ยันวันนี้รู้ผลเงินเยียวยา 'อสมท'
บอร์ดกสทช.นัดประชุมเคาะลงมติชี้ขาด
ดังนั้น จึงคาดว่าที่ประชุม กสทช. ในวันนี้ (10 มิ.ย.) เวลา 13.00 น.นี้ จะได้ข้อยุติตามแนวทางที่ อสมท เสนอ แต่ขอไม่เปิดเผยรายละเอียด เพราะเชื่อว่า อสมท ย่อมรักษาผลประโยชน์ขององค์กรมากที่สุด ซึ่งถ้าไม่เหมาะสมตามสัญญาระหว่าง อสมท และคู่สัญญา ก็ให้ฟ้องร้องกันเอง ถือว่า กสทช. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
เขา กล่าวว่า สำหรับกรอบวงเงินเยียวยาจากการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จะพิจารณาตามระยะเวลาการถือครองคลื่นความถี่ แบ่งเป็น ระยะเวลา 3 ปี, 6 ปี 5 เดือน และ 8 ปี 6 เดือน ซึ่งคาดว่า ที่ประชุม กสทช. จะมีมติเป็นเอกฉันท์ โดยได้รับความเห็นชอบจากกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด โดยปัจจุบันมี กสทช. ปฏิบัติหน้าที่รวม 6 คน ดังนั้น จึงต้องมีอย่างน้อย 3 เสียง ทั้งนี้ หากที่ประชุมมีมติ 3 ต่อ 3 เสียง ตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 ระบุว่า ประธาน กสทช. สามารถออกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาดได้
“มั่นใจว่าครั้งนี้ต้องจบ เพราะถ้าไม่จบตอนนี้ ผมพ้นวาระไปเรื่องก็จะไม่จบ ซึ่งจะพิจารณาตามที่ อสมท เสนอ ดังนั้น หากมีข้อได้เปรียบ หรือเสียเปรียบอย่างไร ให้ฟ้องร้องกันเอง กสทช. ไม่รู้รายละเอียดในสัญญา ไม่เกี่ยวข้อง อย่ามาฟ้อง กสทช.” นายฐากร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2563 ไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากกรรมการ กสทช. มีมติ 2 ต่อ 2 เสียง ทั้งในเรื่องกรอบวงเงินและการแบ่งสัดส่วนเงินเยียวยา โดย พ.อ.นที สุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ขอถอนตัวออกจากที่ประชุม ขณะที่ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ขอไม่ลงมติ
อีกทั้ง ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมบอร์ดกสทช.มีมติเห็นชอบในวิธีการคิดกรณีที่ดีที่สุด ตามผลการศึกษาเพิ่มเติ่มของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการประเมินมูลค่าคลื่นจ่ายเยียวยาคลื่น 2600 โดยมีการสรุปแล้ว 3 แนวทาง บนพื้นฐานระยะเวลาครองคลื่นความถี่ 15 ปี ประกอบด้วย แนวทางที่ 1 กรณีเลวร้ายที่สุดวงเงินเยียวยาอยู่ที่ 1,573.4 ล้านบาท แนวทางที่ 2 กรณีพื้นฐานวงเงินเยียวยาอยู่ที่ 3,809.8 ล้านบาท และแนวทางที่ 3 กรณีที่ดีที่สุดวงเงินเยียวยาอยู่ที่ 6,685.1 ล้านบาท