‘รีไฟแนนซ์บ้าน’ ทางเลือก ‘ลดหนี้’ ช่วงดอกเบี้ยขาลง

‘รีไฟแนนซ์บ้าน’ ทางเลือก ‘ลดหนี้’ ช่วงดอกเบี้ยขาลง

ทำความเข้าใจการ 'รีไฟแนนซ์' บ้าน ทางเลือกลดภาระหนี้ และโอกาสเพิ่มสภาพคล่องในช่วงดอกเบี้ยขาลง และขั้นตอนรีไฟแนนซ์บ้านที่ทำให้ภาระหนี้ลดลงในระยะยาว

หลังจาก คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศปรับดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 0.75% ต่อปี ในวันที่ 25 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ธนาคารต่างๆ ทยอยลดดอกเบี้ยเงินกู้ทั้ง MOR (Minimum Overdraft Rate: MOR) อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี และ MRR (Minimum Retail Rate: MRR) คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีลงตามแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง

แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงจะมีส่วนทำให้โอกาสได้รับดอกเบี้ยเงินฝากลดลงด้วย แต่ประโยชน์ของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงทำให้ผู้ที่เป็นลูกหนี้เงินกู้ต่างๆ ที่ต้องชำระดอกเบี้ย โดยเฉพาะ “หนี้บ้าน ที่ต้องผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยในระยะยาว ซึ่งนอกจากลูกหนี้ที่ต้องการกู้ซื้อบ้านในช่วงนี้จะได้อัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำแล้ว ลูกหนี้ที่กำลังผ่อนชำระหนี้บ้านก็มีโอกาสลดภาระหนี้ผ่านการ “รีไฟแนนซ์บ้าน ได้เช่นกัน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

  •  ตัวอย่างลักษณะการรีไฟแนนซ์บ้าน และประโยชน์ที่จะได้รับ 

158885138777

ที่มา: Refinn

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะ "รีไฟแนนซ์ (Refinance)" ไปทำความรู้จักทั้ง 2 ด้าน ทั้งข้อดี และข้อควรระวังของการรีไฟแนนซ์ เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการรีไฟแนนซ์มากที่สุด

  •  ข้อดีของการรีไฟแนนซ์บ้าน 

 - ได้ดอกเบี้ยที่ต่ำลง เพราะยิ่งกู้นาน ดอกเบี้ยยิ่งเพิ่ม

เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านช่วงปีแรกๆ หรือ 3 ปีแรก จะเป็นอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ จากนั้นดอกเบี้ยจะค่อยๆ ตามระยะเวลา และกลายเป็นอัตราลอยตัวซึ่ง อัตราดอกเบี้ยลอยตัว หมายถึงดอกเบี้ยจะขึ้นๆ ลงๆ ไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ณ เวลานั้นๆ การรีไฟแนนซ์ เสมือนการเริ่มต้นของสินเชื่อวงเงินใหม่ เป็นการเริ่มต้นการผ่อนชำระใหม่ ซึ่งจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำตามเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยในครั้งแรก ทำให้ภาระดอกเบี้ยในระยะยาวลดลง

- ได้เงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

การตัดสินใจรีไฟแนนซ์ต้องเริ่มต้นจากอัตราดอกเบี้ยใหม่ ที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำลังผ่อนชำระอยู่ เนื่องจากเป้าหมายของการรีไฟแนนซ์ คือการลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ในระยะยาว

- ได้เงินสดมาหมุนเวียน

ผลพลอยได้ของการรีไฟแนนซ์ คือการได้ “เงินสด มาหมุนเวียน ซึ่งเงินสดนี้จะเป็นวงเงินกู้ที่เพิ่มเติมมาจากวงเงินกู้ใหม่ ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อตกแต่งบ้าน หรือซ่อมแซมบ้านได้ โดยสามารถผ่อนชำระในวงเงินกู้เดียวกัน

  •  ข้อควรระวังของการรีไฟแนนซ์บ้าน 

- การรีไฟแนนซ์จะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามมา ก่อนทำจึงควรพิจารณาว่าค่าใช้จ่ายที่เสียไปจะคุ้มค่ากับจำนวนเงินที่จะประหยัดได้จากดอกเบี้ยที่ลดลงหรือไม่ โดยค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มมา ได้แก่
> ค่าประเมินราคา (อาจมีค่าใช้จ่าย หรือไม่มี ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นของแต่ละธนาคาร ณ เวลาที่จะรีไฟแนนซ์)
> ค่าจดจำนอง จ่ายให้กรมที่ดิน 1% ของวงเงินกู้
ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงิน (ไม่เกิน 10,000 บาท)
ประกันอัคคีภัย (โดยปกติต้องทำทุก 1-3 ปี ตามกฎหมาย)
ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ของธนาคาร

- การรีไฟแนนซ์ไม่ได้ทำให้ดอกเบี้ยหายไป แต่ช่วยให้อัตราดอกเบี้ยลดลงเพื่อช่วยลดภาระในระยะยาวได้
- หลังจากการรีไฟแนนซ์ จะต้องมีการผ่อนชำระตามปกติ ซึ่งจำเป็นต้องผ่อนชำระคืนให้ตรงตามเวลาไม่มีสิทธิประโยชน์ใดๆ เพิ่มขึ้นมา
- รีไฟแนนซ์บ้านทำได้ทุก 3 ปี แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องทำทุก 3 ปี ต้องดูจังหวะดอกเบี้ย และความเหมาะสมอื่นๆ ประกอบด้วย 

  •  เปรียบเทียบก่อนรีไฟแนนซ์ 

การเปรียบเทียบโปรโมชั่นรีไฟแนนซ์ของแต่ละธนาคารเป็นปัจจัยที่สำคัญ ที่ควรทำก่อนตัดสินใจ เพื่อเปรียบเทียบสินเชื่อรีไฟแนนซ์ที่เหมาะกับหนี้ของเรามากที่สุด

โดยปัจจุบันมีบริการเปรียบเทียบสินเชื่อ จากแพลตฟอร์มต่างๆ ให้เห็นข้อมูลที่หลากหลายมากที่สุด เช่น 

- บริการจัดอันดับสินเชื่อรีไฟแนนซ์จากเว็บไซต์ GO BEAR

158885143629

- บริการเปรียบเทียบสินเชื่อรีไฟแนนซ์ของเว็บไซต์ Refinn 

158885143643

ฯลฯ

อย่างไรก็ดี การรีไฟแนนซ์อาจไม่ใช่ตัวช่วยที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน ขึ้นอยู่กับลักษณะหนี้ ความสามารถในการผ่อนชำระ และปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจรีไฟแนนซ์จึงควรเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง: 'แบงก์' แข่งอัดโปรโมชั่น 'รีไฟแนนซ์' บ้าน