อัพเดทล่าสุด 'มาตรการช่วยเหลือ' ลูกหนี้ ช่วง 'โควิด-19' ระยะที่ 2 เริ่ม 1 ก.ค. นี้
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวบรวม "มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย" ที่ได้รับผลกระทบจาก "โควิด-19" ระยะที่ 2 เริ่ม 1 ก.ค. นี้
แม้สถานการณ์ "โควิด-19" ในประเทศไทยจะเริ่มมีผู้ติดเชื้อที่น้อยมาก สลับกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เป็น 0 ให้ใจชื้นขึ้นมาในช่วงหลังๆ แต่การแพร่ระบาดยังไม่ถือว่าสิ้นสุดลง เช่นเดียวกับมาตรการการช่วยเหลือต่างๆ ที่ยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในครั้งนี้ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ในมิติทางการเงิน "มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย" คือการช่วยเหลือสำคัญที่ทำให้ประชาชนสามารถบริหารจัดการหนี้สินให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติโรคระบาดไปได้โดยไม่เสียเครดิต และไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ข้อมูล "มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระยะที่ 2" ซึ่งมีรายละเอียดล่าสุด ณ วันที่ 19 มิ.ย.63 แบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก ดังนี้
1. ปรับลดเพดานดอกเบี้ย
ปรับลดเพดานดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป 2-4% ต่อปี สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (มีผลตั้งแต่ 1 ส.ค. 63)
2. เพิ่มวงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ประเภทวงเงินหมุนเวียนหรือที่ผ่อนชำระเป็นงวด
การเพิ่มวงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทวงเงินหมุนเวียนหรือที่ผ่อนชำระเป็นงวด เป็นมาตรการสำหรับลูกหนี้ที่มีความจำเป็นต้องใช้วงเงินเพิ่มเติม และมีพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท ขยายวงเงินจากเดิม 1.5 เท่า เป็น 2 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน เป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 31 ธ.ค.64 (มีผลตั้งแต่ 1 ส.ค. 63)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
3. มาตรการขั้นต่ำอื่นๆ ในระยะที่ 2
สำหรับมาตรการขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 (มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 63) จะมีการขยายขอบเขตและระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่ไม่เป็นหนี้เสียหรือ NPLs ณ วันที่ 1 มี.ค. 63
โดยผู้ให้บริการทางการเงินต้องจัดให้มีทางเลือกความช่วยเหลือขั้นต่ำให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบได้เลือกตามประเภทสินเชื่อ เช่น การผ่อนชำระขั้นต่ำ การเปลี่ยนสินเชื่อระยะสั้นเป็นระยะยาว การลดค่างวด การเลื่อนชำระค่างวดหรือเงินต้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการทางการเงินต้องอำนวยความสะดวก รวมทั้งให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอต่อการตัดสินใจของลูกหนี้ เช่น เปรียบเทียบภาระหนี้เดิมและหนี้ใหม่ จำนวนหนี้และจำนวนงวดที่เพิ่มขึ้น และดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ต้องจ่ายเพิ่มจากการขอเลื่อนชำระหนี้ รายละเอียดดังนี้
สำหรับผู้ที่รับการช่วยเหลือตามมาตรการขั้นต่ำตามข้อมูลข้างต้น จะไม่ถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้ เพราะฉะนั้นผู้ใช้บริการจึงไม่สามารถเรียกเก็บเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และในกรณีที่ลูกหนี้ประสงค์จะชำระหนี้ก่อนกำหนดจะต้องไม่มีการคิดค่าเบี้ยปรับ (prepayment fee) ด้วย
ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถแจ้งความประสงค์ผ่านช่องทางต่างๆ ของผู้ให้บริการทางการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ของเราผ่านช่องทางต่างๆ เช่น แอพพลิเคชั่น เว็บไซต์ Call Center หรือส่งข้อความ SMS ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 63 จนถึง 31 ธ.ค. 63
ทั้งนี้ สามารถดูหมายเลข Call Center สถาบันการเงิน และ Non-Bank จากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ ที่นี่
4. การปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ผู้ให้บริการทางการเงินต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อช่วยบรรเทาภาระ เช่น โดยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เปลี่ยนสินเชื่อจากระยะสั้นเป็นระยะยาว เลื่อนการชำระค่างวด ลดดอกเบี้ย และกรณีลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจนเป็น NPLs ขอให้พิจารณาชะลอการยึดทรัพย์
นอกจากนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ประสบปัญหาไม่สามารถติดต่อสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการที่เป็นเจ้าหนี้ของตัวเองได้ หรือติดต่อผู้ให้บริการแล้ว แต่ไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ สามารถใช้บริการ "ทางด่วนแก้หนี้" ของศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ทางด่วนแก้หนี้จะทำหน้าที่เป็นช่องทางเสริม ที่ช่วยรับเรื่องตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้ประชาชนและธุรกิจที่ต้องการปรับปรุงเงื่อนไขหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ หรือต้องการความช่วยเหลือ สามารถแจ้งความต้องการไปที่ผู้ให้บริการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
สำหรับผู้ที่ต้องการใช้บริการทางด่วนแก้หนี้ จะต้องกรอกข้อมูลในทางด่วนแก้หนี้ให้ครบถ้วน ผ่าน “แบบฟอร์มทางด่วนแก้หนี้” และทำตามขั้นตอนต่างๆ ที่กำหนด เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลไปได้อย่างตรงจุดต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: