2 กระทรวงแบ่งโควต้า คุมทำแผนฟื้นฟู 'การบินไทย'
“คมนาคม” เปิดทาง “คลัง” เสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูการบินไทย เตรียมรวบรวม30 รายชื่อ เสนอนายกฯ 25 พ.ค.นี้ ด้าน “ศักดิ์สยาม” สั่งฝ่ายบริหารการบินไทยเร่งจัดทำบัญชีทรัพย์สิน แจงหนี้ทั้งในและต่างประเทศ
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม เตรียมนำเสนอ 30 รายชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมเป็นผู้จัดทำแผน เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 25 พ.ค.นี้ โดยเมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้หารือกับผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
พร้อมให้นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการ คนที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่แทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย เป็นผู้รวบรวมรายชื่อดังกล่าว
ทั้งนี้ หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ชี้แจงว่ากระทรวงคมนาคมจะเสนอรายชื่อผู้จัดทำแผน 15 รายชื่อ โดยสรรหาจากผู้มีประสบการณ์ ความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ในสังคม อีกทั้งต้องมีประสบการณ์อุตสาหกรรมการบินด้วย
อย่างไรก็ตาม นายศักดิ์สยามได้เสนอให้เพิ่มรายชื่อผู้จัดทำแผนจากเดิม 15 ราย เป็น 30 รายชื่อ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มที่กระทรวงคมนาคมเสนอ 15 ราย
2.กลุ่มที่การบินไทยเสนอ 15 ราย ซึ่งกระทรวงการคลังสามารถส่งรายชื่อมาเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูผ่านกลุ่มนี้ได้ในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่การบินไทย
สำหรับการเสนอรายชื่อผู้ทำแผนให้นายกรัฐมนตรีในวันที่ 25 พ.ค.นี้ จะมีนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้กำกับดูแลการบินไทย จะเป็นตัวแทนกระทรวงคมนาคมเข้าร่วม เพื่อรายงานความคืบหน้าของการเตรียมความพร้อมทำแผนฟื้นฟูการบินไทย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา สั่งการให้การบินไทยทำข้อมูลประกอบการทำแผนยื่นคำร้องศาลดังนี้
1.ทำบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ที่มีลูกหนี้–เจ้าหนี้ในและต่างประเทศ พร้อมกำหนดเวลาการชำระหนี้ โดยแยกเป็นหน่วยธุรกิจให้ชัดเจน
2.เสนอบัญชีรายชื่อคณะผู้จัดทำแผนและผู้บริหารแผน โดยต้องมีความรู้ ซื่อสัตย์ สุจริตและมีธรรมาภิบาล มีประสบการณ์อุตสาหกรรมการบินไทย ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายล้มละลาย และกฎกระทรวงของกระทรวงยุติธรรมกำหนด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เจ้าหนี้และศาล โดยเสนอให้กระทรวงฯ ภายในวันที่ 25 พ.ค.นี้ เพื่อเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรี
3.ทำร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) จัดจ้างที่ปรึกษาด้านการเงินและด้านกฎหมาย เสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา โดยต้องวางกรอบการทำงานของที่ปรึกษาให้ชัดเจนว่าจะทำเนินการฟื้นฟูตามขั้นตอนอย่างไร ต้องโปร่งใสไม่มีข้อครหาเรื่องการล็อคสเปค โดยกระทรวงฯ จะนำเสนอร่างทีโออาร์ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา
4.จัดทำแผนการบริหารสภาพคล่องของบริษัทว่าจะบริหารจัดการอย่างไร รวมไปถึงแผนการหารายได้ แผนเจรจาต่อรองขอชะลอการชำระหนี้ เพื่อนำสภาพคล่องที่เหลือมาบริหารจัดการเป็นค่าใช้จ่ายพนักงานและค่าใช้จ่ายอื่นในองค์กร โดยต้องชี้แจงให้สหภาพและพนักงานกว่า 2 หมื่นคนรับทราบ
5.ขอให้ฝ่ายบริหารการบินไทยให้ความร่วมมือให้ข้อมูลต่อคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารงานกิจการ และปัญหาการทุจริต ที่นายถาวร เสนเนียม แต่งตั้งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เจ้าหนี้ว่าการบินไทยตั้งใจแก้ปัญหาในองค์กรเพื่อฟื้นฟูกิจการ
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การบินไทยได้เจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อขอชะลอการจ่ายหนี้ ทำให้ปัจจุบันการบินไทยสามารถรักษาสภาพคล่องไว้ใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานและค่าใช้จ่ายอื่นจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้
หากการบินไทยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูต่อศาลได้ภายใน 3-4 สัปดาห์นี้ และศาลรับคำร้อง คาดว่าการบินไทยจะสามารถบริหารจัดการยืดเวลารักษาสภาพคล่อง ต่อไปได้อีก 4 เดือนจนถึงสิ้นสุดในเดือน ต.ค.2563 ซึ่งทันต่อการจัดทำแผนฟื้นฟูแล้วเสร็จ