'5 แบงก์ใหญ่' หั่นดอกเบี้ยกู้-ตรึงเงินฝาก
"แบงก์ใหญ่" พร้อมใจลดดอกเบี้ยเงินกู้ ตามมติกนง. หวังลดภาระต้นทุนให้ลูกค้า เร่งการฟื้นตัวของฐานะการเงินจภาคประชาชน-ภาคธุรกิจ แต่ยังคงดอกเบี่้ยเงินฝากไว้ ด้าน "สมาคมธนาคาร" เผยแบงก์พาณิชย์ช่วยลูกหนี้ ลดผลกระทบโควิดแล้ว 14 ล้านคน
หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% จากระดับ 0.75% สู่ระดับ 0.50% ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ทยอยประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยตาม โดยเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงขาเดียว ขณะที่ฝั่งดอกเบี้ยเงินฝากยังคงที่
นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารได้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงทั้ง 3ประเภท โดยลดดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าขนาดใหญ่ชั้นดีแบบมีระยะเวลา (MLR) ลง 0.225% เหลือ 5.25% ขณะที่ดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเบิกเกินบัญชี (MOR) ลดลง 0.22% เหลือ 5.875% และเงินกู้สำหรับรายย่อย (MRR)ลง 0.35% เหลือ 5.75% มีผล 21พ.ค.เป็นต้นไป
นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารได้ลดดอกเบี้ยไปแล้ว 3 ครั้ง เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งครั้งนี้กรุงศรี ฯ โดยปรับลดดอกเบี้ย MLR ลงจาก 5.83% เป็น 5.58% ขณะที่ MOR ปรับลดจาก 6.30% เป็น 5.95% และ MRR ลดจาก 6.30% เป็น 6.05% มีผล 21 พ.ค.เป็นต้นไป
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า จากมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มทยอยเข้าสู่ช่วงสภาวะปกติ เพื่อเร่งการฟื้นตัวของฐานะการเงินในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนให้กลับมาโดยเร็ว ธนาคารได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท เพื่อลดภาระต้นทุนดอกเบี้ยให้ลุกค้าอย่างเร่งด่วน โดยปรับ MLR ลงจาก 5.375% เป็น 5.25% ต่ำที่สุดในระบบธนาคาร ขณะที่ MOR ลดจาก 6.095 % เป็น 5.845% และ MRR ลดจาก 6.345 % เป็น 5.995 % ซึ่งปรับลดลงมากที่สุดในระบบธนาคาร มีผล 22 พ.ค.นี้
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ลง 0.125% ต่อปี เหลือ 5.25% ต่อปี ,MOR ลดลง 0.40% ต่อปี เหลือ 5.82% ต่อปี และ MRR ลดลง 0.125% ต่อปี เหลือ 6.22% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2563 เป็นต้นไป
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยMOR ลงสูงสุดถึง0.38% เหลือ 5.84% ปรับดอกเบี้ยMLRและMRR ลงอีก 0.13% เหลือ5.47% และ5.97% ตามลำดับ เพื่อช่วยประคับประคองสภาพคล่องและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าของธนาคาร พร้อมสนับสนุนเศรษฐกิจให้ค่อย ๆ ฟื้นตัว มีผลตั้งแต่วันที่22พ.ค.นี้
เขากล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ภายใต้สมาคมธนาคารไทย ได้ช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านโครงการต่างๆ ไปแล้วเกือบ 14ล้านราย ได้แก่1.การปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย อาทิ การขยายเวลาการชำระหนี้ การลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ช่วยไปแล้ว13.8 ล้านราย ยอดหนี้ 6.12 ล้านล้านบาท
2. การปล่อยสินเชื่อโครงการ บสย.SMEsสร้างไทย 1.4 หมื่นราย วงเงิน 3.4 หมื่นล้านบาท และ3.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ผ่านธออมสิน ช่วยลูกค้าแล้ว 5.5 หมื่นล้านบาท ส่วนซอฟท์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย อนุมัติสินเชื่อแล้ว 49,804 ล้านบาท กว่า28,722 ราย