เปิดหีบสมบัติอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ เติมเต็มประวัติชีวิตบางช่วงที่หล่นหาย

 เปิดหีบสมบัติอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ เติมเต็มประวัติชีวิตบางช่วงที่หล่นหาย

ธีระ วานิชธีระนนท์ แห่ง 333 แกลลอรี นำผลงานสะสมที่พบในหีบสมบัติของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “ครูใหญ่ในวงการศิลปะ” ออกมาจัดแสดงเพื่อให้ผู้สนใจได้เรียนรู้ชีวิตและผลงานของอาจารย์เฟื้อ ผ่านเอกสารและภาพสเกตช์จำนวนมาก

เดิมทีธีระตั้งใจจัดนิทรรศการ 110 ปี ชาตกาลอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ในวันที่ 22 เมษายน ซึ่งตรงกับวันครบรอบวันเกิดของอาจารย์เฟื้อ ( 22 เมษายน 2453) แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนออกไป จนถึงวันที่สถานการณ์เริ่มผ่อนคลายทาง 333 แกลลอรี จึงดำเนินงานตามความตั้งใจ

โดยนำผลงานเอกสารชุดสำคัญที่ได้ดำเนินการอนุรักษ์ซ่อมแซม โดย ขวัญจิต เลิศศิริ นักอนุรักษ์เจ้าของฉายา “หมอศิลปะ นำมาจัดแสดงในนิทรรศการที่ธีระกล่าวว่า เป็นชุดเติมเต็มที่ศานตินิเกตัน

159327406027

ธีระ วานิชธีระนนท์ แห่ง 333 แกลลอรี

จดหมายของคนสำคัญในชีวิต

พ.ศ.2483 เป็นปีที่อาจารย์เฟื้อเดินทางไปศึกษาต่อที่ มหาวิทยาลัยวิศวภารตี ศานตินิเกตัน ประเทศอินเดีย สถาบันที่ก่อตั้งโดยมหากวี รพินทรนาถ ฐากุร

สำเนาจดหมายแนะนำตัวลงวันที่ 20 มกราคม 2484 ลายเซ็น ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ส่งถึงศาสตราจารย์นันทลาลโบส ที่อาจารย์เฟื้อถือไปยื่นให้ทางศานตินิเกตัน นำมาจัดแสดงในนิทรรศการส่วนนี้เพื่อเป็นการเริ่มเรื่อง

ถัดมาเป็นใบตอบรับ เฟื้อ ทองอยู่ (นามสกุลเดิม) เข้าเรียนที่ศานตินิเกตัน และ จดหมายจาก ม.ร.ว.ถนอมศักดิ์ กฤดากร คู่สมรส กล่าวกันว่าเป็นจดหมายฉบับสุดท้ายที่เขียนถึงอาจารย์เฟื้อขณะที่เรียนอยู่ที่อินเดีย เป็นจดหมายที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เคยเขียนเล่าถึงจดหมายฉบับนี้ว่าอาจารย์เฟื้อเก็บเอาไว้อย่างทะนุถนอมโดยผนึกกาวไว้กับผืนผ้า และม้วนไว้ในกลักป้องกันแมลงทำลาย

เอกสารดังกล่าวได้รับการใส่กรอบแล้วนำมาจัดแสดงเพื่อบอกเล่าช่วงชีวิตในช่วงเวลาเดียวกัน

“สันนิษฐานว่าจากจดหมายฉบับนี้ อาจารย์เฟื้อจึงได้สเก็ตช์ภาพลูกชายวัยเด็กขึ้นมา” ธีระ เล่าเสริมถึงภาพผลงานที่นำมาจัดแสดงในส่วนถัดไป

159327425113

159327483515

ภาพวาดจากสมุดสเกตช์

สมุดโน้ต หนังสือ และภาพสเกตช์ของอาจารย์เฟื้อขณะอยู่ที่ศานตินิเกตัน ได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีภายในความดูแลของอาจารย์ Sushobhan Adhikary กระทั่งเพื่อนของคุณธีระซึ่งเป็นนักวิชาการชาวสิงคโปร์ที่ศึกษาเรื่องนักเรียนชาวเอเชียที่จบการศึกษาจากศานตินิเกตันมาเล่าให้ฟังว่ามีเอกสารของอาจารย์เฟื้อเก็บอยู่ที่อินเดีย

“ผมจึงเขียนจดหมายไปขอความร่วมมือจากอาจารย์ Sushobhan Adhikary นำเอกสารเหล่านั้นมาจัดแสดงในนิทรรศการ 108 แห่งชาตกาล ของอาจารย์เฟื้อ เมื่อ 2 ปีก่อน ต่อมาเขาก็ได้มอบให้เราเก็บรักษาไว้”ธีระ เล่า

159327443981

159327475948

“ในช่วงที่อาจารย์เฟื้อไปถึงอินเดีย ได้ไปอยู่กับอาจารย์กรุณา กุศลาสัย ที่อาคารไชนีส ของ ดร.ตัน นักธุรกิจชาวจีน ช่วงที่อาศัยอยู่ที่นั่นอาจารย์เฟื้อก็ได้สเกตช์ภาพสมาชิกในครอบครัวของดร.ตันลงในสมุดโน้ตเล่มเล็กๆ ซึ่งเรานำมาจัดใส่กรอบแสดงร่วมกับภาพถ่ายของครอบครัวดร.ตัน

นอกจากนี้ก็จะมีภาพสเก็ตช์รูปทิวทัศน์ รูปบุคคลในสมุดโน้ตหลายๆเล่ม”

เอกสารทั้งหมดที่ได้จากอาจารย์ Sushobhan Adhikary จึงเปรียบเสมือนกับจิ๊กซอว์อีกส่วนหนึ่งที่มาเติมภาพในช่วงเวลาขณะที่อาจารย์เฟื้อศึกษาอยู่ที่ศานตินิเกตันได้ชัดเจนมากขึ้น

สมบัติในหีบ

นอกจากเอกสารจากอินเดียแล้ว ในนิทรรศการครั้งนี้ยังจัดแสดงหีบสมบัติโบราณ พร้อมทั้งผลงานของอาจารย์เฟื้อที่เก็บอยู่ภายใน ได้แก่ เอกสาร ภาพสเกตช์ ผลงานภาพถ่าย รวมทั้งกระดาษที่ใช้ลอกลายจิตรกรรมฝาผนังจากวัดบวกครกหลวง วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ งานลอกลายประตูหอไตรวัดระฆังขนาดเท่าจริง

ธีระเล่าว่าเมื่อแรกเปิดออกมานั้นมีทั้งที่อยู่ในสภาพดีและเสื่อมสภาพ กว่าที่จะนำออกมาจัดแสดง จำต้องส่งให้ “หมอศิลปะ” ขวัญจิต เลิศศิริ ทำการอนุรักษ์ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ขณะเดียวกันธีระก็ใช้เวลานานนับปีในการอ่านเอกสารที่ได้มาทั้งหมด พร้อมทั้งการค้นคว้าหาเรื่องราวเพิ่มเติม

159327454984

159327463555

“เมื่อก่อนผมสะสมงานเอกสาร สเก็ตช์ของศิลปินเวียดนามระดับมาสเตอร์ อย่าง Bui Xuan Phai และ To Ngoc Van พอมีคนมาชวนให้สะสมงาน Archive ของ อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ผมคิดว่างานของศิลปินเวียดนามไม่ใช่บ้านเกิดของเรายังสะสมได้

ดังนั้นงานของศิลปินไทยเราก็ยิ่งต้องสะสม ผลงานชุดแรกที่ได้มาผมใช้เวลานั่งอ่านเอกสารเป็นปี ยิ่งได้อ่าน ยิ่งได้ศึกษาประวัติชีวิตและผลงานของอาจารย์เฟื้อ ยิ่งเกิดความประทับใจ” ธีระ กล่าว

สำหรับผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการผลงานภาพสเกตช์ และหลักฐานทางเอกสารที่บ่งบอกถึงชีวิตและงานของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติ ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ครูใหญ่ในวงการศิลปะ”

สามารถนัดหมายเข้าชมล่วงหน้าได้ทางโทร. 08 1845 1371 หรือ ส่งข้อความใน FB: 333 Gallery โดยนิทรรศการจัดแสดงที่ 333 แกลลอรี ถนนสุรศักดิ์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป