‘Travel Bubble’ คืออะไร ประเทศไหนทำแล้วบ้าง?

‘Travel Bubble’ คืออะไร ประเทศไหนทำแล้วบ้าง?

ขณะนี้รัฐบาลหลายประเทศในเอเชีย รวมถึงไทย กำลังหาทางเปิด “ระเบียงท่องเที่ยว” หรือ “Travel Bubble” เทรนด์ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่อาจดีกว่าฟรีวีซ่า (Free Visa) เพื่อเปิดให้มีการเดินทางที่จำเป็นและช่วยฟื้นเศรษฐกิจที่เจอผลกระทบหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19

แนวคิด Travel Bubble เริ่มได้รับความสนใจจากนักเดินทางชาวไทย เมื่อรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เผยเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า มีแผนเปิดระเบียงท่องเที่ยว หรือ Travel Bubble ผ่านข้อตกลงทวิภาคีกับประเทศอื่น ๆ ตามรอยออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน และบางประเทศในยุโรป

เดือนที่แล้ว เว็บไซต์ CNN รายงานว่า ไทยเตรียมทำรีสอร์ตพิเศษเป็นเขตกักกันสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศ และกำลังพิจารณาเปิดบางพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เท่ากับว่า นักท่องเที่ยวต้องถูกกักไว้ในที่เดียวกัน เช่น เกาะ ไปโดยปริยาย

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่า แผนนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับนักท่องเที่ยวและชาวบ้านในท้องที่

CNN ระบุว่า ความน่าสนใจอยู่ที่ระเบียบในการกักตัว เช่น หากชาวออสเตรเลียมาเที่ยวไทยแล้วต้องถูกกักตัว 2 สัปดาห์ ตอนกลับประเทศก็อาจจะไม่อยากมาเที่ยวไทยอีก

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า รัฐบาลไทยจะทำข้อตกลงนี้กับประเทศใดบ้าง และจะเปิดพื้นที่ใดในประเทศรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่คาดว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง หรือประมาณปลายปีนี้

 

  • Travel Bubble คืออะไร

ก่อนจะไปดูโมเดลระเบียงท่องเที่ยวในต่างประเทศ อันดับแรกมาทำความเข้าใจกับคำว่า Travel Bubble ว่าหมายถึงอะไรกันแน่ และที่หลายคนมองว่าแผนนี้ดีกว่าการให้ฟรีวีซ่านั้นจริงหรือไม่

Travel Bubble คือ การเปิดท่องเที่ยวแบบจับคู่เดินทางเฉพาะประเทศที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างเช่น ในเดือนที่แล้ว ออสเตรเลียทำข้อตกลงจับคู่เดินทางกับนิวซีแลนด์ ที่ประชากรของทั้งสองประเทศสามารถเดินทางไปมาหากันได้โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน หรืออาจมีเงื่อนไขอื่นขึ้นอยู่กับข้อตกลง เช่น ต้องมีใบรับรองผลตรวจโรคโควิด-19 เป็นลบมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ในสนามบินปลายทาง เป็นต้น

ส่วนประเทศหรือพื้นที่อื่นที่ไม่ได้ทำข้อตกลงด้วยก็ยังห้ามเดินทางเข้าออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ตามเดิม หรือจนกว่าจะมีประกาศหรือข้อตกลงอื่น ๆ เพิ่มเติม

แผนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งประเทศที่จับคู่เดินทางกันในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว เศรษฐกิจการค้า รวมถึงด้านการขนส่ง อย่างน้อยก็ช่วยฟื้นการท่องเที่ยวท้องถิ่นได้บ้าง ในขณะที่นักเดินทางจากชาติอื่น ๆ ยังไม่กล้าไปเที่ยวในต่างแดนช่วงที่ไวรัสระบาดอยู่

นอกจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์แล้ว 3 ประเทศริมทะเลบอลติกในยุโรป ได้แก่ เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย ประกาศเปิดให้พลเมืองใน 3 ประเทศเดินทางไปมาหาสู่กันได้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. เพราะประเทศส่วนใหญ่ไม่สามารถปิดประเทศได้นาน ๆ ต่อไปทุกประเทศต้องทำ Travel Bubble ของตัวเองไม่ช้าก็เร็ว

159163321416

ระเบียงท่องเที่ยวกำลังกลายเป็น “ความหวัง” ที่หลายฝ่ายคาดว่าน่าจะตอบโจทย์การฟื้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ได้ดีกว่าการให้ฟรีวีซ่า หลังได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ก็อาจต้องใช้เวลาพักใหญ่กว่าจะเห็นผล

บรรดาผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า แม้จะทำโครงการนำร่องใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าการเดินทางจะกลับไปเหมือนช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 และแม้การเดินทางกลับไปเป็นเหมือนก่อนเกิดการระบาดได้จริง แต่การเดินทางอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

  • Fast Lane “สิงคโปร์-จีน”

อย่างไรก็ตาม Travel Bubble ไม่ใช่ศัพท์ใหม่ ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวจะรู้จักกับคำว่า “ระเบียงท่องเที่ยว” บางคนอาจได้ยินคำว่า Green Zones, Air Bridges หรือ Green Lanes และล่าสุดคือคำว่า Fast Lane หรือ “ช่องทางด่วน” ที่ใช้กันระหว่างสิงคโปร์กับจีน

นับตั้งแต่วันจันทร์ที่ 8 มิ.ย. พลเมืองจากสิงคโปร์ และเทศบาลนครและมณฑล 6 แห่งของจีน ได้แก่ นครเซี่ยงไฮ้ เทศบาลนครเทียนจิน เทศบาลนครฉงชิ่ง และมณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจียงซู และมณฑลเจ้อเจียง สามารถเดินทางไป “ทำธุรกิจที่จำเป็น” หรือเดินทาง “ไปราชการ” ได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการกักตัว 14 วัน ส่วนนักท่องเที่ยวทั่วไปยังคงห้ามเดินทาง

หมายความว่า อนุญาตเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจหรือเจ้าหน้าที่รัฐในสิงคโปร์และ 6 พื้นที่ดังกล่าวในจีนเท่านั้น ดังนั้น ชาวจีนที่จะเดินทางเข้าสิงคโปร์ต้องมีหนังสือเชิญจากบริษัทในสิงคโปร์ รายละเอียดการเดินทาง และมีผลตรวจเชื้อโควิดล่วงหน้า 48 ชั่วโมง

ข้อตกลงเปิด “ช่องทางด่วน” (Fast Lane) สิงคโปร์-จีน สอดคล้องกับแผนของรัฐบาลสิงคโปร์ที่จะทยอยเปิดพรมแดนอีกครั้งเพื่อรับการเดินทางสำหรับธุรกิจสำคัญ แต่ยังคงมาตรการความปลอดภัยที่จำเป็นเอาไว้เพื่อรับประกันเรื่องสุขภาพของประชาชน

 

  • โมเดลจับคู่ประเทศอื่น

ก่อนหน้านี้ สิงคโปร์เริ่มจับคู่เดินทางกับออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ และกำลังเจรจาข้อตกลงลักษณะเดียวกันกับ เกาหลีใต้ และมาเลเซีย

ขณะที่จีนจับคู่เดินทางกับเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า โดยผู้ถือหนังสือเดินทางจากกลุ่มประเทศหรือดินแดนที่จีนจับคู่เดินทางสามารถเดินทางได้ภายใน 10 ภูมิภาคของจีน นอกจากนั้นอาจมีการเจรจาเพิ่มเติมกับ ญี่ปุ่น มัลดีฟส์ และยุโรปด้วย

เช่นเดียวกับ ญี่ปุ่นเตรียมจับคู่เดินทางกับไทย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และเวียดนาม โดยอาจกำหนดให้ผู้ถือหนังสือเดินทางจาก 4 ประเทศนี้แสดงใบรับรองสุขภาพว่าปลอดเชื้อโควิด และเมื่อเดินทางถึงญี่ปุ่นต้องตรวจโควิดอีกรอบที่สนามบิน แต่ไม่ต้องกักตัว 14 วัน

สำหรับแผนของญี่ปุ่นในช่วงแรกจะเปิดให้กลุ่มนักธุรกิจเดินทางก่อน คาดว่าจะเริ่มในเดือน ก.ค.นี้

ส่วนในยุโรป อิตาลีเป็นประเทศแรกในทวีปที่เปิดพรมแดนเต็มที่ เพราะต้องการฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ได้เร็วที่สุด โดยไม่มีการกักตัว 14 วัน ขณะที่เบลเยียมจะเปิดพรมแดนและจับคู่เดินทางกับผู้เดินทางมาจากสหภาพยุโรป (EU) รวมทั้งอังกฤษ และเขตการเดินทางปลอดหนังสือเดินทางจากยุโรป

159163317269

ขณะเดียวกัน พี่ใหญ่เศรษฐกิจยุโรปอย่างเยอรมนีก็มีแผนจับคู่เดินทางกับเพื่อนบ้าน เช่น ฝรั่งเศส ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์

กลุ่มสแกนดิเนเวียอย่างนอร์เวย์ และเดนมาร์ก เริ่มเปิด Travel Bubble กันเองแล้ว หวังฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เร็วที่สุด ส่วนฟินแลนด์ยังไม่ร่วมทำข้อตกลง เพราะรอให้ประเทศแถบยุโรปเหนือผ่อนคลายเรื่องการเดินทางให้ครบทุกประเทศ

ขณะนี้ยังเหลือเพียงสวีเดนที่ไม่มีเพื่อนบ้านกล้าจับคู่ด้วย เนื่องจากยังมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง เพราะจัดการสถานการณ์โควิด-19 แบบภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity)

ที่ผ่านมา รัฐบาลสวีเดนอนุญาตให้ร้านอาหาร ร้านค้า และห้างสรรพสินค้าเปิดบริการตามปกติ และยังไม่เคยสั่งล็อคดาวน์ ทำให้ขณะนี้ สวีเดนเป็นประเทศที่มียอดผู้ป่วยโควิดสูงที่สุดในกลุ่มสแกนดิเนเวียอยู่ที่กว่า 45,000 คน (นับถึง 8 มิ.ย.)

 

  • พฤติกรรมนักเดินทางเปลี่ยน

นอกจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวของประเทศที่อยู่ใกล้กันแล้ว ยังทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปด้วย

ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ การเที่ยวบนเรือสำราญ ไปรีสอร์ตสกี หรือการบินในเที่ยวบินยาว ๆ ล้วนเป็นสุดยอดความปรารถนาของผู้บริโภค แต่หลังจากเกิดการระบาด ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะนิยมไปเที่ยวที่ใกล้ ๆ ไม่ต้องใช้เวลาในการเดินทางมากนัก

ขณะเดียวกัน การฟื้นคืนความเชื่อมั่นของนักเดินทางอาจยังต้องใช้เวลา ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ด้วย

ผลสำรวจของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุว่า นักเดินทาง 60% บอกว่าจะจองตั๋วหลังควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้แล้ว 2 เดือน และ 40% บอกว่าจะรออย่างน้อย 6 เดือน

---------------------------------------------------------

ที่มา: China Daily, Nikkei, Baltic News Network, Smithsonian Mag, NZ Herald, NY Times