วันพืชมงคล 2563 และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ สำคัญอย่างไร?

วันพืชมงคล 2563 และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ สำคัญอย่างไร?

ชวนคนไทยไปทำความรู้จักพระราชพิธี "จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ" พิธีโบราณอันสำคัญของไทยที่จะเกิดขึ้นใน "วันพืชมงคล" ของทุกๆ ปี พร้อมหาคำตอบว่าทำไมต้องมีพระโคเสี่ยงทาย?

เชื่อว่าคนไทยสมัยนี้ (ที่ไม่ใช่ชาวนา) น้อยคนที่จะรู้ความสำคัญของ "วันพืชมงคล" และ "พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ" เนื่องจากเป็นพิธีที่จัดขึ้นโดยสำนักพระราชวังและถ่ายทอดสดให้ชมผ่านหน้าจอทีวีเท่านั้น ส่วนประชาชนที่จะเข้าร่วมได้ก็คือ "ชาวนา" ที่มักจะไปรอหลังจากเสร็จสิ้นพิธี เพื่อที่จะเข้าไปเก็บเมล็ดข้าวในพิธีมาเป็นเมล็ดพันธุ์มงคลให้แก่ผืนนาของตนเอง

แม้ปีนี้จะงดจัดพระราชพิธีแบบเดิม มีเพียงการจัดพิธีเป็นการภายในเท่านั้น เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่อย่างไรก็ตามพระราชพิธีนี้มีความสำคัญกับคนไทยเป็นอย่างมากในฐานะที่มีความเกี่ยวข้องกับอาชีพชาวนาและข้าว ซึ่งถือเป็นอาหารหลักของคนไทย ดังนั้นเราคนไทยก็ควรทำความรู้จักพิธีโบราณนี้เอาไว้ก็ไม่เสียหลาย ในโอกาสนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ได้รวบรวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ "วันพืชมงคล" และ "พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ" มาฝากกัน ดังนี้

1. "จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ" มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

สำหรับประวัติของ "พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ" นั้น ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีข้อมูลเผยแพร่เรื่องราวไว้ว่า  เป็นพิธีที่มีความสิริมงคลและช่วยบำรุงขวัญเกษตรกร กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกหรือเดือนพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนา อันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่น โดยเลือกจากวันที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมในเดือนหกนั่นเอง

พระราชพิธีฯ นี้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งในสมัยนั้นพระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเอง เป็นแต่เพียงเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น ครั้งถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธาน เหมือนกับสมัยกรุงสุโขทัย และจะทรงจำศีลเงียบ 3 วัน แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้ เจ้าพระยาจันทกุมาร เป็นผู้แทนพระองค์ โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์ ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

2. "จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ" ในสมัยรัตนโกสินทร์

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการประกอบพระราชพิธีนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แต่ผู้ทำการแรกนาเปลี่ยนเป็นเจ้าพระยาพลเทพ คู่กันกับการยืนชิงช้า แต่พอถึงรัชกาลที่ 3 ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนา ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคลจึงได้เริ่มมีขึ้นแต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

158913169062

3. ทำไมต้องมีพิธี "แรกนาขวัญ"

สาเหตุที่ทำให้เกิดมีพระราชพิธีนี้ขึ้นก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นและความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง แต่การทำนานั้นก็มักจะมีอุปสรรคอยู่ เช่น บางปีน้ำฝนน้ำท่ามากไปน้อยไป ด้วงเพลี้ยและสัตว์ต่างๆ จะบังเกิดเป็นเหตุอันตราย จนทำนาไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ ซึ่งพิธีนี้ก็เป็นพิธีสำคัญที่ใช้สำหรับเสี่ยงทายให้รู้ปัญหาล่วงหน้าจะได้หาทนทางแก้ไข โดยอาศัยคำอธิษฐาน มีการใช้อุปกรณ์และสัตว์อย่างพระโคเข้ามาใช้ในพิธีการเสี่ยงทายว่าปีนั้นๆ การทำนาปลูกข้าวจะอุดมสมบูรณ์ดีหรือไม่ หรือจะประสบปัญหาหรืออันตรายด้านใดบ้าง

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าความมุ่งหมายของพิธีแรกนาขวัญอยู่ที่การทำให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร เพื่อชักนำให้มีความมั่นใจในการทำนา แม้จะเป็นความจำเป็นสำหรับบ้านเมืองในสมัยโบราณอย่างไร ถึงปัจจุบันนี้คงเป็นอยู่อย่างนั้น เพราะการเกษตรซึ่งมีการทำนาเป็นหลักนั้น เป็นสิ่งสำคัญแก่ชีวิตความเป็นอยู่และการเศรษฐกิจของประเทศทุกสมัย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

งดจัดพระราชพิธีฯ 'วิสาขบูชา-พืชมงคล' ห้ามปชช.เข้าร่วม

4. พิธีกรรมที่ต้องทำมีทั้งพิธีพุทธและพิธีพราหมณ์

ใน "พิธีแรกนาขวัญ" นอกเหนือจากพระเจ้าแผ่นดินหรือผู้แทนพระองค์จะลงมือไถนาให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรแล้ว ยังต้องประกอบไปด้วยพิธีกรรมที่ต้องจัดขึ้น 2 พิธีรวมกัน คือ

- พระราชพิธีพืชมงคล: อันเป็นพิธีสงฆ์ทางพุทธศาสนา ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต้องอาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้ง หรือทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นการสวัสดิมงคลตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนา เป็นต้น

- พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ: อันเป็นพิธีพราหมณ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธี ณ มณฑลพิธีสนามหลวง ซึ่งเป็นการบูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์

5. องค์ประกอบสำคัญในพิธี : พระยาแรกนาและเทพีทั้งสี่

แต่ก่อนพิธีนี้ได้หยุดไประยะหนึ่ง จากนั้นในปี พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพิธีนี้กลับมา และสมัยนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ได้ทรงปรับปรุงพิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัยอีกด้วย มาถึงองค์ประกอบสำคัญในพระราชพิธีฯ เริ่มจาก "พระยาแรกนา" ในช่วงแรกๆ ของการฟื้นฟูพิธีนี้กลับมา ผู้ที่จะมาทำหน้าที่นี้ก็คือ "อธิบดีกรมการข้าว" ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปีนั้นๆ สำหรับ "เทพีทั้งสี่" พิจารณาคัดเลือก จากภริยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ต่อมาภายหลังผู้ที่จะทำหน้าที่เป็น "พระยาแรกนา" ได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยตำแหน่ง ส่วนผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นเทพีคู่หาบทอง และคู่หาบเงินนั้น ได้ทำการพิจารณาคัดเลือกจากข้าราชการหญิงโสดในสังกัดกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ที่มีตำแหน่งตั้งแต่ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขึ้นไป

158913169048

6. องค์ประกอบสำคัญในพิธี : ข้าว ถั่ว งา

สำหรับธัญพืชหลักๆ ที่ต้องนำมาใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้แก่ ข้าว (ในภาษาบาลีเรียกว่าปุพพัณณะ หรือบุพพัณณะ หรือ บุพพัณณชาติ) นอกจากนี้ยังมี พืชจำพวกถั่วงา (ในภาษาบาลีเรียกว่าอปรัณณ หรืออปรัณชาติ) เป็นต้น ถ้าเรียกควบทั้งสองอย่างก็เรียกว่า บุพพัณณปรัณณชาติ ที่หมายถึงพืชที่เป็นอาหารทุกชนิด

สำหรับบุพพัณณปรัณณชาติที่นำเข้าพระราชพิธีพืชมงคลนั้น มีทั้งข้าวเปลือก ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว เผือกมันต่างๆ และเมล็ดพืชต่างๆ รวม 40 อย่าง แต่ละอย่างบรรจุถุงผ้าขาว ซึ่งพันธุ์พืชเหล่านี้ต้องสามารถนำไปปลูกและงอกได้ทั้งสิ้น สำหรับข้าวเปลือกที่จะต้องนำมาหว่านในพิธีแรกนา เป็นข้าวพันธุ์ดีที่ในหลวงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปลูกในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดารโหฐาน และพระราชทานมาให้ใช้ในพระราชพิธีพืชมงคล โดยบรรจุใส่กระเช้าทองหนึ่งคู่และกระเช้าเงินหนึ่งคู่ 

7. องค์ประกอบสำคัญในพิธี : พระโคเสี่ยงทาย

พระโค ในทางศาสนาพรามหณ์ หมายถึง เทวดาผู้ทำหน้าที่เป็นพาหนะของพระอิศวรซึ่งเปรียบได้กับการใช้แรงงานและความเข้มแข็ง และเป็นสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะและพระพลเทพดูแลซึ่งเปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงได้กำหนดให้ใช้พระโคเพศผู้เข้าร่วมพระราชพิธีเสมอมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นตัวแทนของความเข้มแข็งและความอุดมสมบูรณ์

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานดำเนินการคัดเลือกโคเพื่อเป็นพระโคตามหลักเกณฑ์ กล่าวคือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่ายสอนง่าย ไม่ดุร้าย เขาลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงามดี มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้อง มีขาและกีบข้อเท้าแข็งแรง มองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม

ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญปี 2563 กรมปศุสัตว์ ได้ทำการคัดเลือกพระโคแรกนาขวัญ จำนวน 2 คู่ คือ พระโคแรกนาขวัญ 1 คู่ ได้แก่ พระโคพอ พระโคเพียง และ พระโคสำรอง 1 คู่ ได้แก่ พระโคเพิ่ม พระโคพูล

158913169054

8. การเสี่ยงทายของกิน 7 อย่าง

นอกจากพระโคจะต้องมาเดินไถนาในพระราชพิธีฯ แล้ว ยังมีหน้าที่ในการเสี่ยงทายเรื่องน้ำท่าฝนฟ้าสำหรับการทำนาในแต่ละปีด้วย โดยจะเสี่ยงทายจากของกิน 7 อย่างที่นำมาตั้งเลี้ยงพระโค ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้นคือ

- ถ้าพระโคกินข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี

- ถ้าพระโคกินถั่วหรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี

- ถ้าพระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์

- ถ้าพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขาย กับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง 

158918157637

9. พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2563

เนื่องจากปี 2563 ประเทศไทยและนานาประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ซึ่งมีมาตรการและข้อปฏิบัติทางสาธารณสุขหลายประการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค

ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย งดการประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปีนี้ จากเดิมที่สำนักพระราชวังได้กำหนดให้ประกอบพระราชพิธีในวันอาทิตย์ที่ 10 และวันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม 2563 โดยเปลี่ยนมาเป็นการประกอบพิธีปลุกเสกเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานและพืชพันธุ์ต่างๆ ในวันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม 2563 โดยนำพันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทานในฤดูทำนาปี 2562 และพันธุ์พืชต่างๆ มาเข้าประกอบพิธี

จากนั้นนำไปเข้าพิธีหว่านหว่านข้าวในแปลงนาทดลอง ณ สวนจิตรลดา ในวันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม 2563 ซึ่งเป็นการจัดพิธีภายใน ไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในพิธีดังกล่าว

-------------------------

อ้างอิง: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงวัฒนธรรม