10 เรื่องต้องรู้ 'อภิวัฒน์สยาม' 24 มิ.ย. 2475 ครบรอบ 88 ปี
ครบรอบ 88 ปี เนื่องในวัน "อภิวัฒน์สยาม" ซึ่งตรงกับวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยมีเหตุการณ์สำคัญของไทยคือ เปลี่ยนแปลงการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
24 มิถุนายน 2475 "วันอภิวัฒน์สยาม" เป็นหนึ่งในวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย โดยเกิดเหตุการณ์สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ โดยกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน
จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ผ่านมาแล้ว 88 ปีแล้ว แม้ "วันอภิวัฒน์สยาม" ไม่ค่อยถูกจดจำมากนักเมื่อเทียบกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อื่นๆ เช่น ตำนานพระนเรศวรหรือวันสุนทรภู่ ที่คนไทยส่วนใหญ่มักจะจดจำได้มากกว่า แต่ถ้ามองในมุมของความน่าสนใจที่คนไทยควรรู้ คงไม่ผิดถ้าจะบอกว่าวัน "อภิวัฒน์สยาม" น่าสนใจไม่แพ้วันสำคัญอื่นๆ เลย
และเพื่อให้คนไทยได้ย้อนรำลึกถึงวันสำคัญนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปดู 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวันการอภิวัฒน์สยาม 2475 กันสักหน่อย
1. "วันอภิวัฒน์สยาม" เกิดในสมัยรัชกาลที่ 7
เหตุการณ์วันอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โดยระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นนั้น พระองค์ได้เสด็จแปรพระราชฐานประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ในคืนวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เสด็จกลับพระนครโดยรถไฟพระที่นั่งที่ทางคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารส่งไปรับ
ถัดมาในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ให้บุคคลสำคัญของคณะราษฎรเข้าเฝ้าและพระองค์ได้ทรงลงพระปรมาธิปไธยพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่คณะผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน
ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัวได้พระราชทาน พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวให้เป็นกติกาการปกครองบ้านเมืองเป็นการชั่วคราวไปก่อน
2. คณะราษฎรคือใคร?
คณะราษฎร คือกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่การสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่มีพระกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใหม่ในยุคสมัยนั้น
แรกเริ่มกลุ่มคณะราษฎรก่อตั้งขึ้นจากกลุ่มนักเรียนไทยในฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.2467 โดยมีผู้ร่วมเข้าประชุม ได้แก่
1. นายปรีดี พนมยงค์, 2. ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ, 3.นายประยูร ภมรมนตรี, 4. ร.ท.ทัศนัย นิยมศึก, 5. นายตั้ว ลพานุกรม, 6. นายแนบ พหลโยธิน, 7. หลวงศิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี)
จากนั้นกระบวนการหาสมาชิกเพิ่มของกลุ่มคณะราษฎรก็ได้ขยายแวดวงเข้ามาถึงกลุ่มนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และในปี พ.ศ. 2475 จึงทำการอภิวัฒน์ระบบการปกครอง โดยมี พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าผู้ก่อตั้งคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ที่มีนายทหารระดับนายพันเอก 3 คน คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช และพระยาฤทธิอัคเนย์ ควบคุมการอภิวัฒน์
ทั้งนี้ในกลุ่มคณะราษฎรก็ไม่ได้มีแต่นักเรียนนอก แต่ยังมีทั้งกลุ่มนักเรียนในประเทศ ข้าราชการ และกลุ่มพลเรือนอื่นๆ อีก เนื่องจากความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นความคิดที่แพร่หลายอยู่ในกลุ่มสังคมหลายกลุ่ม ได้แก่ นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน ผู้มีการศึกษา ครู ชนชั้นกลางในเมือง พ่อค้า และเจ้าของกิจการรายย่อย
ภาพจาก : https://th.wikipedia.org
3. ปัจจัยที่ทำให้เกิดการอภิวัฒน์สยาม
ปัจจัยด้านสถาบันการเมือง ที่มีการผูกขาดรวมศูนย์อำนาจในกลุ่มเจ้านายและขุนนางชั้นสูง จนการบริหารราชการแผ่นดินล่าช้าและขาดประสิทธิภาพ บวกกับความไม่ยุติธรรมในระบบราชการ
ปัจจัยด้านอุดมการณ์ ที่มีการแพร่หลายของแนวคิดใหม่ๆ ทำให้สามัญชนเกิดจิตสำนึกตื่นตัว และต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ประชาธิปไตยและชาตินิยมของประชาชน ซึ่งท้าทายอุดมการณ์แบบจารีตที่เน้นชาติกำเนิด บุญบารมี และความไม่เท่าเทียมทางชนชั้น
ปัจจัยด้านการก่อตัวของชนชั้นใหม่ ที่มีการเติบโตของชนชั้นข้าราชการรุ่นใหม่ ชนชั้นกลาง ปัญญาชน นักเรียนนอก นักเรียนใน นักหนังสือพิมพ์ พ่อค้า และวิชาชีพสมัยใหม่ อันเนื่องมาจากการเปิดประเทศและพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ สืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 กลุ่มคนใหม่ๆ เหล่านี้มาพร้อมกับจิตสำนึกใฝ่หาเสรีภาพ ความทันสมัย และความเสมอภาคเท่าเทียม
ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ วิกฤติการคลังตกทอดมาจากสมัยรัชกาลที่ 6 บวกกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกในช่วงปี 2472-2475 รัฐบาลตัดสินใจแก้ปัญหานี้โดยการจัดทำงบประมาณขาดดุลและปรับข้าราชการชั้นกลางและล่างออกหลายระลอก (แต่ปกป้องชนชั้นสูงและขุนนาง) ขึ้นภาษีรายได้กระทบคนชั้นกลางและราษฎร สร้างความเดือดร้อนให้กับคนระดับล่าง จนเกิดกระแสไม่พอใจต่อรัฐบาล
ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอก ที่เกิดการล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั่วโลก ไล่มาตั้งแต่จีน รัสเซีย เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี
4. "อภิวัฒน์สยาม 2475" แบ่งเป็น 2 ระลอก
ความวุ่นวายหลังการอภิวัฒน์ 2475 ระลอกแรกเกิดจากฝ่ายขุนนางเก่าที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบรัฐธรรมนูญและยื้อแย่งอำนาจกลับคืนจากคณะราษฎรไปสู่กลุ่มตน กระทั่งทำให้ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาหยุดชะงัก
และระลอก 2 คือการรัฐประหาร 2476 ของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ระหว่างฝ่ายคณะราษฎรที่ต้องการพิทักษ์รักษามรดกของการอภิวัฒน์ กับฝ่ายขุนนางอนุรักษนิยมที่ต้องการทำลายคณะราษฎรและเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยที่มีการแบ่งแยกอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญกลับไปสู่ระบอบกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ภาพจาก : https://th.wikipedia.org
5. เป็นชนวนให้เกิดกบฏบวรเดช
เหตุการณ์ของการอภิวัฒน์สยามระลอก 2 เป็นชนวนและส่งผลให้เกิด กบฏบวรเดช เป็นความพยายามก่อการรัฐประหารด้วยกำลังอาวุธเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของคณะราษฎรในปี 2476 ภายใต้ชื่อปฏิบัติการอย่างเป็นทางการว่า คณะกู้บ้านกู้เมือง
คณะกู้บ้านกู้เมือง ประกอบไปด้วยเจ้านายและขุนนางที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อาทิ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งเป็นผู้นำในการกบฏครั้งนั้น ได้ยื่นคำขาดแก่รัฐบาลคณะราษฎรให้ใช้การปกครองในรูปแบบของระบอบราชาธิปไตย โดยใช้กำลังทหารจากหัวเมืองเป็นกำลังหลัก กระทั่งเกิดการปะทะกันในเดือนตุลาคม 2476
6. ผลกระทบหลังจากเกิดการ "อภิวัฒน์สยาม"
ด้านการเมือง เกิดการปรับโครงสร้างอำนาจ สถาปนาการปกครองโดยรัฐธรรมนูญที่มีการแบ่งแยกอำนาจเป็นสามฝ่าย (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) มีการสร้างสถาบันทางการเมืองใหม่ อาทิ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี สมาคมการเมือง กลุ่มผลประโยชน์วิชาชีพ การเลือกตั้ง ฯลฯ ที่เปิดให้คนหน้าใหม่และสามัญชนเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้อำนาจสาธารณะมากขึ้น
นอกจากนั้นยังมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การขยายระบบราชการและปรับวิธีการทำงาน ทั้งยังมีการปฏิรูประบบกฎหมาย มีการแก้ไขสนธิสัญญาที่เสียเปรียบกับต่างชาติ ทำให้ประเทศมีเอกราชที่สมบูรณ์
ด้านสังคม มีการจัดระบบการศึกษา ระบบการแพทย์และสาธารณสุข ระบบคมนาคมที่ทันสมัยให้ครอบคลุมและเสมอภาคมากขึ้น โดยรัฐบาลดำเนินบทบาทหน้าที่แบบรัฐสมัยใหม่มากขึ้น พยายามจัดหาสินค้าและบริการสาธารณะให้ถึงมือประชาชน เกิดการขยายตัวของโรงเรียนและมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลทั้งในและนอกกรุงเทพฯ และถนนหนทางเชื่อมต่อการเดินทางและขนส่งสินค้า สามัญชนมีโอกาสในการเลื่อนชั้นทางสังคมมากขึ้น
ด้านเศรษฐกิจ รัฐเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในการวางนโยบายและพัฒนาระบบการค้าและการลงทุนในภาคเกษตรกรรม บริการ และอุตสาหกรรม มีการวางโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ขึ้นมารองรับระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ เข้าไปจัดหางานและส่งเสริมอาชีพต่างๆ
ด้านวัฒนธรรมและความคิด เกิดการเฟื่องฟูของหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วัฒนธรรมการพิมพ์ ละคร และวัฒนธรรมที่อยู่นอกภาครัฐ เกิดการถกเถียงทางอุดมการณ์อันหลากหลายเข้มข้นทั้งที่สนับสนุนและต่อต้านรัฐ มีทั้งแนวคิดประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ อนุรักษนิยม รอยัลลิสต์ สังคมนิยม รวมถึงชาตินิยมแบบต่างๆ แพร่หลาย เกิดพื้นที่ทางปัญญาและวัฒนธรรมใหม่ๆ มากมาย ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐ
24 มิถุนายน 2475 จึงมีฐานะเป็นวันแห่ง "การเปลี่ยนแปลง" เพราะได้สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในปริมณฑลกว้างขวางที่นอกเหนือจากศูนย์กลางในกรุงเทพฯ เกิดโครงสร้างการเมืองใหม่ รูปแบบทางเศรษฐกิจใหม่ และจิตสำนึกแบบใหม่ในหมู่ประชาชน
7. อิทธิพลจากกระแสการเมืองโลก
การอภิวัฒน์สยามที่เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2475 นั้น ได้รับอิทธิพลมาจากกระแสการเมืองโลกตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2465 ที่มีการพังทลายของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั่วโลก ประเทศมหาอำนาจที่เคยปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี รัสเซีย และตุรกี ต่างก็ถูกโค่นลงทุกประเทศ ส่วนประเทศที่ยังมีระบอบกษัตริย์ในยุโรปต่างก็เปลี่ยนเป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ มีรัฐธรรมนูญและรัฐสภาจากการเลือกตั้ง กลายเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาของยุคสมัยนั้นไปโดยปริยาย
ส่วนประเทศในทวีปเอเชีย พบว่าระบอบกษัตริย์ของจีนถูกโค่นล้มตั้งแต่ พ.ศ. 2454 ส่วนญี่ปุ่นก็เปลี่ยนเป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญและมีรัฐสภาเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2474 และสเปนก็มีการปฏิวัติโค่นระบอบกษัตริย์กลายเป็นระบอบสาธารณรัฐ
8. รัฐธรรมนูญในช่วงแรกของไทยหลัง "อภิวัฒน์สยาม"
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและคณะราษฎรได้เริ่มจัดการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกแก่ประชาชน พระราชบัญญัติธรรมนูญชั่วคราวมีการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม
"ประชาธิปไตย" สำหรับสยามนั้น ถูกมอบให้แก่ประชาชนในรูปของการผ่อน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นสามช่วง ได้แก่ ช่วงแรก : สมาชิกรัฐสภาทั้งหมดจะถูกแต่งตั้งโดยสี่ทหารเสือเท่านั้น (ซึ่งเป็นฝ่ายทหาร) สมาชิกรัฐสภาเหล่านี้จะใช้อำนาจแทนประชาชน และสมัยแรกมีกำหนดวาระการทำงานไว้ 6 เดือน
ช่วงที่สอง : เป็นช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ จำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับหลักประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง รัฐสภาถูกเปลี่ยนให้ต้องประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งอยู่กึ่งหนึ่ง และอีกกึ่งหนึ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาตามแบบประชาธิปไตยทางอ้อม แต่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจะต้องได้รับการตรวจสอบจากคณะราษฎรก่อนการเลือกตั้งทุกครั้ง
ช่วงที่สาม : พระราชบัญญัติธรรมนูญบัญญัติว่าการเป็นตัวแทนประชาธิปไตยเต็มตัวในรัฐสภานั้นจะบรรลุได้เฉพาะเมื่อเวลาผ่านไปแล้วสิบปีหรือประชากรมากกว่ากึ่งหนึ่งสำเร็จการศึกษาเกินกว่าระดับประถมศึกษา แล้วแต่ว่าอย่างไหนจะเกิดก่อน
9. มรดกคณะราษฎร
มรดกทางวัฒนธรรมของคณะราษฎร มีทั้งศิลปวัตถุและสถาปัตยกรรม แบ่งเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
- รูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) เรียบ เกลี้ยง หลังคาแบน ไม่ขึ้นเป็นจั่วทรงสูง ไร้ลวดลายไทย สื่อถึงความเสมอภาค และการลดเลิกฐานานุศักดิ์/ชนชั้นทางสังคม
- ปรับเปลี่ยนการออกแบบผังเมืองให้เป็นสมัยใหม่ เช่น การก่อสร้างถนนกว้าง สร้างวงเวียน วางผังเมืองเป็นตารางสี่เหลี่ยม สื่อถึงการปกครองสมัยใหม่
- ใช้สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญ สื่อว่าอำนาจอธิปไตยได้เคลื่อนจากการรวมศูนย์ไว้ที่กษัตริย์มาอยู่ที่ตัวรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ศิลปวัตถุที่โด่งดังมีทั้งหมุดคณะราษฎร, อนุสาวรีย์ปราบกบฏ, รูปปั้นจอมพลป. ฯลฯ จัดแสดงไว้ที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ พิพิธภัณฑ์พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา และตึกเทเวศประกันภัย
10. รัฐบาลคณะราษฎรล่มสลาย ปี 2501
รัฐบาลคณะราษฎรล่มสลายเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารในปี 2501 ทั้งนี้ขบวนการโจมตีคณะราษฎรเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2490 โดยสัมพันธ์กับการพัฒนาและเติบโตของขบวนการอนุรักษนิยมในสังคมไทย โยงกับฝ่ายนิยมเจ้าที่หมดบทบาทไปหลังปี 2476 แต่ได้รับการฟื้นฟูบทบาทอีกครั้งในยุคประชาธิปไตยภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ และมีบทบาทสูงมากเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม สมาชิกคณะราษฎรคนสุดท้ายถูกรัฐประหาร
-----------------
อ้างอิง : 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475, www.bbc.com, www.the101.world