม้ว่ายังต่ำกว่าเพดาน แต่ก็ถือว่าสูงมาก ผมคิดว่าเพียงพอแล้วเพื่อจะไม่กระทบสถานะการคลังในอนาคต

1.2) เงิน 1.9 ล้านล้านบาท มีผลต่อเศรษฐกิจมหภาคเพียงใด?

ผมได้ประมาณการโดยมีข้อสมมติ คือ

- ปี 2562 จีดีพี 16.88 ล้านล้านบาท

- ปี 2563 เศรษฐกิจจะขยายตัวติดลบ -5.3% (ธนาคารแห่งประเทศไทย, 25 มี.ค.)

- ตัวทวีคูณ (Multiplier) ในระบบเศรษฐกิจมีค่า 0.7 (Ramey and Zubairy, 2014)

จากข้อสมมตินี้เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวประมาณ 2.4%

2.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท ใช้จ่ายเหมาะสมหรือไม่?

1) ส่วนของการคลัง

ในเรื่อง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ผมมีความกังวล ดังนี้

- แผนไม่ชัดเจน จะทำให้แก้ปัญหาไม่ตรงเป้า

ทั้งมาตรการด้านสาธารณสุขและเยียวยาประชาชน 600,000 ล้านบาท และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท ที่ยังไม่มีรายละเอียด ทำให้เสี่ยงที่จะเป็นเบี้ยหัวแตกที่ไม่เกิดความคุ้มค่าสูงสุด

ข้อเสนอ: ต้องเรียกประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีแผนงาน เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ชัดเจน สร้างสรรค์บูรณาการแผนงานลงรายละเอียดในการปฏิบัติ เพื่อให้แน่ใจว่าแผนจะสำเร็จ

การขาดข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง จะทำให้ช่วยไม่ถูกคน

ที่ผ่านมาภาครัฐมักไม่รู้ว่าเป้าหมายของการช่วยเหลืออยู่ที่ไหน เช่น มาตรการแจกเงิน 5,000 บาท คนที่ควรได้ก็ไม่ได้ คนไม่ควรได้แต่กลับได้ เป็นต้น

ข้อเสนอ: ภาครัฐต้องพัฒนาฐานข้อมูล Big data และ AI เพื่อใช้ประโยชน์ในการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ และดำเนินนโยบายภาครัฐ

ความรีบเร่ง จะทำให้การดำเนินงานไม่โปร่งใส

ข้อเสนอ: ภาครัฐต้องใส่รายละเอียดทุกการใช้จ่าย มีใบเสร็จ ลงในอินเตอร์เน็ต เพื่อให้การดำเนินงานโปร่งใสและตรวจสอบได้จริง

การช่วยคนโดยการแจกเงิน จะทำให้คนเคยชิน และ ไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม

ข้อเสนอ: การใช้งบประมาณต้องพัฒนาสังคมและสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนในอนาคตด้วย

ก. ให้ประชาชนได้มีส่วนเสียสละ 3T (Time Talent Treasure) แลกกับการรับเงินช่วยเหลือ

ปัจจุบันน่าจะมีคนตกงาน 7 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 10 ล้านคน หากยังยืดเยื้อไปอีก 2-3 เดือน ดังนั้นภาครัฐอาจทำหน้าที่จ้างคนเหล่านี้เพื่อทำงานที่อดีตทำไม่ได้ เช่น

ทำให้เมืองสวยงาม โดยการปลูกต้นไม้แบ่งสีตามเขต ที่เกาะกลางถนน

ทำให้เมืองสะอาด โดยทำความสะอาดถนน คูคลอง จัดระเบียบที่ทิ้งขยะ

ทำให้เมืองปลอดโรค โดยให้คนช่วยทำความสะอาดตามแผนจากส่วนกลางและตามมาตรฐานที่กำหนดและ ให้บางส่วนเป็น “ตำรวจตรวจความปลอดภัยในเชื้อโรค” ดูว่าคนที่เกี่ยวข้องทำตามเช็คลิสต์หรือไม่

ข. ให้ประชาชนฝึกอบรมในหลักสูตรที่กำหนดไว้ เพื่อแลกกับการรับเงินช่วยเหลือ เพื่อประชาชนจะได้มีความรู้และทักษะใหม่ติดตัวระหว่างที่ตกงาน หรือทำงานที่บ้านในระยะนี้

2) ส่วนของการเงิน

2.1) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สถาบันการเงินกู้ช่วย SMEs ไม่เกิน 500,000 ล้านบาท มาตรการในส่วนนี้ ผมคิดว่าเหมาะสมแล้ว

2.2) ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน ไม่เกิน 400,000 ล้านบาท ผมมีความห่วงใยในเรื่องนี้ว่าอาจเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่มีประสิทธิสภาพ เนื่องจาก

ก. ธปท.ควรเป็นผู้กำกับดูแลการลงไปเป็นผู้ตัดสินใจซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน อาจเอื้อประโยชน์เอกชนบางรายได้แม้ไม่ตั้งใจ หรือ อาจตัดสินใจไม่รอบคอบ เนื่องจาก ขาดข้อมูลเชิงลึกหรือ ขาดเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญ เป็นต้น และถึงแม้จะพยายามให้รอบคอบ โดยการจำกัดวงเงินความเสียหายกำหนดเงื่อนไขตราสารหนี้ที่จะเข้าไปซื้อ และจัดตั้งคณะกรรมการ4 ชุดมาดูแล แต่ในภาคปฏิบัติคณะกรรมการต่างๆ มักมีงานหลายอย่าง มีเวลาจำกัด ต้องอาศัยข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ จึงมีช่องโหว่ที่อาจทำให้การตัดสินใจไม่รอบคอบ

ข. การที่รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือที่ชัดเจน ประกาศให้ทราบทั่วกันก็เพียงพอที่จะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนได้ โดย ธปท.ไม่จำเป็นต้องลงไปทำเอง

ค. แม้ว่า พ.ร.ก.จะให้อำนาจ ธปท.ระยะสั้น 5 ปีที่มีปัญหาโควิดเท่านั้น แต่ 5 ปี ถือว่านานพอที่จะทำให้เกิดความเสียหายได้

ง. ตลาดตราสารหนี้มีขนาดใหญ่ เงิน4 แสนล้านบาท ดูแลได้เพียงบางส่วน หากภาครัฐต้องเลือกดูแลก็ต้องเลือกบริษัทที่มีคุณภาพดี ซึ่งบริษัทเหล่านี้น่าจะมีแผนธุรกิจที่นำไปกู้จากธนาคารพาณิชย์ได้อยู่แล้ว

ในเรื่องนี้ผมเห็นด้วยในเชิงหลักการ แต่ในวิธีการ ผมขอเสนอว่า ภาครัฐอาจขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ของรัฐและเอกชนให้ช่วยรับผิดชอบโดยตรง ให้เป็นผู้ซื้อตราสารหนี้เองด้วยวิจารณญาณทางธุรกิจเนื่องจาก ธนาคารพาณิชย์มีผู้เชี่ยวชาญเป็นเจ้าของธุรกิจที่ต้องระวังความเสียหาย ขาดทุน ขณะที่ธปท.ควรทำหน้าที่เป็นเพียงสายป่านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมากเท่านั้น

ตอนนี้แม้ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ขาดสภาพคล่อง แต่อาจไม่มีแรงจูงใจ เนื่องจากกลัวขาดทุนในเชิงธุรกิจ การที่ ธปท.ช่วยรับผิดชอบทางการเงินให้บางส่วน จะเป็นการจูงใจที่ดีที่ช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ตัดสินใจง่ายขึ้น แทนที่เดิมจะต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงจากการดำเนินงานด้วยเงินของตัวเองทั้งหมด

ผมหวังว่าภาครัฐจะรอบคอบ ใช้จ่ายเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทอย่างดี มีประสิทธิสภาพ บรรเทาความยากลำบากของพี่น้องและทำให้ทุกคนในประเทศได้ประโยชน์อย่างแท้จริง เนื่องจากเงินก้อนนี้เป็นหนี้สาธารณะที่ทุกคนในชาติต้องร่วมกันรับภาระด้วยกันในอนาคตครับ