ศบค.มท. กำชับทุกจังหวัดจัดระเบียบแหล่งท่องเที่ยวชายหาด

ศบค.มท. กำชับทุกจังหวัดจัดระเบียบแหล่งท่องเที่ยวชายหาด

ศบค.มท. กำชับทุกจังหวัดจัดระเบียบแหล่งท่องเที่ยวชายหาด บาทวิถี ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19


.
วันนี้ (6 มิ.ย.63) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 1 พ.ค. 2563 ฉบับที่ 7 ลงวันที่ 15 พ.ค. 2563 และฉบับที่ 9 ลงวันที่ 29 พ.ค. 2563 ซึ่งได้มีการผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน อาทิ กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต และกิจกรรมด้านการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพหรือสันทนาการ ซึ่ง ศบค.มท. พิจารณาแล้วเห็นว่าการผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมข้างต้นอาจทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายและการรวมตัวของประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้




  1. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับให้จังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งชายหาด ให้ควบคุมจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมมิให้แออัด หรือลดเวลาในการทำกิจกรรมให้สั้นลงเท่าที่จำเป็น โดยถือหลักการหลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน และให้นำมาตรการป้องกันโรคตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ข้อ 11 มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับพื้นที่ ประเภทกิจกรรม และสถานการณ์ที่เป็นอยู่จริง

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ดำเนินการจัดระเบียบสังคมในพื้นที่สาธารณะริมบาทวิถีและพื้นที่ชายหาด 4 ด้าน คือ

1) เชิงพื้นที่ ในบริเวณพื้นที่สาธารณะริมบาทวิถี ให้พิจารณาแบ่งสัดส่วนการใช้พื้นที่ให้เหมาะสม ให้ผู้ประกอบการสามารถค้าขายได้อย่างถูกสุขลักษณะ ผู้สัญจรเดินไปมาบนบาทวิถีสามารถใช้พื้นที่ได้อย่างสะดวกสบาย ปลอดภัย ไม่กีดขวางการจราจร และไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญผู้อยู่อาศัยบริเวณนั้น ๆ และในพื้นที่ชายหาด ให้พิจารณาแบ่งการใช้พื้นที่เป็นสัดส่วน สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ผู้ประกอบการต่าง ๆ เช่น การขายอาหาร ให้เช่าเก้าอี้ หรือเครื่องเล่นต่าง ๆ สามารถประกอบการได้ตามมาตรการที่กำหนด

2) เชิงกฎหมาย การอนุญาตอนุมัติให้ดำเนินการใด ๆ ในพื้นที่สาธารณะต้องเป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย

3) เชิงเศรษฐกิจ การดำเนินการจัดระเบียบสังคมในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง นอกจากเน้นมิติด้านความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความปลอดภัยแล้ว ให้พิจารณามิติด้านเศรษฐกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบ และ

4) เชิงผู้ได้รับผลกระทบ การจัดระเบียบในที่สาธารณะให้ดำเนินการภายใต้อนุกรรมการการบรรเทาผลกระทบจากการจัดระเบียบสังคมระดับจังหวัด

โดยแต่งตั้งผู้แทนผู้ค้าในบริเวณที่ได้รับผลกระทบและผู้แทนประชาคมในพื้นที่เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณากับคณะอนุกรรมการด้วย