เคลียร์ชัด ‘เยียวยาเกษตรกร’ สำหรับ ‘ชาวสวนยางพารา’ ผ่าน 18 ประเด็นคำถาม
เคลียร์ข้อข้องใจ "ชาวสวนยางพารา" ในประเด็นปัญหามาตรการ “เยียวยาเกษตรกร” ผ่าน 18 คำถามรายละเอียดปลีกย่อยน่ารู้
เคลียร์ข้อข้องใจและประเด็นปัญหาของ “เกษตรกรชาวสวนยางพารา” มาตรการ “เยียวยาเกษตรกร” สำหรับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยมาตรการนี้จะช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่มีชื่อขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับทั้งหน่วยงานทั้งหมด 7 หน่วยงาน รวมถึงเกษตรที่ทำอาชีพเกษตรกรรม แต่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนก็มีการเปิดให้ขึ้นไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้ที่ได้รับสิทธิ์ในมาตรการนี้จะต้องผ่านการตรวจสอบความซ้ำซ้อนของกระทรวงการคลัง เช่น มาตรการเยียวยาเราไม่ทิ้งกัน ประกันสังคม เป็นต้น
ซึ่งเมื่อผ่านการตรวจสอบและได้รับสิทธิ์ จะได้เงินเยียวยารายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 แต่ก็ยังมีประเด็นคำถามเกิดขึ้นมากมายถึงรายละเอียดต่างๆ ซึ่งเกษตรกรที่ยังคงติดปัญหาต่างๆ ในมาตรการเยียวยาเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เปิดให้ยื่นเรื่องอุทธรณ์เงินเยียวยาเกษตรกรได้
ทั้งนี้ในส่วนของประเด็นปัญหาของ “เกษตรกรชาวสวนยางพารา” กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตอบคำถามทั้งหมด 18 ข้อ ดังนี้
1.เยียวยาเกษตรกรของเราไม่ทิ้งกัน กับเยียวยาชาวสวนยาง อันเดียวกันไหม?
ตอบ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มีเพียงมาตรการเดียว คือ มาตรการเยียวยาเกษตรกร (ไม่มีโครงการเยียวยาสวนยาง)
2.มีสมุดทะเบียนเกษตรกรแล้ว ต้องขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) อีกหรือไม่?
ตอบ สำหรับมาตรการเยียวยาเกษตรกรนี้ไม่ต้องขึ้นทะเบียนอีก
3.“คนกรีดยาง” จะได้รับสิทธิ์เยียวยาเกษตรกรหรือไม่?
ตอบ กยท.จะส่งข้อมูลเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับทาง กยท. ให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นผู้รวบรวมข้อมูลเพื่อส่งให้กระทรวงการคลัง ซึ่งมีหน้าที่ในการคัดกรองตรวจสอบสิทธิเป็นไปตามเงื่อนไขของทางกระทรวงการคลัง
4.ถ้าคนที่ได้สิทธิ์เกษตรกรชาวนา แล้วมีสวนยางด้วย จะได้ทั้งสองเลยไหม?
ตอบ ได้เพียง 1 สิทธิ์เท่านั้น
5.ถ้าเป็นเจ้าของสวนยาง และเป็นข้าราชการพลเรือน มีสิทธิ์ได้รับสิทธิ์ไหม?
ตอบ ไม่ได้รับสิทธิ์ เนื่องจากผู้ที่ได้รับการเยียวยาโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ต้องมีอาชีพหลักเป็นเกษตรกร มีรายได้หลักจากการทำเกษตร และต้องเป็นผู้ไม่ได้รับเงินเดือนประจำจากหน่วยงานราชการหรือเอกชน ไม่เป็นข้าราชการบำนาญและเป็นผู้ไม่มีสวัสดิการประกันสังคม และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการเราไม่ทิ้งกันของภาครัฐ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ตรวจสอบสิทธิ์ ‘www.เยียวยาเกษตรกร.com’ ถ้าขึ้นทะเบียนทั้งครอบครัว จะมีใครได้เงินบ้าง?
- ‘รับจ้างกรีดยาง’ ได้สิทธิรับเงิน ‘เยียวยาเกษตรกร’ 15,000 บาท หรือไม่?
- ตรวจสอบสิทธิ www.เยียวยาเกษตรกร.com มีสิทธิ แต่บัญชี ธ.ก.ส.หมดอายุ จะได้รับเงิน 5,000 บาท หรือไม่?
6.ขึ้นทะเบียนไว้ที่ กยท.ปีที่แล้ว ต้องทำอะไรอีกไหม?
ตอบ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลพื้นฐาน เช่น ที่อยู่ เบอร์โทร กรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวนแปลง ที่ตั้งแปลง เปลี่ยนแปลงข้อมูลคนกรีด ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องดำเนินการอะไร
7.ขึ้นทะเบียนไว้ที่ กยท.แล้ว ต้องไปลงทะเบียนแจ้งสิทธิรับเยียวยาอีกไหม?
ตอบ ถ้ามีบัญชีธนาคาร ธ.ก.ส. ก็ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนแจ้งสิทธิกับทางเว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com
8.ได้รับเงินประกันรายได้ ระยะที่ 1 กับ กยท.แล้ว แต่ปรับสมุดเล่มเขียวล่าสุดปี 2561 จะได้รับสิทธิเงินเยียวยาไหม?
ตอบ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล กยท.จะส่งรายชื่อให้กับทาง สศก.เพื่อรับสิทธิเข้าร่วมโครงการ
9.สามีมีสมุดเล่มเขียว ภรรยาขึ้นทะเบียนกับ กยท. และอยู่คนละทะเบียนบ้าน จะได้เงินทั้งสองคนไหม?
ตอบ ได้รับสิทธิตามหลักเกณฑ์ 1 ทะเบียนบ้าน 1 สิทธิ ต้องเป็นผู้มีอาชีพหลักเป็นเกษตรกร มีรายได้หลักจากการทำเกษตร รวมถึงจะต้องไม่ได้รับเงินเดือนประจำจากหน่วยงานราชการหรือเอกชน ไม่เป็นข้าราชการบำนาญ ไม่มีสวัสดิการประกันสังคม และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการเราไม่ทิ้งกันของภาครัฐ
10.เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรแล้ว และสถานะเป็นปี 2562 และ 2563 ต้องขึ้นทะะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางกับ กยท.หรือไม่?
ตอบ สำหรับมาตรการเยียวยาโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ผู้ที่มีสถานะขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นปี 2562 และ 2563 จะได้รับการเยียวยา เป็นกลุ่มที่ 1 และต้องเป็นผู้มีอาชีพหลักเป็นเกษตรกร มีรายได้หลักจากการทำเกษตร ไม่ได้รับเงินเดือนประจำจากหน่วยงานราชการหรือเอกชน ไม่เป็นข้าราชการบำนาญ ไม่มีสวัสดิการสังคม และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการเราไม่ทิ้งกันของภาครัฐ
ในส่วนการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางกับ กยท. เกษตรกรจะมีฐานข้อมูลไว้กับ กยท.เพื่อขอรับการจัดสวัสดิการอื่นๆ ที่ กยท.มีให้
11.ผู้ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรแล้ว ต้องไปขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางกับ กยท.อีกหรือไม่ หรือว่าขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร และขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางกับ กยท. ข้อมูลทั้งสองหน่วยงานจะใช้ฐานข้อมูลเดียวกันหรือไม่? ซึ่งจะทำให้สามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับหน่วยงานไหนก็ได้
ตอบ ฐานข้อมูลเกษตรกรทั้งสองหน่วยงานไม่เชื่อมโยงกัน เพราะฉะนั้นเกษตรกรต้องไปขอขึ้นทะเบียนทั้งกรมการยางแห่งประเทศไทย เพื่อขอรับการช่วเหลือจากภาครัฐและสวัสดิการต่างๆ ที่ทั้งสองหน่วยงานจัดให้
12.อยากทราบว่า กยท. จะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรน่า 2019 กลุ่มประเภทไหนบ้าง? 1.เกษตรกรผู้ปลูกยาง (บัตรสีเขียว) 2.เกษตรกรผู้ปลูกยาง (บัตรสีชมพู) 3.คนกรีดยางที่ได้รับจ้างกรีดให้เกษตรกรผู้ปลูกยางทั้งบัตรสีเขียวและสีชมพู
ตอบ กยท.จะดำเนินการรวบรวมและส่งข้อมูลทั้ง 3 กลุ่มให้กับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ตรวจสอบทั้ง 3 กลุ่ม เมื่อตรวจสอบสิทธิแล้วเป็นผู้มีอาชีพหลักเป็นเกษตรกร มีรายได้หลักจากการทำเกษตร ไม่ได้รับเงินเดือนประจำจากหน่วยงานราชการหรือเอกชน ไม่เป็นข้าราชการบำนาญ ไม่มีสวัสดิการประกันสังคม และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการเราไม่ทิ้งกันของภาครัฐ ก็จะได้รับการเยียวยาโครงการดังกล่าว
13.เกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง (คปร) แล้ว จะได้รับการเยียวยาจากโครงการช่วยเหลือเกษตรกรนี้หรือไม่?
ตอบ จะได้รับการเยียวยา เมื่อตรวจสอบสิทธิแล้วว่าเป็นผู้มีอาชีพหลักเป็นเกษตรกร มีรายได้หลักจากการทำเกษตร ไม่ได้รับเงินเดือนประจำจากหน่วยงานราชการหรือเอกชน ไม่เป็นข้าราชการบำนาญ ไม่มีสวัสดิการประกันสังคม และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการเราไม่ทิ้งกันของภาครัฐ
14. เกษตรกรชาวสวนยางท่ีข้ึนทะเบียนกับ กยท. ที่สถานะสวนไม่มีการเปลี่ยนแปลง จําเป็นต้องเข้าไปปรับปรุงข้อมูลกับ กยท.อีกหรือไม่? เพื่อขอเข้าร่วมโครงการนี้
ตอบ ถ้าข้อมูลสวนยางไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่จำเป็นต้องปรับปรุงข้อมูลกับ กยท. และ กยท.จะดำเนินการส่งข้อมูลให้กับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรตรวจสอบสิทธิ เพื่อรับการเยียวยาต่อไป
15.กรณีมีการเปลี่ยนแปลงคนกรีดยาง ต้องไปปรับปรุงข้อมูลกับ กยท.หรือไม่?
ตอบ ต้องปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เพื่อจะได้รับสิทธิสวัสดิการอื่นๆ ที่ กยท.จัดให้
16.เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางกับ กยท. แต่ยังไม่มีบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะต้องดำเนินการอย่างไร?
ตอบ สามารถเข้าไปตรวจสอบรายชื่อและข้อมูลในเบื้องต้น หรือแจ้งช่องทางในการโอนเงิน กรณีไม่มีบัญชีกับ ธ.ก.ส. ได้ที่ www.เยียวยาเกษตรกร.com หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เบอร์โทร 0-2555-0555
17.เกษตรกรสามารถตรวจสอบการขึ้นทะเบียนกับ กยท.ได้อย่างไร?
ตอบ ทางเว็บไซต์ กยท. คือ http://www.raot.co.th/gir/index/ และทางโทรศัพท์การยางแห่งประเทศไทย หมายเลข 0-2433-2222 ต่อ 243-245
18.เกษตรกรสามารถตรวจสอบสิทธิผู้ได้รับเยียวยา ทางช่องทางไหนได้บ้าง?
ตอบ ทางเว็บไซต์ http://savefarmer.oae.go.th