'นายกฯ' ส่งทีมคุมการบินไทย ตั้ง 4 บอร์ดใหม่ 'ปิยสวัสดิ์-ไพรินทร์'

'นายกฯ' ส่งทีมคุมการบินไทย ตั้ง 4 บอร์ดใหม่ 'ปิยสวัสดิ์-ไพรินทร์'

“การบินไทย” ตั้งบอร์ดใหม่ 4 คน “ปิยสวัสดิ์ “ คัมแบกลุยแผนฟื้นฟู “วิษณุ” เคลียร์ “อุตตม-ศักดิ์สยาม” ปมกำกับการบินไทยหลังพ้นรัฐวิสาหกิจ เผยรอดูมติ ครม.วันนี้ “คมนาคม” ยอมถอยทัพโยนคลังเดินหน้าต่อในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่

หลังจากกระทรวงการคลังขายหุ้น บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ออกไป 3.17% เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้กระทรวงการคลังเหลือการถือหุ้น 47.86% และส่งผลให้การบินไทยพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายประมาณ 10 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.การพัฒนา การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ

และมาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งเป็นเหตุให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังพ้นหน้าจากการกำกับดูแล ในขณะที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติสัปดาห์ที่แล้วให้กระทรวงคมนาคมดูแลการยื่นฟื้นฟูกิจการของการบินไทย

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เข้าพบ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี วานนี้ (25 พ.ค.) เวลา 12.30 น.ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล ใช้เวลา 30 นาที เพื่อแก้ปัญหาการบินไทยให้เป็นตามมติ ครม. โดยนายศักดิ์สยามได้ออกจากที่ประชุมก่อนที่จะหารือเสร็จ

ในขณะที่เมื่อจบการหารือนายวิษณุและนายอุตตม ซึ่งนายอุตตมปฏิเสธที่จะตอบคำถามและมีท่าทางเคร่งเครียด และได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ตึกไทยคู่ฟ้า 1 ชั่วโมง

นายวิษณุ ตอบคำถามประเด็นต้องเสนอ ครม.วันนี้ (26 พ.ค.) เพื่อสรุปผู้ดูแลการฟื้นฟูกิจการระหว่างกระทรวงการคลังหรือกระทรวงคมนาคมหรือไม่ ว่า “เดี๋ยวรอดูก็แล้วกัน น่าจะมีอะไรบางอย่างออกมา”

รวมทั้งในการหารือนายกรัฐมนตรีไม่ได้กล่าวถึงกรอบเวลาตั้งคณะกรรมการการบินไทยชุดใหม่ โดยนายกรัฐมนตรีอาจไม่รู้รายละเอียดและไม่ได้ห่วงอะไร

“วิษณุ”ชี้ต้องเร่งยื่นศาลเร็วสุด

ส่วนประเด็นรายชื่อผู้จัดทำแผนฟื้นฟู นายวิษณุ กล่าวว่า “ไม่ต้องผ่านผม แต่ผมควรจะมีโอกาสรู้หรือได้เห็นรายชื่อ ทุกอย่างเดินหน้าไปได้แต่ให้ผมรู้หน่อย และผมไม่ใช่คนเลือกเพราะคนเลือก คือ เจ้าหนี้และลูกหนี้ แต่กรอบกำหนดที่จะยื่นต่อศาลควรจะเร็ว ยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะเจ้าหนี้อาจจะไม่รอเราก็ได้”

นายอุตตม กล่าวว่า ได้หารือเพื่อเดินหน้าการฟื้นฟูกิจการการบินไทย ซึ่งต้องทำแผนการฟื้นฟูกิจการยื่นศาลล้มละลาย โดยขณะนี้กระทรวงการคลังขายหุ้นการบินไทยออกไปเหลือต่ำกว่า 50% แล้ว จึงถือว่าการบินไทยไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ ซึ่งทำให้กระทรวงการคลังและคมนาคมไม่ใช่ผู้กำกับดูแล

ทั้งนี้ ในฐานะที่เป็นรัฐบาล ทั้ง 2 กระทรวงจะร่วมมือกันและไม่แยกว่าใครมีสิทธิดูแลกระบวนการฟื้นฟูกิจการมากกว่า ซึ่งเป็นการร่วมมือกันและไม่ต้องกังวลว่ากระทรวงการคลังกลับไปใช้วิธีการก่อนหน้านี้ คือ กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทยและเจรจาเจ้าหนี้นอกศาล เพราะผ่านกระบวนการจุดนั้นไปแล้ว

แหล่งข่าว กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ยังสับสนกระบวนการหลังกระทรวงการคลังขายหุ้นเพื่อปลดล็อกการบินไทยออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว ซึ่งจะต้องตั้งคณะกรรมการชุดใดก่อนระหว่างคณะกรรมการบอร์ดการบินไทย กับคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยการพิจารณาติดขัดจุดนี้และกำลังหาทางร่วมกันทั้ง 2 กระทรวง

“คมนาคม”ถอยทัพคุมฟื้นฟู

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมไม่มีอำนาจเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการเพราะการบินไทยพ้นจากรัฐวิสาหกิจแล้ว ดังนั้นหลังจากนี้เป็นเรื่องของกระทรวงการคลัง

ส่วนการเสนอรายชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการมาให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อนเสนอ ครม.จะดูไปมติ ครม.ครั้งก่อน ว่า เมื่อการบินไทยเป็นบริษัทเอกชนแล้ว กระทรวงคมนาคมจะเข้าเกี่ยวข้องส่วนใดได้ เช่นเดียวกับการร่วมกระบวนการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการที่หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ดังนั้นเรื่องนี้ขอให้ถามที่กระทรวงการคลัง

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมหมดหน้าที่ในการกำกับดูแลการบินไทยแล้ว รวมทั้งไม่มีสิทธิใดในการเข้าไปจัดตั้งคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ เพราะเป็นหน้าที่ของผู้ถือหุ้นที่เป็นกระทรวงการคลัง

“ถ้าผู้ถือหุ้นไม่มอบอำนาจมาเราก็ไม่สิทธิเข้าไป ผมก็ได้หารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว ว่าตอนนี้เราต้องถอยก่อนเพราะไม่มีหน้าที่แล้ว”

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย มาช่วยกำกับดูแลแผนฟื้นฟูการบินไทยร่วมกับกระทรวงการคลัง ดังนั้นทิศทางของแผนฟื้นฟูกิจการหลังจากนี้ขึ้นกับรองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ส่วนกรณีจะให้กระทรวงคมนาคมเข้าไปช่วยหรือไม่ ขึ้นกับผู้ถือหุ้น ซึ่งอาจมีหนังสือมอบอำนาจให้กระทรวงคมนาคมไปช่วยก็ได้

การบินไทยตั้งบอร์ดใหม่ 4 คน

วานนี้ (25 พ.ค.) การบินไทย แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการตั้งกรรมการบริษัทใหม่ 4 คน ประกอบด้วย 

1.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นกรรมการแทน นายปิติพันธ์ เทพปฏิมากรณ์ 

2.บุญทักษ์ หวังเจริญ เป็นกรรมการแทน นายพินิจ พัวพันธ์

3.นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นกรรมการแทน นางปราถนา มงคลกุล 

4.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นกรรมการแทน นางสาว ศิริกุล เลากัยภัย โดยมีผลทันทีวานนี้ (25 พ.ค.)

สำหรับคณะกรรมการการบินไทยใหม่ทั้ง 4 คน เป็นบุคคลที่ใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ มีสายสัมพันธ์ที่ดีและเป็นที่ไว้ใจวางใจบอร์ด 4 คนดังกล่าว ยังมีประวัติการทำงานและประสบการณ์บริหารงานระดับสูง เริ่มจาก นายพีระพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อ​ไวรัสโคโรนา​ 2019 นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวตัวเต็งเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐคนใหม่

นายบุญทักษ์ ที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจและการลงทุน อดีตนายกสมาคมธนาคารไทย ซีอีโอแบงก์ทหารไทย นายบุญทักษ์สนิทสนมกับนายกฯ เมื่อครั้งเป็นฝ่ายบริหารธนาคารทหารไทย โดยมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นกรรมการธนาคารฯ

ต่อมา นายไพรินทร์ ที่ปรีกษานายกฯ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาล คสช. อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ขณะที่ นายปิยะสวัสดิ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานบอร์ด ปตท. เมื่อครั้ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำรัฐบาล คสช.และนายปิยะสวัสดิ์ยังเป็น 1 ใน คณะกรรมการซุปเปอร์บอร์ดเมื่อครั้งรัฐบาล คสช. โดยได้รับการแต่งตั้งให้ทำงานด้านปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจ