โควิดหนุน ‘ช้อปออนไลน์’ ฮิตทั่วอาเซียน
ผลวิจัยล่าสุดชี้ นักช้อปชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มซื้อของกินของใช้และสินค้าจำเป็นอื่นๆ ทางออนไลน์ต่อไป แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าจะยุติลง
ผลวิจัยจากบริษัทที่ปรึกษา “เบนแอนด์คัมพะนี” และเฟซบุ๊ค เผยว่า กระแสอีคอมเมิร์ซและดิจิทัลมาแรงทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แรงหนุนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่วานนี้ (9 มิ.ย.) มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 7 ล้านคน
ประณีต เยนดามุรี หุ้นส่วนเบนแอนด์คัมพะนี จากสิงคโปร์ เผยกับเว็บไซต์ซีเอ็นบีซีว่า เทรนด์การซื้อสิ่งของจำเป็นผ่านทางออนไลน์จะดำรงอยู่ต่อไป การซื้อขายของกินของใช้ออนไลน์เป็นภาคส่วนใหญ่ที่ยังไม่ถูกเจาะ ด้วยเหตุผลด้านโลจิสติกส์และอื่นๆ แต่ช่วงไวรัสระบาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคส่วนนี้โตขึ้นเกือบ 3 เท่า ผู้ใช้ 1 ใน 3 ที่ให้ข้อมูลกล่าวว่า พวกเขามีแผนซื้อของชำผ่านอินเทอร์เน็ตต่อไป
ทั้งนี้ การใช้จ่ายซื้อของกินของใช้โดยรวมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ราว 3.5 แสนล้านดอลลาร์ โดยยอดซื้อออนไลน์คิดเป็นเพียงสัดส่วนเล็กๆ ของมูลค่าทั้งหมด แต่ก็เติบโตขึ้นมาก
เมื่อเร็วๆ นี้ลาซาด้าของอาลีบาบา ที่ปฏิบัติการทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผยกับซีเอ็นบีซีว่า ยอดขายในสิงคโปร์พุ่งขึ้น 4 เท่าตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. หรือตั้งแต่สิงคโปร์เริ่มใช้มาตรการควบคุมการเดินทาง เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาพุ่งขึ้นทุกขณะ
เศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำคัญมากต่อหลายๆ บริษัท งานวิจัยจากกูเกิล เทมาเส็ก และเบน คาดว่าภายในปี 2568 เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคจะเติบโตถึงระดับ 3 แสนล้านดอลลาร์ โดยมีอีคอมเมิร์ซและบริการเรียกรถเป็นตัวขับเคลื่อน พร้อมทั้งได้การชำระเงินผ่านดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นเป็นตัวหนุน ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้เฟซบุ๊คเพิ่งลงทุนด้วยเม็ดเงินไม่เปิดเผยในโกเจ็ก บริษัทเรียกรถร่วมโดยสารของอินโดนีเซีย
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประชากรกว่า 600 ล้านคน ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าสู่โลกออนไลน์ แต่ความหนาแน่นในการใช้สมาร์ทโฟน รวมถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ดีขึ้น ทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว กลายเป็นลูกค้าทำเงินของบริษัทเทคโนโลยีอย่างเฟซบุ๊ค
เยนดามุรีกล่าวด้วยว่า เทรนด์อื่นที่จะอยู่ต่อไปคือ การใช้แอพใหม่ๆ ในสาขาดิจิทัล โซเชียลคอมเมิร์ซ และวิดีโอสตรีมมิง ที่รวมถึงแอพชำระเงินและกระเป๋าเงินดิจิทัล เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคชำระเงินแบบไร้สัมผัส เหมาะสำหรับคนที่ยังระวังตัวหลังประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
และแม้แต่เมื่อประเทศเปิดเศรษฐกิจเต็มที่แล้วก็ตาม ประชาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยากออกไปข้างนอกน้อยกว่าชาวอเมริกัน 1.5 เท่า ซึ่งนี่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่ในอาเซียน
นอกจากนี้เทเลเมดิซีนและบริการดูแลสุขภาพผ่านดิจิทัล ก็คาดว่ายังเป็นที่ต้องการอยู่เช่นเดียวกัน จึงเป็นโอกาสสำหรับบริษัทและนักลงทุนที่จะทำงานจากเทรนด์นี้
“ผู้บริโภคหลายคนใช้บริการเหล่านี้แล้วพบว่า คุณภาพและระดับการให้บริการตรวจร่างกายและปรึกษาแพทย์แบบเสมือนจริงๆ นั้นได้ผลจริง” เยนดามุรีกล่าว
รายงานจากเบนและเฟซบุ๊คฉบับนี้ใช้ข้อมูลการสำรวจจากยูกัฟประจำเดือน เม.ย. สำรวจจากเขตเศรษฐกิจใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้นำภาคธุรกิจและนักธุรกิจร่วมทุนในภูมิภาค