ส่องคืบหน้าการพัฒนา 'ยา-วัคซีน' ต้านโควิด
ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ไม่รู้จะจบลงเมื่อใด สหรัฐและจีนต่างแข่งกันพัฒนายาและวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ล่าสุดผลการทดลองวัคซีนโควิด-19 ของจีน ตัวแรกที่ผ่านการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 ปลอดภัยและสร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต้านเชื้อได้
เมื่อวันศุกร์ (22 พ.ค.) วารสารการแพทย์แลนเซต เปิดเผยว่า การทดลองวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ของจีน ซึ่งเป็นวัคซีนโรคโควิด-19 ตัวแรกที่ผ่านการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 ปรากฏผลว่าปลอดภัย ทนทาน และสร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต้านเชื้อไวรัสฯ (SARS-COV-2) ในมนุษย์ได้
การทดลองแบบเปิดในผู้ใหญ่สุขภาพดี 108 คน พบผลลัพธ์เชิงบวกหลังเวลาผ่านไป 28 วัน โดยจะมีการประเมินผลลัพธ์สุดท้ายภายใน 6 เดือน ขณะเดียวกันจำเป็นต้องมีการทดลองเพิ่มเติม เพื่อพิสูจน์ว่าการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
“ผลลัพธ์เหล่านี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญ การทดลองพบว่าวัคซีนโรคโควิด-19 ชนิดใช้อะดิโนไวรัส ไทป์ 5 เป็นตัวนำพา (Ad5-nCoV) ผลิตแอนตี้บอดี้และเซลล์ที (T cell) แบบจำเพาะไวรัสภายใน 14 วัน จึงกลายเป็นวัคซีนที่มีศักยภาพต่อการตรวจสอบเพิ่มเติม” ศาสตราจารย์เฉิน เว่ย สถาบันเทคโนโลยีชีวภาพปักกิ่ง ซึ่งรับผิดชอบการศึกษาครั้งนี้ กล่าว
แต่ศาสตราจารย์เฉิน เว่ย ก็บอกว่า ควรตีความผลลัพธ์เหล่านี้อย่างรอบคอบ เพราะความท้าทายของการพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 เป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้มาก่อน การที่วัคซีนกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันไม่ได้บ่งชี้ว่าจะปกป้องมนุษย์จากโรคโควิด-19 เสมอไป ผลลัพธ์ที่ได้สะท้อนสัญญาณดีของการพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 แต่ยังอีกนานกว่าจะได้วัคซีนที่พร้อมใช้กับทุกคน
ด้านสหรัฐ ประกาศวานนี้ (23 พ.ค.) ว่า วางแผนทดสอบวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ครั้งใหญ่กับอาสาสมัครมากกว่า 100,000 คน โดยจะทดสอบวัคซีนของบริษัทอย่างน้อย 6 แห่ง เพื่อให้ได้วัคซีนที่มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากที่สุดภายในสิ้นปี 2563
คณะนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า โครงการทดลองวัคซีนครั้งใหญ่นี้เป็นการย่นระยะเวลาในการพัฒนาและทดสอบวัคซีนจากปกติที่ใช้เวลานับ 10 ปี ลงเหลือเพียงไม่กี่เดือน ซึ่งบ่งชี้ถึงความเร่งด่วนที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 5 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตกว่า 3.35 แสนรายแล้ว รวมทั้งยังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลกด้วย
คณะนักวิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า ผู้ผลิตวัคซีนชั้นนำตกลงที่จะแบ่งปันข้อมูล และให้ยืมใช้เครือข่ายการทดลองทางคลินิกกับบรรดาคู่แข่ง หากวัคซีนของตนประสบความล้มเหลวในการทดลอง ส่วนวัคซีนที่แสดงว่ามีความปลอดภัยในการทดลองขนาดเล็กในขั้นต้นนั้น จะได้รับการทดสอบขั้นต่อไปในการทดลองขนาดใหญ่กับอาสาสมัครจำนวน 2-3 หมื่นรายสำหรับแต่ละวัคซีน ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือน ก.ค.นี้
ที่ผ่านมา บริษัทโมเดิร์นนา ของสหรัฐ ทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 ได้ผลดีน่าพอใจ ซึ่งหากประสบความสำเร็จจะผลิตวัคซีนได้พันล้านโดสในปี 2564 โดยโมเดิร์นนา ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐระบุว่า การทดลองทางคลินิกขั้นต้นในการฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ให้กับผู้เข้าร่วมทดลองทั้งหมด 45 คน ให้ผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ
วัคซีนดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดการสร้างแอนติบอดีในผู้เข้าร่วมทดลองทั้ง 45 ราย ซึ่งเป็นอาสาสมัครที่มีสุขภาพแข็งแรงซึ่งมีอายุระหว่าง 18-55 ปี
เจ้าหน้าที่บริษัทโมเดิร์นนา เปิดเผยว่า ผู้เข้าร่วมทดลองวัคซีนดังกล่าวได้ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มได้รับวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 กลุ่มละ 25, 100 และ 250 ไมโครกรัม ซึ่งผลการทดลองบ่งชี้ว่า ระดับของแอนติบอดีในผู้เข้าร่วมการทดลองมีความคล้ายคลึง หรือมากกว่าระดับของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ซึ่งหายจากโรคดังกล่าวแล้ว
บริษัทจะดำเนินการทดลองเฟส 2 ต่อไป ซึ่งจะเป็นการทดลองวัคซีนกับอาสาสมัคร 600 คน หลังได้รับการอนุมัติจากสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ (เอฟดีเอ) ในเดือนที่ผ่านมา และคาดว่าจะเริ่มการทดลองเฟส 3 ในเดือน ก.ค. หากการทดลองเฟส 2 ได้ผลดี
นอกจากนี้ โมเดิร์นนา ยังระบุด้วยว่า หากการทดลองยืนยันว่าวัคซีนของบริษัทมีประสิทธิภาพและปลอดภัย บริษัทก็พร้อมที่จะจำหน่ายวัคซีนดังกล่าวเพื่อการใช้งานได้ภายในต้นปี 2564 และคาดว่า บริษัทจะสามารถผลิตวัคซีนดังกล่าวได้หลายล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ และอาจผลิตได้สูงถึงพันล้านโดสในปีหน้า
ส่วนความคืบหน้าในการพัฒนายารักษาโรคโควิด-19 ล่าสุด บริษัทฟูจิฟิล์ม โฮลดิ้งส์ คอร์ป ระบุว่า บริษัทจะเร่งผลิตยา Avigan ให้เพียงพอสำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 2 ล้านรายภายในเดือน มี.ค.2564 ซึ่งเป็นเป้าหมายตามที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดไว้
รัฐบาลญี่ปุ่น ตั้งงบประมาณพิเศษวงเงิน 1.39 หมื่นล้านเยน สำหรับปีงบประมาณ 2563 เพื่อเพิ่มการสำรองยา Avigan ขึ้นเป็น 3 เท่า เพื่อให้เพียงพอสำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 2 ล้านราย
แต่ ไดซูเกะ ทามูระ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์จิชิ ให้ความเห็นว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่ายา Avigan มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาโรคโควิด-19
“ยาดังกล่าวจะต้องได้รับการประเมินอย่างระมัดระวัง โดยอิงจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์” เขากล่าว
ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เขาหวังว่าจะมีการอนุมัติยา Avigan ในการรักษาโรคโควิด-19 ภายในสิ้นเดือนนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญแสดงความกังวลเกี่ยวกับการรีบอนุมัติยาดังกล่าว เนื่องจากมีผลข้างเคียงต่อตัวอ่อนในครรภ์ของผู้หญิง
ก่อนหน้านี้ มีการคาดการณ์กันว่า ญี่ปุ่นจะให้การอนุมัติให้มีการใช้ยา Avigan หรือที่รู้จักกันในชื่อ Favipiravir ซึ่งเป็นยารักษาไข้หวัดใหญ่ ในปลายเดือนนี้ เพื่อนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลังจากที่ญี่ปุ่นได้จัดส่งยาดังกล่าวฟรีให้แก่ 38 ประเทศเมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อใช้ในโครงการทดลองรักษาผู้ป่วยโควิด-19
ดร.ลาร์รี คอรีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนของศูนย์มะเร็งเฟรด ฮัทชินสันในซีแอตเทิล ซึ่งช่วยออกแบบการทดลองนี้เปิดเผยว่า อาจจะมีประชาชนราว 1-1.5 แสนคนเข้าร่วมในการทดลองนี้
ด้าน ดร.ฟรานซิส คอลลินส์ ผู้อำนวยการของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (เอ็นไอเอช) เปิดเผยว่า “หากไม่มีปัญหาด้านความปลอดภัย เราก็เพียงแต่เดินหน้าต่อไป”