ไขข้อข้องใจ! 'ประกันสังคม' เงินอยู่ที่ไหน ทำอะไรไปแล้วบ้าง?
ส่องขุมทรัพย์กองทุน "ประกันสังคม" มีทรัพย์สินเท่าไหร่ ลงทุนในอะไรบ้าง พร้อมไขข้อข้องใจ "เงินเยียวยา" สำหรับผู้ว่างงาน และผู้ประกันตนในสถานการณ์ "โควิด-19" ตกลงมีเพียงพอไหม!?
"ประกันสังคม" กลายเป็นเป้าสายตาหลังจากที่สำนักงานประกันสังคมต้องมีการจ่ายเงินชดเชยสำหรับผู้ที่ว่างงาน ตกงาน หรือต้องหยุดงานในกรณีที่ได้รับผลกระทบจากเหตุสุดวิสัย จากสถานการณ์ "โควิด-19"
ประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือการดำเนินงานที่ล่าช้า มีผู้ประกันตนยังไม่ได้รับเงินชดเชยตามกำหนดเวลา มีการตกหล่น จนมีหลายคนที่ตั้งข้อสังเกตว่า "หรือแท้ที่จริงแล้ว ประกันสังคมไม่มีเงินจ่ายกันแน่ ?"
"กรุงเทพธุรกิจ" พาไปส่องสินทรัพย์ของ "กองทุนประกันสังคม" ว่าปัจจุบันยังมีเงินเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหน ที่ผ่านมานำเงินสมทบของสมาชิกไปลงทุนอะไรบ้าง พร้อมอัพเดทความคืบหน้าของการนำเงินเหล่านี้มาชดเชยให้ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบ
- ประกันสังคมลงทุนในอะไรบ้าง
ข้อมูล "เงินลงทุนกองทุนประกันสังคม" ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีทั้งสิ้น 2,032,841 ล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้มีการนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง
82% ของเงินกองทุน นำไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน หุ้นกู้บริษัทเอกชนที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และหน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ เป็นจำนวน 1,671,176 ล้านบาท
อีก 18% ของเงินกองทุนที่เหลือ มีการลงทุนในหลักทรัพย์ อาทิ หุ้นสามัญ หน่วยลงทุนในหุ้นต่างประเทศ หน่วยลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน ทองคำ จำนวน 361,665 ล้านบาท
ซึ่งการบริหารการลงทุนเหล่านี้ เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคมที่กำหนดให้ต้องมีสัดส่วนหลักทรัพย์มั่นคงอย่างน้อย 60% ซึ่งการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจะมีปริมาณที่สูงกว่าหลักทรัพย์ประเภทอื่น
- ประกันสังคม ถือหุ้นอะไรอยู่บ้าง
มูลค่าหลักทรัพย์สูงสุดที่ประกันสังคมถือหุ้น 10 อันดับแรก ได้แก่
- บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) 2.80% คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ที่ถือ 15,707 ล้านบาท
- บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) 4.07% คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ที่ถือ 13,000 ล้านบาท
- บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) 1.15% คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ 8,885 ล้านบาท
- บมจ.ซีพีออลล์ (CPALL) 1.39% คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ 8,006 ล้านบาท
- บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) 3.51% คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ 7,639 ล้านบาท
- บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) 3.15% คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ 6,666 ล้านบาท
- บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) 2.14% คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ 4,351 ล้านบาท
- บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) 14.84% คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ 3,702 ล้านบาท
- กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) 2.34% เป็นมูลค่าหลักทรัพย์ 3,653 ล้านบาท
- บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO ) 2.38% คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ 2,944 ล้านบาท
- ประกันสังคม ซื้อ-ขาย หุ้นอะไรในปี 2563
โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-17 เม.ย. 63 ประกันสังคมมีการลงทุนซื้อ-ขายหุ้น 5 ตัวแรก ซึ่งปรากฏอยู่ในแบบรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246-2) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่ากองทุนประกันสังคมได้เข้าซื้อและขายหุ้นตั้งแต่ต้นปี 2563 (ข้อมูล 1 ม.ค.-17 เม.ย. 63) โดยหุ้น 3 อันดับแรก ดังนี้
1. บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH )
เข้าซื้อ 8,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.0669% จำนวนหุ้นภายหลังได้มาอยู่ที่ 601,493,300 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 5.0335%
2. บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU)
เข้าซื้อ 1,200,000 หุ้น คิดเป็น 0.0251% จำนวนหุ้นภายหลังได้มาอยู่ที่ 239,266,808 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 5.0141%
3. บมจ. แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN)
เข้าซื้อ 1,283,000 หุ้น คิดเป็น 0.0882%จำนวนหุ้นภายหลังได้มาอยู่ที่ 73,263,100 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 5.0380%
- รายได้ของกองทุนประกันสังคมจากการลงทุน
ทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสํานักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผย ผลการดําเนินงานการบริหารการลงทุนประกันสังคม กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ในเดือนมกราคม 2563 ว่าสถานะเงินลงทุนของกองทุนประกันสังคม ณ 31 มกราคม 2563 ว่า สํานักงานประกันสังคมสามารถสร้างผลตอบแทน การลงทุน กองทุนประกันสังคม เดือนมกราคม 2563 เพิ่มสูงขึ้น 3,374 ล้านบาท สําหรับสถานะเงินลงทุนของกองทุนเงินทดแทน ณ 31 มกราคม 2563 มีเงินลงทุนรวมจํานวน 65,634 ล้านบาท
- เงินกองทุนประกันสังคม ใช้อะไรไปแล้วบ้าง
สำนักงานประกันสังคมเริ่มทยอยจ่ายเงินเยียวยากรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย อันเกิดจากโรคระบาดติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563 ให้ผู้ประกันตนกลุ่มแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 20 เมษายน 2563
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 'ประกันสังคม' จ่าย 'เงินเยียวยา' ล็อตแรกวันนี้ จ่ายใครบ้าง เช็คเลย!
โดยมอบประโยชน์ทดแทนกับลูกจ้างผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ แรงงานที่มีนายจ้าง หลังจากได้ลงนามในกฎกระทรวงและประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ซึ่งมีจำนวนผู้ที่ได้รับเงินล็อตแรกราว 8 พันราย
ทั้งนี้ ทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสํานักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ยังเปิดเผยว่าสำนักงานประกันสังคมมีความพร้อมในการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนทุกคนนั้น ปัจจุบันเงินกองทุนประกันสังคมในส่วนของกรณีว่างงานมีอยู่จำนวน 1.6 แสนล้านบาท และพร้อมจ่ายเงินให้ผู้ประกันตนได้ทันที ที่ตรวจสอบสิทธิเรียบร้อย
นอกจากนี้ โฆษกสำนักงานประกันสังคมยืนยันกว่า "ประกันสังคมมีเงินจ่ายให้ผู้ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน 1.2 ล้านคน แน่นอน พร้อมย้ำว่าเงินลงทุนกว่า 2 ล้านล้านบาท ยังอยู่ครบถ้วน ไม่ได้หายไปไหน"
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ส่งเงินชดเชยให้ผู้ประกันตนล่าช้า เป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไปว่าเกิดความผิดพลาดในกระบวนการใดอีกบ้าง และสำนักงานประกันสังคมจะบริหารจัดการเงินที่มีอยู่เพื่อช่วยเหลือสมาชิกให้ทันท่วงที และเหมาะสมได้อย่างไรต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: ‘ประกันสังคม’ แจงเงินกองทุนยังอยู่ครบ พร้อมจ่ายสิทธิ 'ว่างงาน'