เคลียร์ชัด 'www.เยียวยาเกษตรกร.com' เฉพาะเกษตรกรที่ไม่มีบัญชีกับ ธกส.
“อลงกรณ์” เคลียร์ชัดประเด็น www.เยียวยาเกษตรกร.com เฉพาะเกษตรกรที่ไม่มีบัญชีกับ ธกส.
วันนี้ (8 พ.ค. 63) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าว ณ ห้องประชุม 112 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า จากกรณีที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เปิดเว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com โดยเปิดให้เกษตรกรลงทะเบียนเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 เวลา 20.00 น.ในโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 นั้น มีเกษตรกรจากหลายจังหวัดสอบถามมาด้วยความข้องใจว่าต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับ ธกส.ด้วยหรือไม่ จึงขอชี้แจงว่าเว็บ “เยียวยาเกษตรกร” ของ ธกส.ให้เกษตรกรลงทะเบียนว่าจะให้โอนเงินไปเข้าบัญชีธนาคารอะไรในกรณีที่ไม่มีบัญชีธนาคารกับ ธกส.
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนซึ่งจะได้รับรายละ 15,000 บาท จ่าย 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563 วงเงิน 150,000 ล้านบาท จำนวนไม่เกิน 10 ล้านราย ประกอบด้วย
1) เกษตรกรเป้าหมายกลุ่มแรก (ข้อมูลสรุป ณ 30 เม.ย. 63) จำนวนไม่เกิน 8.33 ล้านราย จ่ายเงินผ่าน ธ.ก.ส.
และ 2) เกษตรกรเป้าหมายกลุ่มที่สอง ได้แก่ เกษตรกรที่อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน ซึ่งจะหมดเขต วันที่ 15 พ.ค. 63 จำนวนไม่เกิน 1.67 ล้านราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
10 ข้อต้องรู้ ลงทะเบียน ‘เกษตรกร’ รับ ‘เงินเยียวยา’ 15,000 บาท
‘www.เยียวยาเกษตรกร.com’ เปิดให้ ‘เกษตรกร’ ที่ไม่มีบัญชี ธ.ก.ส. ลงทะเบียนรับเงินได้แล้ว
ส่งข้อมูล ‘เกษตรกร’ เข้าคลังล็อตแรก 8.3 ล้านราย เริ่มจ่าย ‘เงินเยียวยา’ 5,000 บาท 15 พ.ค.นี้
นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้มีความห่วงใยและกำชับให้ดูแลพี่น้องเกษตรกร เพราะนอกเหนือจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว พี่น้องเกษตรกรยังประสบปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย กระทรวงเกษตรฯ จึงมีมาตรการต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรนอกเหนือจากมาตรการเยียวยาในช่วงโควิด-19 เช่น ในส่วนของกรมประมง จะมีการแจกจ่ายปลานิลแปลงเพศ ประมาณ 44,000 ราย รายละ 800 ตัว พร้อมอาหารปลาจำนวน 120 กิโลกรัม ซึ่งถือเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งให้กับเกษตรกร
นอกจากนี้ ยังมีการปล่อยกุ้งก้ามกร้าม ตามแหล่งน้ำสาธารณะ 1,436 แห่ง 129 อำเภอ แห่งละ 200,000 ตัว และให้มีการตั้งคณะกรรมการมาดูแลแหล่งน้ำชุมชน เพื่อให้เป็นระบบในการบริหารจัดการแหล่งน้ำร่วมกัน โดยวัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการให้เกษตรกรและคนในชุมชนมีอาหารไว้บริโภคในครัวเรือน และเมื่อเหลือแล้วถึงเอาไปขาย โดยดำเนินการในลักษณะของชุมชน นอกจากนี้ ในส่วนของกรมปศุสัตว์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในการมอบเป็ดไข่ ไก่ไข่ ไก่เนื้อ ประมาณ 77,000 ครอบครัว เพื่อให้เกิดรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
“ในกรณีของชาวไร่ มีการสนับสนุนงบประมาณในการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ถั่วเขียว ข้าวโพด มีการจัดสรรให้ 12,000 ครอบครัว เกือบ 100,000 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรเมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวนหลายหมื่นตัน โดยให้กรมการข้าวและกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นผู้ผลิตและจัดสรรให้กับเกษตรกร ซึ่งการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวจะทำให้เม็ดเงินกลับคืนไปสู่เกษตรกร” นายอลงกรณ์ กล่าวในที่สุด
ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากเดิมที่มีการตรวจสอบเกษตรกรขึ้นทะเบียนกับ 3 กรม ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ ปัจจุบันจะมีการเพิ่มเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมหม่อนไหมด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกรที่ไม่อยู่ภายใต้ระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนฯ ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกร พ.ศ. 2560 ได้แก่ เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบที่ขึ้นทะเบียนไว้กับการยาสูบแห่งประเทศไทย ซึ่งในเบื้องต้นได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังเพื่อกำหนดเป้าหมายที่จะดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาในครั้งนี้