รู้ก่อนใช้ 'ไทยชนะ' แพลตฟอร์มเช็คอินเข้าออกห้างฯ มาตรการเฟส 2
ชวนรู้จักแพลตฟอร์ม "ไทยชนะ" จาก ศบค. ซึ่งเป็นมาตรการเสริมเพื่อมารองรับการประกาศผ่อนคลายระยะที่ 2 ให้ห้างร้านกลับมาเปิดบริการได้ (17 พ.ค.นี้) ช่วยให้ประชาชนใช้ชีวิตได้ราบรื่นพร้อมๆ กับควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ไม่ให้กลับมาระบาดซ้ำ
หลังจากที่เมื่อวานนี้ (14 พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ชี้แจงถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่จะผ่อนคลายต่อเนื่องในเฟสสอง (วันที่ 17 พ.ค. ที่จะถึงนี้) ว่าได้มีการพัฒนาแพลฟอร์ม "ไทยชนะ" เพื่อใช้ติดตามตัวประชาชนที่จะเข้าใช้บริการในห้างสรรพสินค้า โดยวิธีการเช็คอินและเช็คเอาท์ ทั้งนี้ประชาชนต้องปรับตัวสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) เพื่อช่วยกันควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ไม่ให้กลับมาระบาดซ้ำได้อีก
ก่อนจะถึงวันใช้งานจริงในวันที่ 17 พ.ค. 2563 "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนคุณมารู้จักแนวทางการทำงาน และวิธีใช้งานแพลฟอร์ม "ไทยชนะ" กันให้มากขึ้น ดังนี้
1. "ไทยชนะ" แพลตฟอร์มที่ผู้ประกอบการต้องลงทะเบียน
แพลตฟอร์ม "ไทยชนะ" เป็นแพลตฟอร์มที่ทางทีมงาน ศบค. จัดทำขึ้นมาสำหรับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าและสำหรับผู้ใช้บริการ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนจับจ่ายซื้อของจากห้างร้านได้อย่างง่ายมากขึ้น อีกทั้งยังปลอดภัยต่อการติดเชื้อเนื่องจากใช้แอปฯ แล้วจะช่วยลดการสัมผัสสิ่งของและธนบัตรได้
ขณะเดียวกันทาง ศบค. ก็ได้เชิญชวนให้ประชาชนปรับเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ไปด้วยกัน เนื่องจากประเทศไทยยังต้องอยู่กับไวรัสโควิด-19 นี้ไปอีกระยะหนึ่ง อีกทั้งแพลตฟอร์ม "ไทยชนะ" นี้ถูกตั้งชื่อดังกล่าวโดย ผอ.ศบค. ซึ่งมีความหมายดีและให้ความรู้สึกฮึกเหิม
2. ธนาคารกรุงไทย เจ้าภาพทำแอปฯ "ไทยชนะ"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แพลตฟอร์ม "ไทยชนะ" ดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ต้องการให้แพลตฟอร์มนี้เสร็จก่อนการประกาศผ่อนปรนเฟสสองในวันที่ 17 พ.ค.นี้ คาดว่าธนาคารกรุงไทยเป็นเจ้าภาพผู้ดำเนินการแพลตฟอร์มดังกล่าว เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการไม่ใช้เงินสด จ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ด โดยให้เช็คอินและเช็คเอาท์ในการใช้บริการ ประเมินร้านค้าและชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดโดยใช้ได้กับทุกธนาคาร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- อัพเดท! 'ไทยชนะ' ไม่ใช่แอปฯ แต่เป็นแพลตฟอร์มให้ลงทะเบียนใช้งาน
- คาดแอพพลิเคชัน 'ไทยชนะ' เปิดให้ลงทะเบียนได้ภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้
- เปิดขั้นตอนการใช้งาน 'ไทยชนะ' สำหรับ ลูกค้า และ ผู้ประกอบการ
อีกทั้งในวันที่ 17 พ.ค. 2563 ที่ประชุม ศบค. มีมติเห็นชอบลดเวลา "เคอร์ฟิว" จากเดิม 22.00 น. ถึง 04.00 น. มาเป็น 23.00 น. ถึง 04.00 น. ในส่วนของห้างสรรพสินค้า อาจจะต้องมีการปรับเวลาในการเปิดและปิด มาเป็น 10.00 น. ถึง 20.00 น. เพื่อให้พนักงานมีเวลาเตรียมตัว
3. แนวทางการใช้งาน "ไทยชนะ" ในเบื้องต้น
นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้อธิบายเกี่ยวกับวิธีใช้งานแพลตฟอร์ม "ไทยชนะ" ในเบื้องต้นไว้ว่า
ขั้นแรก: ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่างๆ ต้องลงทะเบียนที่ www.ไทยชนะ.com เพื่อให้มีชื่อร้านอยู่ในระบบออนไลน์ของแพลตฟอร์มนี้ จากนั้นจะได้รับคิวอาร์โค้ดของร้าน จากนั้นให้นำคิวอาร์โค้ดนั้นๆ มาติดตั้งไว้ที่บริเวณหน้าร้านของตัวเอง
ขั้นที่สอง: สำหรับประชาชนที่จะเข้าไปใช้บริการในห้างสรรพสินค้าหรือร้านบริการต่างๆ ก็ให้ทำการสแกนคิวอาร์โค้ดที่ห้างฯ หรือร้านนั้นๆ ติดไว้ที่หน้าร้าน ก่อนเข้าใช้บริการ เป็นการเช็คอินก่อนเข้าร้านและเช็คเอาท์ขณะที่กำลังจะออกจากร้านด้วย ไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว เพราะใช้เพียงโทรศัพท์สมาร์ทโฟนสำหรับการสแกนคิวอาร์โค้ดเท่านั้น
ขั้นที่สาม: ระหว่างที่ประชาชนเข้าไปใช้บริการในห้างร้าน แพลตฟอร์มดังกล่าวจะมีฟังก์ชันให้สามารถจ่ายเงินออนไลน์ได้ด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินในการจ่ายชำระค่าสินค้า ก็จะช่วยป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ที่อาจติดมาจากการรับเงินสดได้ ส่วนวิธีการจ่ายเงินออนไลน์นั้นก็ใช้งานง่ายไม่ต่างจากแอปพลิเคชันชำระเงินทั่วไป โดยต้องเติมเงินเข้าไปในระบบก่อนแล้วตามด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการ
4. ประโยชน์และข้อดีของแอปฯ "ไทยชนะ"
สำหรับข้อดีและคุณสมบัติที่โดดเด่นของแพลตฟอร์ม "ไทยชนะ" ก็คือคาดว่าจะทำให้ประชาชนทราบล่วงหน้าได้ว่าห้างสรรพสินค้าที่กำลังจะไปนั้นมีจำนวนคนอยู่หนาแน่นหรือยัง ถ้าหนาแน่นแล้วก็สามารถเลือกไปจับจ่ายที่อื่นได้ทันที ไม่ต้องไปเจอผู้คนแออัดและไม่ต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ส่วนร้านค้าหรือร้านที่ให้บริการอื่นๆ เช่น ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม หากใช้แพลตฟอร์มนี้ก็จะสามารถติดตามฟีดแบ็คจากลูกค้าได้ว่าประทับใจในการบริการหรือไม่ เพราะจะมีฟีเจอร์สำหรับการให้เรตติ้งร้านค้าต่างๆ ได้ด้วย เป็นการควบคุมคุณภาพของการบริการไปในตัว หากเจ้าของกิจการบริการดี มีเรตติ้งสูงก็จะสามารถดึงลูกค้าให้กลับมาหาได้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์
5. ย้ำมาตรการดูแลตัวเองยังต้องทำ ห้ามการ์ดตก!
นอกจากการพัฒนาแอปฯ ดังกล่าวเพื่อมาช่วยรองรับการประกาศผ่อนคลายเฟส 2 ได้อย่างปลอดภัยแล้ว ประชาชนก็ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการ 5 ข้อที่มีความสำคัญต่อชีวิตของทุกคนในการมีชีวิตวิถีใหม่ทั้งในส่วนของผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ ซึ่งทาง ศบค. ขอให้คนไทยทำอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
- ล้างมือบ่อยๆ พกสบู่เหลวหรือเจลแอลกอฮอล์ติดกระเป๋า
- สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากาอนามัยเมื่อต้องอกนอกบ้าน หรือเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ
- เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร
- ทำความสะอาดพื้นผิวที่บ้านเสมอ (สำหรับประชาชน) และห้างฯ ร้านค้า (สำหรับผู้ประกอบการ)
- ผู้ประกอบการห้างร้านต่างๆ ต้องดูแลอย่าให้เกิดความแออัดในพื้นที่ส่วนรวม
6. ห้างบางแห่งได้พัฒนาแอปฯ มาให้บริการลูกค้า
ล่าสุด.. ทีมข่าวพบว่าห้างสรรพสินค้าบางแห่งก็ได้พัฒนาแพลตฟอร์มเกี่ยวกับการชอปปิงได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องสัมผัสสินค้าและไม้ต้องสัมผัสเงิน ออกมาบริการประชาชนเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เทสโก้ โลตัส ได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม "Tesco Lotus Scan & Shop" วิถีใหม่แห่งการช้อปในยุคโควิด-19 สนับสนุนการชอปปิงแบบไร้การสัมผัส (Contactless Shopping) ลดการสัมผัส ลดระยะเวลาในการชอปปิง ลดโอกาสของการแพร่เชื้อโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนจับจ่ายได้อย่างปลอดภัย รวดเร็ว และสะดวกสบาย โดยมีขั้นตอนการใช้งาน ดังนี้
- ดาวน์โหลดแอwwลิเคชั่น Tesco Lotus Scan & Shop ได้ทั้งทาง AppStore และ Play Store
- เปิดใช้งาน สามารถเชื่อมต่อกับบัตรคลับการ์ดได้
- Scan QR เพื่อเริ่มการชอปปิง โดย QR แต่ละสาขา จะมีให้สแกนที่บริเวณรถเข็น และบริดวณชั้นวางสินค้าโปรโมชั่น
- สแกนบาร์โค้ดสินค้าในขณะที่เลือกซื้อ โดยแอปพลิเคชั่นจะแสดงราคาสินค้าพร้อมรายการโปรโมชั่น และคํานวณราคาสินค้าทั้งหมดให้อัตโนมัติ
- ชําระเงินที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์ โดยพนักงานไม่ต้องสแกนสินค้าซ้ำอีก และลูกค้าสามารถเลือกชําระเงินได้ผ่าน QR Code หรือเงินสด หรือบัตรเครดิตก็ได้
----------------------
อ้างอิง: https://www.facebook.com/Tesco Lotus