พฤติกรรม 'การใช้สื่อ' ของ 'คนไทย' หลังโควิด –19
เมื่อวิกฤติโควิด-19 พัดผ่านมา กลับกลายให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนสู่ New Normal หรือโลกใหม่ในใบเดิม เช่นเดียวกับพฤติกรรมในการเสพสื่อที่เปลี่ยนไปด้วย จึงอาจทำให้เห็นภาพของผู้บริโภคหันไปสนใจ Virtual Event หรือ Live Stream ต่างๆ รวมถึงสื่อออนไลน์มากขึ้น
โควิด-19 เปลี่ยนแปลงชีวิตทุกคน เราก้าวสู่โลกใบใหม่พร้อมกับสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย กลายมาเป็นชีวิตประจำวัน ฉบับนี้จะขอพูดถึงความรู้สึก และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีผลต่อการเสพสื่อที่เปลี่ยนไป
New normal อีกอย่างหนึ่ง คือ การที่คนมีความสุขกับการอยู่บ้านมากขึ้น ขณะนี้คนไทยมีมุมมองเรื่องความสุขเปลี่ยนไป พวกเขาจะให้ความสำคัญกับความสุขเล็กๆ ใกล้ตัว แต่มีคุณค่าและความลึกซึ้งทางจิตใจ จากการศึกษาของเราพบว่า คนส่วนใหญ่อยากทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว เพื่อน และเป็นกิจกรรมภายในบ้าน มากกว่าการออกไปท่องเที่ยวเดินทาง ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นแล้วก็ตาม
เมื่อคนอยู่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้การใช้สื่อมากขึ้น โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ที่เราเห็นการเติบโตอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการใช้อินเตอร์เน็ต 75% ของผู้บริโภค บอกว่าพวกเขาใช้ Internet surfing มากขึ้น ขณะที่ 71% บอกว่าพวกเขาดู VDO Online มากขึ้น (Kantar Thailand, ปี 2563) นอกจากนี้เรายังพบว่า พวกเขาใช้ Social network, email และ Podcast/streaming music มากขึ้นอีกด้วย
ในช่วงของการระบาดของโควิด-19 มีการดูทีวีมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงแรกๆ ของการแพร่ระบาด ทั้งนี้เป็นเพราะผู้บริโภคต้องการแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ทันต่อเหตุการณ์ แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มมีเสธียรภาพ การดูทีวีอาจลดลงเล็กน้อย เนื่องจากผู้บริโภคต้องการความหลากหลายของ Content ด้านความบันเทิง จึงให้ความสนใจกับเนื้อหาในออนไลน์มากขึ้น
นอกจากนี้แต่ละคนมีเวลาการดู Content ต่างๆ ไม่เหมือนกัน มี Personal Prime time ที่ไม่ตรงกัน จึงมองหาความยืดหยุ่น และ On-demand content มากกว่า หลายคนจะดูเนื้อหาของทีวีย้อนหลัง จึงมีการร่วมมือของแบรนด์ต่างๆ
เช่น Content ของช่องทีวี สามารถไปดูได้ใน Streaming service เช่น Netflix เป็นต้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเช่นนี้ ในส่วนของ Social Media Platform ผู้บริโภคใช้เวลามากขึ้นกับ Platform หลักๆ เช่น YouTube, Facebook, Instagram และ Twitter
Platform ตัวเลือกใหม่ อย่างเช่น Tik Tok ก็มีการใช้เพิ่มมากขึ้น เหตุผลที่ได้รับความนิยม เป็นเพราะสามารถดึงดูดความสนใจให้คนเข้ามามีส่วนร่วม สร้างเป็น Sub-community เกิดขึ้น มีลูกเล่นที่ดึงดูดใจ ให้คนสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง รวมถึงสร้างความท้าทายต่างๆ ซึ่งเป็นการช่วยให้คนสามารถสร้างความเชื่อมโยงอย่างสนุกสนานกับคนอื่นๆ ได้ดีอีกด้วย
โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้คนไทยปรับตัวรับ digital lifestyle อย่างรวดเร็วและกว้างขวางมากขึ้น จนกลายเป็นรูปแบบการใช้สื่อแบบใหม่
สื่อออนไลน์ตอบโจทย์ได้หลากหลาย ทั้งข่าว อัพเดทข้อมูล บันเทิง และการช็อปปิ้ง จึงกลายมาเป็นสื่อกระแสหลักของคนหนุ่มสาว และคนในเมือง แต่สื่อทีวี ยังมีอิทธิพลอย่างมากอยู่ โดยเฉพาะกับพื้นที่ต่างจังหวัด และกลุ่มคนสูงอายุ แบรนด์จึงควรเลือกผสมผสานสื่อให้เหมาะสมกับพฤติกรรม และความต้องการของผู้คนมากกว่าการเลือกสื่อใดสื่อหนึ่งเพียงอย่างเดียว