'อนุทิน' แจงสภา แบ่งงบ 'เงินกู้' เพื่อพัฒนาวัคซีน

'อนุทิน' แจงสภา แบ่งงบ 'เงินกู้' เพื่อพัฒนาวัคซีน

"อนุทิน" ชี้แจงต่อสภาฯ แบ่งงบ "เงินกู้" เพื่อพัฒนาวัคซีน ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แก้โควิดรอบสุดท้ายแล้ว-มั่นใจมาตรการ สธ. การ์ดไม่ตก

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 63 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างการพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท โดยยืนยันถึงการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขต่อการป้องกันและเฝ้าระวังการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาว่าอยู่สูงกว่ามาตรฐานขององค์กรอนามัยโลก แต่ก่อนหน้านี้แม้จะมีมาตรการป้องกันที่หลุดบ้าง เช่น สนามมวย แต่สามารถติดตามผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษา และขยายผลด้านการป้องกันได้

ส่วนกรณีที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงรับเชื้อในประเทศมากขึ้นเพราะยอมให้กลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเข้าพื้นที่ ยอมรับว่าเป็นเพียงช่วงแรก แต่หลังจากนั้น 2-3 สัปดาห์สามารถควบคุมได้ และลดการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศ อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าที่มีผู้ติดเชื้อมาจากต่างประเทศนั้น เพราะเป็นคนไทยยที่เดินทางเข้าประเทศและเป็นผู้ติดเชื้อ ทั้งนี้ ทางกระทรวงมีมาตรการตรวจรักษา กักกันตัว ทำให้การควบคุมปัจจุบันมีประสิทธิภาพ

“ที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะมีการระบาดเพิ่มขึ้นรอบที่ 2 นั้น ยอมรับว่าเกิดขึ้นได้ แต่กระทรวงไม่ได้ประมาท พร้อมดูแล ขณะเดียวกันพวกเราทุกคนเป็นหนี้ของกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข ดังนั้น ถึงเวลาตอบแทน โดยผมขอความสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎร ในข้อเสนอเพื่อจ่ายค่าตอบแทนให้กับกลุ่มคนดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ผมขอให้มั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขการ์ดไม่ตก และขอให้ประชาชนตั้งการ์ดสูงไว้ตลอดเวลาร่วมกัน เพราะศัตรูของเราคือ ไวรัสโควิด-19”  นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน ชี้แจงด้วยว่า สำหรับการใช้เงินกู้ ส่วนของงานด้านสาธารณสุข วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท นั้น จะจัดสรรงบส่วนหนึ่งให้กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อค้นหา ทดลองวัคซีนให้ได้ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นแชมป์สาธารณสุข และเป็นผู้นำสาธารณสุขอย่างแท้จริง ซึ่งการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน นั้น ตนย้ำว่าเงินทุกบาท ห้ามใช้ในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์หรือใช้แล้วทิ้ง แต่ต้องนำไปพัฒนานวัตกรรม​​ องค์ความรู้ เครื่องมือแพทย์ โดยประเทศไทยไม่มีวันที่แพทย์จะตัดสินใจว่า คนนี้จะอยู่หรืออยู่ไม่ได้ ดังนั้นต้องทำให้มีควาพมร้อม ทั้งเครื่องมือ เวชภัณฑ์ เทคโนโลยี และความเก่งของแพทย์ ​พยายาบาล เภสัชกร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อให้ประเทศไทยน็อคเอาท์ไวรัสโควิด-19 ให้ได้

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า สำหรับการบังคับใช้ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่เตรียมประกาศใช้ในเดือนที่ 3 นั้น เพื่อให้เหมาะสมกับมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 ทั้งนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ใช้ขณะนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยมีมติให้ใช้แค่ 3 เดือน แต่ต้องต่อทุกเดือน ดังนั้นรอบนี้ถือว่าครบแล้ว และประเทศไทยพร้อมเดินออกจากมาตรการดังกล่าว แต่การบริการ การดูแล และรักษาป้องกันไม่ให้ไวรัสโควิด-19 กลับมานั้น ตนมั่นใจว่าสิ่งที่สูญเสียวันนี้ จะได้รับกลับคืนมาได้ และคืนมาได้อย่างมากด้วย