ทำไม? 'เรียนออนไลน์ไทย' ไปไม่ถึงฝัน

ทำไม? 'เรียนออนไลน์ไทย' ไปไม่ถึงฝัน

สัปดาห์ของการทดลองเรียนออนไลน์ เพื่อไม่ให้นักเรียนขาดโอกาสการเรียนรู้ หลังจากประกาศเลื่อนเปิดเทอมไปวันที่ 1 ก.ค.2563 พบปัญหามากมาย โดยเฉพาะในส่วนของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่สพฐ.-ศธ. รับผิดชอบ

ปัญหาที่เกิดขึ้นในการเรียนออนไลน์เกิดขึ้น ตั้งแต่ สัญญาณสะดุด ค้นหาช่องไม่เจอ พ่อแม่ เด็กไม่มีอุปกรณ์ บ้านเด็กไม่มี Wifi ความเข้าใจระหว่างพ่อแม่กับข้อมูลที่ครูชี้แจงคลาดเคลื่อน เนื้อหามีข้อผิดพลาด ฯลฯ ร้อนถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง “กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)” ต้องรีบออกมาแถลงทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง

ทว่ายิ่งออกมาอธิบายถึงแนวทางการแก้ไขปัญหามากเท่าใด? กลับสะท้อนให้เห็นถึงการเตรียมพร้อมของระบบการเรียนออนไลน์ที่ยังไม่สมบูรณ์มากเท่านั้น เพราะต่อให้ยอมรับได้ว่าทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่ เป็นครั้งแรกของระบบการศึกษาไทยที่จัดทำขึ้นในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เสมือนสพฐ.จะไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างของครอบครัว ความเหลื่อมล้ำที่หยั่งรากลึกของสังคมไทย

159029897462

เพราะสภาพความเป็นจริงในโรงเรียนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานกว่า 30,000 โรง มีเด็กอยู่ในระบบเกือบ 7 ล้านคน แต่ละคนมาจากพื้นฐานครอบครัวแตกต่างกัน บางโรงเรียนเต็มไปด้วยเด็กที่มาจากครอบครัวที่พร้อมทุกอย่าง ขณะที่บางโรงเรียนต้องดูแลเด็กครอบครัวยากจน เด็กด้อยโอกาส เด็กห่างไกล เด็กในพื้นที่ทุรกันดาร

เมื่อต้องมาใช้ระบบการเรียนทางไกลผ่านดาวเทียมหรือ DLTV ของมูลนิธิทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ ถึงจะมีช่องทางในการเรียนทั้งทางทีวีดิจิทัล ช่อง 37-51 ,ทีวีดาวเทียม Ku-Band (จานทึบ) ช่อง 186-200,ทีวีดาวเทียม C-Band (จานโปร่ง) ช่อง 337-351 และเรียนทางออนไลน์ www.dltv.ac.th ,Youtube DLTV1 Channel ถึง DLTV15 Channel และทางมือถือ Application DLTV ก็ใช่ว่าเด็กทุกคนจะเข้าถึงระบบต่างๆ เหล่านี้ได้

จากการสำรวจครอบครัวของเด็กในสังกัดสพฐ.พบว่าบ้านของเด็ก 1.5 ล้านคน ไม่มีกล่องทีวีดิจิทัล ย้ำชัดว่าเด็กอีกจำนวนมากไม่พร้อมเรียนออนไลน์ และต่อให้สพฐ.มีการเตรียมการแก้ปัญหา โดยหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในการจัดหาแจกกล่องรับสัญญาณดิจิทัลให้แก่เด็ก ซึ่งกระทรวงดีอีเอส ได้รับปากจะจัดหากล่องรับสัญญาณดิจิทัลให้ถึง 2 ล้านกล่อง แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าของครอบครัวที่โชคดีได้รับแจกกล่องรับสัญญาณดิจิทัลแต่อย่างใด

159029897660

ก่อนจะมีการเรียนออนไลน์ ณัฎฐพล ทีปสุวรรณ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)” เชื่อว่าครัวเรือนทั่วประเทศไทย 90 % มีทีวี แล้วเด็กจะเรียนออนไลน์ผ่านทีวี แต่เมื่อมีการเรียนออนไลน์จริงๆ เด็ก 50 % ไม่ได้ใช้ทีวีในการเรียนรู้แต่เลือกใช้มือถือ สมาร์ทโฟน ในการดึงสัญญาณผ่านเว็บไซต์ของ DLTV หรือเรียนผ่าน YouTube ปัญหาที่ตามมา คือ ผู้ปกครองต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอินเตอร์เน็ตเพิ่มเข้ามาอีก

ปัญหาที่ตามมาก็คือแล้วพ่อแม่ผู้ปกครองที่หาเช้ากินค่ำ หรือได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สถานประกอบการปิดตัวลง ถูกเลิกจ้างงาน เงินเดือนเหลือเพียงครึ่งเดียว จะหาเงินจากไหนให้ลูกไปจ่ายค่าเน็ตเรียนออนไลน์

ว่ากันว่า ขณะนี้ ศธ.ได้หารือร่วมกับกระทรวงดีอีเอสเพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองในการจ่ายค่าบริการอินเตอร์เน็ต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องดังกล่าวต้องนำเข้าคณะรัฐมนตรี ศธ.และกระทรวงดีอีเอสพิจารณาทันทีไม่ได้ อย่างนี้ ได้แต่หวังว่าผู้ใหญ่ของบ้านเมืองจะรีบหารือรีบสรุป เพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครอง และเด็กไทยให้ได้โอกาสเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม

159029897478

ทุกคนต่างเข้าใจดีว่า “การเรียนออนไลน์” เรื่องใหม่แกะกล่องของไทย จนทำให้ปัญหาผุดขึ้นอย่างกับดอกเห็ด แม้ว่า “ศธ. และสพฐ.” ชี้แจงมาตลอดว่าได้วางแนวทางแก้ปัญหาไว้ทุกเรื่อง (ไม่ใช่ว่าเกิดปัญหาแล้วตามแก้) โดยล่าสุด สพฐ.ได้ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่ (สพท.)ทุกแห่งได้ลงพื้นที่ติดตามและสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ปกครองและนักเรียนถึงการเรียนผ่านระบบนี้ด้วย โดยจะต้องลงไปสำรวจเด็กเป็นรายบุคคลและรายโรงเรียนว่าปัญหาจากการทดสอบระบบเหล่านี้มีอะไรบ้าง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขให้มีความสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบการเรียนออนไลน์ให้สมบูรณ์เต็ม 100 ได้นั้นต้องเกิดการความร่วมมือ บูรณาการร่วมกันทุกฝ่าย ต้องอาศัยความร่วมมือของครู และพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ต้องทำงานประสาน สื่อสาร แลกเปลี่ยน ทำความเข้าใจระบบการเรียนออนไลน์ อันนำไปสู่การช่วยเหลือเด็ก ให้มากขึ้นกว่าการเรียนในห้องเรียนจริง บ้านกลายเป็นห้องเรียน พ่อแม่กลายเป็นครู ครูก็ต้องเป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือนักเรียนและพ่อแม่ในช่วงวิกฤตเช่นนี้

"การเรียนออนไลน์” ถึงจะเป็นเพียงการเตรียมความพร้อม หรือการปรับพื้นฐานไม่ใช่การเรียนปกติ ไม่มีผลต่อการประเมินเด็กใดๆ ทั้งสิ้น และเป็นเจตนาดีของ “ศธ.สพฐ. และทุกหน่วยงานในสังกัดของศธ.” ทีมีเป้าหมายชัดเจนส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนให้เกิดความต่อเนื่อง แต่ด้วยเงื่อนไข ข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น พื้นฐานของครอบครัวเด็กแตกต่างกัน ความหลากหลายของโรงเรียน ความพร้อมของครู เด็ก ผู้ปกครอง และบริบทในแต่ละพื้นที่ ทั้งในตัวเมืองและชนบท ส่งผลให้ความคาดหวัง ความฝันที่ตั้งไว้กับการเรียนออนไลน์ เพื่อช่วยเหลือเด็ก กลายเป็นช่องว่างระหว่างครอบครัวเด็กจนและเด็กรวยขยายวงกว้างเข้าไปอีก

159029907441

เห็นได้จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้ทำการสำรวจผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ด้านสังคมที่ได้ผ่านทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 13-19 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถาม 43,448 ราย พบว่า ร้อยละ 60 กังวลว่าบุตรหลานไม่พร้อมจะเรียนผ่านทางระบบออนไลน์ สาเหตุหลักที่สร้างความกังวล คือ ไม่มีคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค แท็บเลต รองลงมาคือ ผู้ปกครองไม่มีเวลาและไม่มีทักษะด้านไอทีในการช่วยเหลือบุตรหลานในการเรียนออนไลน์ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาคือ ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้งาน และเด็กไม่มีทักษะด้านไอที

คงเป็นบทเรียนที่ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องไปทำการบ้านอย่างหนัก ทบทวนว่าระบบการเรียนออนไลน์ของระบบการศึกษาไทยจะเดินหน้าไปอย่างไร รูปแบบไหนถึงจะเหมาะสมกับลักษณะการเรียนรู้ของเด็กไทยและบริบทของ ครอบครัวไทยอย่างไรถึงจะเหมาะสมมากที่สุด