แบงก์หนุน ‘บริษัทญี่ปุ่น’ ขยายธุรกิจ ‘จีน-เวียดนาม’
ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาคของญี่ปุ่นปรับตัวเน้นให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่บรรดาผู้ประกอบการชั้นนำในประเทศขยายธุรกิจให้ครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชีย ผ่านการเป็นหุ้นส่วนและตั้งสำนักงานใน 20 ประเทศ รวมทั้งในจีนและเวียดนาม
ยามากูชิ ไฟแนนเชียล กรุ๊ปและมิชิโนกู แบงก์ จะร่วมเป็นหุ้นส่วนกับอาร์ซีจี ซึ่งมีฐานดำเนินงานอยู่ในกรุงโตเกียว และให้การสนับสนุนบรรดาบริษัทญี่ปุ่นทั้งเล็กและใหญ่ พร้อมทั้งมีแผนตั้งสำนักงานในประเทศต่างๆ อาทิ จีน รัสเซียและเวียดนามในปีงบการเงินนี้ จากนั้นมีแผนขยายเครือข่ายให้ได้ 20 ประเทศ ภายในระยะเวลา 5 ปี
การเคลื่อนไหวครั้งนี้สะท้อนถึงการปรับตัวครั้งใหญ่ของบรรดาธนาคารระดับภูมิภาคของญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้ได้เปิดสาขา ทั้งในจีนและในหลายประเทศของอาเซียน เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนลูกค้าของธนาคารที่ต้องการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ ซึ่งการทำแบบนี้เปิดโอกาสให้ธนาคารได้เสนอความเชี่ยวชาญ ที่จำเป็นกระตุ้นให้เกิดการรวบรวมข้อมูลของธนาคารและลูกค้าและเป็นการลดต้นทุนไปในตัวด้วย
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดข้อจำกัดด้านการเดินทางเพื่อทำธุรกิจ บรรดาหุ้นส่วนธนาคารกำลังพิจารณาที่จะเปิดการบริการเพื่ออำนวยความสะดวก การประชุมทางออนไลน์ระหว่างบริษัทญี่ปุ่น และบริษัทต่างชาติมีการลงทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่บริษัทต่างๆ ต้องการขายหรือต้องการซื้อจากนั้นจะใช้ระบบพิเศษจับคู่ ผลิตภัณฑ์กับบริษัทต่างๆ
มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศในปัจจุบัน ทำให้บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางในหลายภูมิภาคได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากจำนวนผู้บริโภคลดลงทำให้ต้องมองหาโอกาสทางธุรกิจในต่างประเทศเพื่อความอยู่รอด ยามากู ชิ ไฟแนนเชียล กรุ๊ปและมิชิโนกุ จึงตัดสินใจยุติการเป็นคู่แข่งระหว่างกันและหันมา ร่วมมือกันสนับสนุนลูกค้าให้ขยายธุรกิจในต่างประเทศได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ อาร์ซีจียังมีแผนที่จะเรียกร้องให้บรรดาสถาบันการเงินระดับภูมิภาคแห่งอื่นๆ ที่มีฐานะเป็นสมาชิกสินเชื่อเข้ามาร่วมในโครงการนี้ด้วย และอาร์ซีจี ยังทำงานร่วมกับบริษัทการค้าในนามธนาคารระดับภูมิภาค และจะให้คำปรึกษาแก่ธนาคารต่างๆ ที่ต้องการสร้างบริษัทการค้าของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงกฎหมายในปี 2559 ของญี่ปุ่น อนุญาตให้ธนาคารระดับภูมิภาคถือหุ้นได้มากกว่า 5% ในธุรกิจเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารและบริษัทการค้าระดับภูมิภาค ถือเป็นการปูทางให้เข้าครอบครองแหล่งสร้างกำไรใหม่ๆ ในบรรยากาศการทำธุรกิจที่ยากลำบาก เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำ
การเคลื่อนไหวของธนาคารญี่ปุ่นมีขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งแรกในรอบ 4 ปีครึ่ง และมีความเสี่ยงที่จะเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจซบเซาหนักสุด ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคธุรกิจและผู้บริโภค
จีดีพีไตรมาส 1 ของญี่ปุ่นในปี 2563 บ่งชี้ให้เห็นถึงผลกระทบในวงกว้างจากการระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากมูลค่าการส่งออกดิ่งลงแรงที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์แผ่นดินไหว-สึนามิเมื่อปี 2554 เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ทั่วโลกนำมาใช้กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งสินค้า
บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสปัจจุบันจะยิ่งแย่ลงไปอีก เนื่องจากรัฐบาลขอร้องให้ประชาชนเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน และให้ภาคธุรกิจต่างๆ ปิดทำการชั่วคราว เพื่อยับยั้งการระบาดของโรคโควิด-19
ญี่ปุ่น ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรายงานตัวเลขจีดีพี ในไตรมาส 1 ปีนี้หดตัว 3.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่มีการ คาดการณ์เอาไว้ที่ 4.6% โดยระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค. ปีที่แล้ว จีดีพีญี่ปุ่นเคยร่วงลงมากถึง 7.3% ซึ่งการที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกันถือว่าเข้าเกณฑ์ของภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ขณะเดียวกันผลสำรวจจัดทำโดยกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระบุว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่ในญี่ปุ่นทรุดตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี ในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ผลสำรวจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่น ของบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 1 พันล้านเยน (9.3 ล้านดอลลาร์) หรือมากกว่า ดิ่งลง สู่ระดับ -47.6 ในไตรมาส 2/2563 จาก ระดับ -10.1 ในไตรมาส 1/2563 ซึ่งเป็นการ ปรับตัวลงติดต่อกัน 3 ไตรมาสแล้ว
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นใน ไตรมาส 2/2563 ถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 1/2552 ซึ่งในเวลานั้นดัชนีอยู่ที่ระดับ -51.3 ท่ามกลางวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลก หลังจากการล้มละลายของวาณิชธนกิจเลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้งส์ ในปี 2551
ดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวคำนวณโดยการลบเปอร์เซ็นต์ของบริษัทที่มีมุมมองที่ย่ำแย่ต่อภาวะธุรกิจ ออกจากบริษัทที่มีมุมมองเป็นบวก ส่วนแนวโน้มธุรกิจในอนาคตนั้น ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจในไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ระดับ -6.6 และดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจในไตรมาส 4/2563 อยู่ที่ +2.3
หรือจะเป็นอย่างที่ “ยาสุโตชิ นิชิมูระ” รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจญี่ปุ่น กล่าวไว้ ก่อนหน้านี้ว่า ความท้าทายที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากวิกฤติโควิด-19 ไปพร้อมๆ กับการพยายามป้องกันไม่ให้อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศเพิ่มขึ้นอีกรอบ
“สิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้คือ การพยายามประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศ โดยการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจให้สามารถอยู่รอดต่อไปได้ และป้องกันการตกงานที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส และมั่นใจว่าความต้องการภายในประเทศน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็วๆ นี้ ถ้าไม่มีการแพร่ระบาดครั้งใหญ่แบบที่ผ่านมาอีกรอบ” รมว.เศรษฐกิจของญี่ปุ่น กล่าว