แนวทางฟื้นฟู 'การท่องเที่ยว' หลังวิกฤติโควิด-19
สอวช.งัดมาตรการ แนวทางฟื้นฟูการท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืน หลังโควิด-19 เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ชูเน้นท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ วัฒนธรรมและอาหาร ดึงนักท่องเที่ยวไฮเอนด์ เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ
เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดเวทีหารือแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศหลังวิกฤติการณ์โควิด-19 โดยในสัปดาห์นี้ ได้หยิบยกแนวทางการฟื้นฟูภาคส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทยอย่างการท่องเที่ยว มาแลกเปลี่ยนหารือถึงแนวทางการฟื้นฟูและทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยสู่ความยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก ดร. ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มาร่วมพูดคุย
ดร. ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงของต่อการท่องเที่ยว แม้ประเทศไทยจะผ่านเหตุการณ์โรคระบาดและภัยธรรมชาติมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ต้องยอมรับว่าครั้งนี้รุนแรงที่สุด มีการคาดการณ์ระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ การท่องเที่ยวจะกลับมาเร็วที่สุดคือช่วงไตรมาสที่ 4 หรือต้นปีหน้า แต่จะกลับมาในรูปแบบพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ นักท่องเที่ยวจะคำนึงถึงความปลอดภัย อีกทั้งในประเทศเองยังคงมาตรการในการจำกัดการเดินทง การเคลื่อนย้ายและการรวมตัวของคนจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤติ ประเทศไทยก็สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดจนได้รับการยอมรับในระดับโลก ทำให้คนเชื่อมั่นอยากเดินทางมาประเทศไทย จุดขายเรื่องความปลอดภัย การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จึงเป็นตัวชูโรงด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยหลังโควิด อีกหนึ่งจุดขายคือ เรื่องความคุ้นเคย ทั้งด้านวัฒนธรรมและอาหาร ตลอดจนจุดขายเรื่องความสวยงามของทั้งธรรมชาติที่ได้รับการฟื้นฟู และน้ำใจของคนไทยในการช่วยเหลือเกื้อกูล ก็เป็นอีกจุดขายของการท่องเที่ยว
หลังวิกฤตครั้งนี้ คงยากที่จะทำจุดขายใหม่แต่เรามีจุดขายที่มีศักยภาพอยู่แล้วเพียงแต่ต้องเพิ่มมูลค่าจุดขายเดิมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น สิ่งที่สำคัญนับจากนี้ คือ การ Upskill Reskill บุคลากรด้านการท่องเที่ยว และการทำดิจิทัลแพลตฟอร์มให้เกิดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับการท่องเที่ยวไทยให้สามารถพร้อมฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากการเตรียมพร้อมในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งในแง่สถานที่ท่องเที่ยว สถานประกอบการ โรงแรมและภาคส่วนการบริการต่างๆ รวมถึงดิจิทัลแพลตฟอร์มที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวในยุคนิวนอร์มัลแล้ว การพัฒนาทักษะ Upskill Reskill คนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นอีกเรื่องที่สำคัญที่การท่องเที่ยวต้องหันมามองเป็นลำดับต้นๆ
โดยเฉพาะกำลังคนในด้าน Health & Wellness และ Digital Transformation ที่เราต้องเข้าไปพัฒนากำลังคนให้เกิดทักษะดังกล่าวให้กับสถานประกอบการ ซึ่ง ททท. มีศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอยู่แล้ว และจะใส่เนื้อเรื่องดิจิทัล การดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยเข้าไป เพื่อรองรับการท่องเที่ยวและบริการเชิงสุขภาพที่คาดว่าจะได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นหลังช่วงโควิด-19” ดร. ยุทธศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ เป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ของแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของ ททท. ซึ่งมีอยู่ 2 ข้อหลักๆ คือ
1. สร้างงาน สร้างรายได้ เสริมสภาพคล่อง กระตุ้นการบริโภคภาคประชาชนผ่านการเดินทางภายในประเทศ
และ 2. สร้างรายได้จากฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง สร้างสมดุลเชิงโครงสร้างใหม่ เพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยมียุทธศาสตร์ 5R เป็นกลไกในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย
1) Reboot กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค เพื่อการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวและเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้แนวทาง Go Again ส่งเสริมให้เกิดการเที่ยวซ้ำในประเทศ เน้นเพิ่มความถี่ในการเดินทางของกลุ่มเป้าหมาย ส่งเสริมไทยเที่ยวไทย ให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะผ่านความร่วมมือต่างๆ และแนวทาง Go Local พัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก
2) Rebuild ซ่อมสร้าง ปรับตัวสู่นิวนอร์มัล เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว พัฒนาสินค้าและบริการให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยใช้แนวทาง Go New Norm ซ่อมสิ่งที่เป็นปัญหาและสร้างสิ่งที่จะเป็นรากฐานที่มั่นคงยั่งยืนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อไป ประสานความช่วยเหลือผู้ประกอบการ พัฒนายกระดับทักษะของบุคลากรทุกระดับ และแนวทาง Go Digital พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัย พัฒนาแพลตฟอร์มเป็นเครื่องมือทางการตลาด สร้างโอกาสและให้ความรู้การตลาดสมัยใหม่แก่ผู้ประกอบการ
3) Rebrand สื่อสารการตลาดด้วยภาพลักษณ์ใหม่ ทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาตินึกถึงและตัดสินใจเลือกเดินทางท่องเที่ยว ด้วยแนวทาง Go Top สร้างความประทับใจ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในใจของนักท่องเที่ยว และแนวทาง Go Confident สร้างความเชื่อมั่นในคุณค่าแบรนด์ Amazing Thailand ด้านความปลอดภัย นักท่องเที่ยวมั่นใจว่าจะมีความสุขเมื่อได้มาและกลับไปอย่างปลอดภัย
4) Rebound กระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ฟื้นกลับมาในระยะเวลาที่รวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง รักษาฐานนักท่องเที่ยวคุณภาพและกลุ่มเป้าหมาย ผ่านแนวทาง Go High ทำตลาดแบบเจาะจงกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม Health and Wellness ไม่เน้นจำนวน มุ่งรักษาฐานนักท่องเที่ยวคุณภาพ เปิดกว้างทำตลาดทุกพื้นที่ และแนวทาง Go Quality มุ่งตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโต
และ 5) Rebalance ปรับสมดุลใหม่เพื่อความยั่งยืน ผ่านแนวทาง Go Responsible รักษาธรรมชาติที่ฟื้นตัวดีขึ้นจากช่วงโควิด-19 สนับสนุนการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และแนวทาง Go Sustainability ลดการพึ่งพิงตลาดใดตลาดหนึ่ง กระจายการเดินทางท่องเที่ยวเชิงพื้นที่และเวลา สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวบนพื้นฐานของการรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
สอดคล้องกับรายงานการศึกษาวิจัย ซึ่งทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สอวช. จัดทำมาตรการด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) รองรับการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่มีเป้าหมายการเปลี่ยนลักษณะการท่องเที่ยวที่เชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยมุ่งไปสู่การท่องเที่ยว 3 แบบ คือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวร่วมกับการรักษา หรือ เมดิคัลทัวริซึ่ม และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร/อาหาร โดยมีมาตรการด้าน อววน.
ที่สำคัญคือ มาตรการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม, ระบบ Screening, Tracing, Tracking, Surveillance System (STTS) เพื่อการติดตามนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ, ระบบดูแลนักท่องเที่ยวก่อนการเดินทางเข้าเมือง เพื่อช่วยนักท่องเที่ยวในการวางแผนการเดินทาง, การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เช่น อาหารเฉพาะกลุ่ม ผลิตภัณฑ์สปาและสมุนไพรมูลค่าสูง และการพัฒนาการแพทย์ทางเลือกต่าง ๆ, ระบบสำหรับดูแลนักท่องเที่ยวหลังเดินทางกลับประเทศไปแล้ว มาตรการด้านพัฒนาทักษะอาชีพ ฝึกอบรมเสริมทักษะบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อรองรับทิศทางการท่องเที่ยวแบบใหม่ เช่น การอบรมเพื่อเป็นนักการตลาดดิจิทัล นักออกแบบการท่องเที่ยว การฝึกทักษะด้านการให้บริการทางสุขภาพ เช่น Spa Therapist การแพทย์แผนไทยโบราณ ฯลฯ
สุดท้ายคือ บริการอินเตอร์เน็ตไร้สายในสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ, ระบบเชื่อมโยงข้อมูลด้านการท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหาร ที่พัก แหล่งท่องเที่ยว การเดินทาง เส้นทางท่องเที่ยว ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากผู้ให้บริการ บริษัททัวร์ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการจัดการที่มีประสิทธิภาพและเป็นแหล่งข้อมูลให้แก่นักท่องเที่ยว, การปรับปรุงพัฒนาการให้ข้อมูลตามสถานที่ท่องเที่ยวให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นผ่านการใช้สื่อและอุปกรณ์ดิจิทัล การนำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่มีปฏิสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยว เป็นต้น