วิกฤติขยะพลาสติกเอเชีย หลังโควิดหยุดอุตฯรีไซเคิล

วิกฤติขยะพลาสติกเอเชีย หลังโควิดหยุดอุตฯรีไซเคิล

ขณะที่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอาจทำให้บรรดาผู้ประกอบการและผู้บริโภคมีความอ่อนไหวมากขึ้นในประเด็นด้านราคาและอาจทำให้มีการรีไซเคิลพลาสติกน้อยลง

ช่วงนี้ที่ไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดในประเทศต่างๆทั่วโลก และรัฐบาลของทุกประเทศต่างใช้มาตรการล็อกดาวน์ ที่รวมถึงคุมเข้มด้านการประกอบกิจกรรมทางธุรกิจ หรือเศรษฐกิจรูปแบบต่างๆ ทำให้อุตสาหกรรมรีไซเคิลในเอเชียพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะถูกสั่งปิดกิจการชั่วคราว ผลพวงที่ตามมาคือขยะพลาสติกปริมาณมากในประเทศต่างๆทั่วเอเชียที่ยังไม่ได้ถูกนำไปกำจัด

จริงๆ แล้วปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกเริ่มรุนแรงขึ้นถึงระดับวิกฤติตั้งแต่ เซอร์คิวเลท แคปิตัล ประกาศปิดกองทุนโอเชียน ฟันด์ เมื่อเดือนธ.ค.ปี 2562 โดยในแต่ละปีมีขยะพลาสติกถูกทิ้งลงมหาสมุทรในปริมาณ 8 ล้านตัน และ60%ของปริมาณนี้เป็นขยะพลาสติกจากเอเชีย และเมื่อแรงกดดันทางสังคมดำเนินมาถึงจุดสูงสุด บรรดาบริษัทที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของโลกทั่้งหลายก็ถูกกดดันให้ออกมาร่วมแก้ปัญหาระดับวิกฤตินี้

เซอร์คิวเลท ซึ่งมีฐานดำเนินงานอยู่ในสิงคโปร์ ระดมทุนได้ 106 ล้านดอลลาร์จากบริษัทต่างๆ รวมถึง เป็ปซี่โค  ดานอน และดาว เคมิคัลส์เพื่อลงทุนในธุรกิจประเภทต่างๆทั่วภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เสนอทางออกในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก ซึ่ง4เดือนต่อมา ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้กองทุนโอเชียน ฟันด์ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือบรรดาบริษัทรีไซเคิลรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแทน

“แผนธุรกิจ รวมทั้งการลงทุนของเรา อยู่บนพื้นฐานก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเมื่อเกิดการระบาดขึ้น ก็ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก และส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมรีไซเคิลในเอเชีย เนื่องจากเมื่อมีมาตรการล็อกดาวน์ ธุรกิจขนาดเล็กก็ต้องเลิกกิจการชั่วคราว ทำให้ไม่มีขยะพลาสติกส่งให้บริษัทรีไซเคิล ส่วนการที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลงก็อาจทำให้มีการผลิตพลาสติกราคาถูกในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ลดการแข่งขันของวัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ลง”โฆษกบริษัทเซอร์คิวเลท กล่าว 

 

ขณะที่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเองก็อาจทำให้บรรดาผู้ประกอบการและผู้บริโภคมีความอ่อนไหวมากขึ้นในประเด็นด้านราคาและอาจจะทำให้มีการรีไซเคิลพลาสติกน้อยลง

ที่กล่าวมาทั้งหมดคือขยะพลาสติกทั่วไปแต่หากเป็นขยะพลาสติกที่มาจากแวดวงการแพทย์ การเก็บและกำจัดก็ต้องมีวิธีที่ละเอียดอ่อนและแยกส่วนออกไป ไม่ใช่แบบเดียวกับขยะพลาสติกทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี)เคยเสนอแนะไว้ว่า หากมีการกำจัดขยะทางการแพทย์อย่างเหมาะสมก็จะช่วยรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ในระดับหนึ่ง 

รัฐบาลหลายประเทศให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดขยะทางการแพทย์ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก เนื่องจากขยะทางการแพทย์เป็นขยะที่อันตรายที่สุดในบรรดาขยะทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ได้มีการจัดการก่อนที่นำไปกำจัด และมีวัสดุจำนวนมากที่ไม่สามารถไปฝังกลบหรือกำจัดตามมาตรฐานเทศบาลที่นำไปป้อนโรงไฟฟ้า เนื่องจากต้องใช้อุณหภูมิที่สูงและใช้เวลานานในการทำลายเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนมากับวัสดุอุปกรณ์

158851894897

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เป็นแนวหน้าในการสกัดการระบาดของโรคโควิด-19 ควรได้รับการป้องกันจากการสัมผัสกับขยะหรือของเสียด้านการดูแลสุขภาพที่ติดเชื้อผ่านระบบกำจัดขยะทางการแพทย์ที่เหมาะสม แต่ในความเป็นจริงนั้น ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียหลายประเทศ ยังขาดระบบ เครื่องมือ อุปกรณ์ และกฎระเบียบที่เหมาะสมสำหรับการจัดการและกำจัดขยะทางการแพทย์และขยะอันตราย 

แต่มีสิ่งที่คาดไม่ถึงอย่างอื่นที่เป็นผลมาจากการระบาดของโรคโควิด-19คือ ไวรัสชนิดนี้ดึงดูดความสนใจของผู้คนทั่วโลกไปจากปัญหามลภาวะจากขยะพลาสติกได้อย่างสิ้นเชิง 

ปัญหาการบริหารจัดการขยะที่มีสาเหตุมาจากการระบาดของโรคโควิด-19ในอินเดีย เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด เนื่องจากในอินเดีย มีแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนประมาณ 2 ล้านคนคอยทำหน้าที่เก็บขยะและเก็บวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้

“เป็นระบบที่มีความสำคัญมาก แม้ว่าแรงงานกลุ่มนี้จะไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ แต่การทำงานภายในกลุ่มแรงงานเหล่านี้ทำงานกันอย่างเป็นระบบมาก”จิตรา มุกเคอร์จี หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาและนโยบายของชินตัน เอ็นจีโอที่สนับสนุนแรงงานมีรายได้ต่ำในอุตสาหกรรมบริหารจัดการขยะ มีฐานดำเนินงานอยู่ในกรุงนิว เดลี กล่าว พร้อมเสริมว่า มาตรการล็อกดาวน์ที่รัฐบาลประกาศใช้เมื่อเดือนมี.ค.ทำให้แรงงานจำนวนมากต้องหันไปพึ่งพารายได้จากการเก็บขยะขาย และการล็อกดาวน์ก็ทำให้การใช้ชีวิต ตลอดจนถึง ชีวิต ของแรงงานกลุ่มนี้แขวนอยู่บนเส้นด้าย

แต่ท่ามกลางวิกฤตยังมีโอกาส แม้ช่วงล็อกดาวน์ธุรกิจรีไซเคิลจะหยุดชะงักแต่การสนับสนุนทางการเมืองในธุรกิจรีไซเคิลในอินเดียยังคงแข็งแกร่ง  ล่าสุด รัฐบาลของแคว้นมหาราษฎร์ที่ถือเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ2ของอินเดีย 120 ล้านคน เพิ่งประกาศเป็นข้อกำหนดให้อุตสาหกรรมการผลิตในรัฐต้องใช้วัตถุดิบที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ในสัดส่วนอย่างน้อย 20%

ส่วนที่มุมไบ มีประกาศห้ามใช้พลาสติกอย่างเด็ดขาด  เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดปริมาณพลาสติกให้ได้ภายในปี 2565 ของนายกรัฐมนตรีเนเรนทรา  โมดี ของอินเดีย แม้ว่า

บรรดานักวิจารณ์จะมีความเห็นว่าข้อห้ามเหล่านี้ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร เพราะขาดการบังคับใช้อย่างจริงจัง

ในส่วนของทางการของรัฐมหาราษฏร์ สัญญาว่าจะบังคับใช้ข้อห้ามพลาสติกอย่างเคร่งครัด คนที่กระทำผิดครั้งเเรกจะถูกปรับเป็นเงิน 75 ดอลลาร์ หรือประมาณ 2,200 บาท และจะปรับเงินมากขึ้นหากทำผิดครั้งต่อไป และอาจถึงขั้นจำคุก