'ข้าราชการ' ต้องรู้! อัพเดทวิธีเช็ค 'สิทธิเบิกจ่ายตรง' ก่อนไปโรงพยาบาล

'ข้าราชการ' ต้องรู้! อัพเดทวิธีเช็ค 'สิทธิเบิกจ่ายตรง' ก่อนไปโรงพยาบาล

ทำความเข้าใจ "เบิกจ่ายตรง" สิทธิค่ารักษาพยาบาล "ข้าราชการ" คืออะไร? ใครได้สิทธิบ้าง? พร้อมเปิดวิธีเช็คสิทธิที่ต้องทำก่อนไปรักษาพยาบาลทุกครั้ง

หนึ่งในสวัสดิการของ "ข้าราชการ" ก็คือ "เบิกจ่ายตรง" ในการรักษาพยาบาล นอกเหนือไปจากกองทุนบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ หรือเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร และเงินสวัสดิการสำหรับการปฏิบัติงานประจำสำนักงานในพื้นที่พิเศษ ฯลฯ แต่หลายคนคงสงสัยว่า "สิทธิเบิกจ่ายตรง" สิทธิของกลุ่มข้าราชการและครอบครัวนั้น คืออะไร? 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จะพาไปทำความรู้จักโครงการเบิกจ่ายตรง สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการกันว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร ใครได้รับสิทธิจากส่วนนี้บ้าง? พร้อมเปิดวิธีเช็คสิทธิ เรื่องสำคัญที่ต้องทำทุกครั้งก่อนไปเข้ารับการรักษาพยาบาล

  • "สิทธิเบิกจ่ายตรง" ค่ารักษาพยาบาล คืออะไร?

ก่อนอื่นขอพามาทำความรู้จักกับโครงการเบิกจ่ายตรงสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการกันก่อน สิทธิเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาล เป็นโครงการแบบสมัครใจ หมายความว่าผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวไม่ต้องการทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน หรือไม่อยากยุ่งยากที่ต้องเดินทางไปขอหนังสือรับรองจากต้นสังกัด ก็สามารถสมัครเข้าโครงการเบิกจ่ายตรงนี้ได้

โดยกรมบัญชีกลาง จะเป็นผู้ดำเนินการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวให้กับสถานพยาบาล แทนส่วนราชการต่างๆ ซึ่งจะมีการส่งข้อมูลทั้งข้อมูลผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว ข้อมูลการรักษาพยาบาล และข้อมูลการจ่ายเงิน ที่ดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ครอบคลุมทั้งระบบการเบิกจ่ายตรงผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

  • เมื่ออยากใช้สิทธิ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?

สำหรับขั้นตอนการใช้สิทธิ ผู้ป่วย "ต้อง" ไปตรวจสอบสถานพยาบาลก่อน รวมถึงโรคที่จะรักษาและประมาณการส่วนร่วมจ่ายก่อน โดยสามารถไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์กรมบัญชีกลาง http://www.cgd.go.th หลังจากนั้นติดต่อสถานพยาบาลที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ โดยสถานพยาบาลจะสรุปรายการส่วนเกินที่ต้องชำระ หรือส่วนที่เบิกกรมบัญชีกลางไม่ได้ ทั้งนี้หากผู้ป่วยตกลงเข้ารับการรักษา จะต้องลงนามในหนังสือเพื่อยืนยัน แต่ถ้าหากไม่ประสงค์ที่จะเข้ารับการรักษา ก็สามารถปฏิเสธได้ด้วยเช่นกัน 

และในกรณีที่มีรายการส่วนเกินที่ต้องชำระ เมื่อออกจากสถานพยาบาล สถานพยาบาลนั้นจะเรียกเก็บส่วนเกินจากผู้ป่วย และผู้ป่วยไม่สามารถนำใบเสร็จรับเงินมาเบิกจากทางราชการได้ ส่วนที่เบิกได้นั้น สถานพยาบาลจะวางเบิกจากกรมบัญชีกลางโดยตรง 

ล่าสุด "วิลาวรรณ พยาน้อย" รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง ย้ำว่า ผู้มีสิทธิต้องตรวจสอบข้อมูลของตนเองและบุคคลในครอบครัว ก่อนเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดจากการไม่พบสิทธิในระบบ

เนื่องจากปัจจุบันมีข้อมูลในฐานข้อมูลบุคลากรภาครัฐที่ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจำนวนมาก ที่ไม่ได้รับการตรวจสอบและปรับปรุง แก้ไข หรือเพิ่มเติมข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน จากทั้งผู้มีสิทธิและนายทะเบียนของส่วนราชการต้นสังกัด ส่งผลให้ข้อมูลใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจากข้อมูลบางส่วนมีความคลาดเคลื่อน ในกรณีเป็นผู้ไม่มีสิทธิแล้ว กรมบัญชีกลางได้ดำเนินการระงับสิทธิในระบบเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาล และเรียกเงินคืน

159299040161

โดยสามารถตรวจสอบสิทธิได้จาก 2 ช่องทาง คือ
1.แอพพลิเคชั่น CGDiHealthCare โดยสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นบน App Store หรือ Google Play
2.เว็บไซต์ http://pws.cgd.go.th/EFiling/login.jsf โดยลงทะเบียนในระบบการยื่นขอรับบำเหน็จบำนาญด้วยตนเองทางอิเล็กทรอนิกส์ หากผู้มีสิทธิตรวจสอบแล้วพบว่าข้อมูล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือ e-mail address ไม่ถูกต้อง ก็สามารถปรับปรุง แก้ไข ได้ด้วยตนเอง หากเป็นการแจ้งข้อมูลการจดทะเบียนหย่า หรือมีการเปลี่ยนแปลง ชื่อ สกุล ขอให้แจ้งนายทะเบียนต้นสังกัด เพื่อปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องเป็นปัจจุบัน

159291473064

  • ใครได้สิทธิบ้าง?

ขณะเดียวกันข้อมูลจากกรมบัญชีกลางระบุว่า ผู้มีสิทธิจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

1.ข้าราชการและลูกจ้างประจำ ซึ่งได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างประจำจากเงินงบประมาณรายจ่าย งบบุคลากรของกระทรวง ทบวง กรม แต่ไม่รวมข้าราชการตำรวจชั้นพลตำรวจ ซึ่งอยู่ระหว่างรับการศึกษาอบรมในสถานศึกษาของสำนักงานตำรวจก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการประจำ

2.ลูกจ้างชาวต่างประเทศ ที่มีหนังสือสัญญาจ้างที่ได้รับค่าจ้างจากเงินงบประมาณรายจ่ายและสัญญาจ้างนั้น ที่ไม่ได้มีการระบุเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลไว้

3.ผู้ได้รับบำนาญปกติหรือผู้ได้รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพตามกฎหมายวาด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และทหารกองหนุน มีเบี้ยหวัดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด

ขณะเดียวกันในส่วนของผู้มีสิทธิที่เป็น "บุคคลในครอบครัว" ประกอบด้วย บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ที่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีสิทธิ แต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม รวมถึงคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิ และบิดาหรือมารดา

แต่ผู้ที่จะได้สิทธิเบิกจ่ายตรง จะต้องไม่เป็นผู้มีสิทธิ หรือเป็นบุคคลในครอบครัวที่มีสิทธิซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่นๆ เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สิทธิรัฐวิสาหกิจ สิทธิองค์กรอิสระ เป็นต้น

หรือจะดูจากตารางประมวลผลข้อมูลสิทธิและวันที่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล ปี 2563 ได้ดังนี้

159291471733

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ กรมบัญชีกลาง ได้รายงานสรุปข้อมูลการใช้ สิทธิเบิกจ่ายตรง ค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอก ซึ่งจากข้อมูลพบว่าสิทธิเบิกจ่ายตรงเดือนพฤษภาคม 2563 มีการทำธุรกรรมทั้งหมด 2,115,103 รายการ มีผู้ใช้สิทธิ 1,028,208 คน ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งสิ้น 4,195 ล้านบาท

ส่วนราชการที่มีผู้ใช้สิทธิสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
1.
กระทรวงศึกษาธิการ มีผู้ใช้สิทธิ 387,658 คน คิดเป็นมูลค่า 1,224 ล้านบาท
2.กระทรวงกลาโหม 239,557 คน มูลค่า 894 ล้านบาท และ
3.
กระทรวงสาธารณสุข 218,703 คน มูลค่า 558 ล้านบาท

ขณะที่สถานพยาบาลที่มีผู้ใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ
- โรงพยาบาลรามาธิบดี มีผู้มาใช้สิทธิ 39,567 คน คิดเป็นมูลค่ากว่า 277 ล้านบาท
โรงพยาบาลศิริราช 35,965 คน มูลค่า 235 ล้านบาท และ
- โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
29,847 คน มูลค่า 170 ล้านบาท

159298901459

ที่มา : kku, cgd