หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ มุมสะท้อนความเชื่อมั่น 'รัฐบาล'

หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ มุมสะท้อนความเชื่อมั่น 'รัฐบาล'

“หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล” เป็นตำแหน่งสำคัญ นอกจากกำกับดูแลนโยบายเศรษฐกิจแล้ว การเลือกผู้ทำหน้านี้มีผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงความเชื่อมั่นต่อตลาดเงินและตลาดทุน

ทุกครั้งที่มีการฟอร์มรัฐบาลหรือปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เป็นตำแหน่งที่นายกรัฐมนตรี ต้องเลือกอย่างละเอียดให้ผู้ที่ได้รับการยอมรับและสร้างความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลตั้งแต่ยังไม่เข้าทำงาน

หัวหน้าทีมเศรษฐกิจต้องครบเครื่อง คือ นอกจากรู้เครื่องมือและนโยบายที่จะใช้กับเศรษฐกิจในแต่ละสถานการณ์ทั้งเครื่องมือการเงิน-การคลัง ต้องรู้จังหวะที่เหมาะสมว่าเมื่อไหร่จะกระตุ้น จะเยียวยาเศรษฐกิจ ซึ่งหนีไม่พ้นที่จะต้องมีความรู้ในเศรษฐกิจมหภาคและจุลภาค และเข้าใจกลไกภาครัฐ โดยต้องมี “บารมี” พอที่จะสั่งการองคาพยพทางเศรษฐกิจทั้งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงการขอต้องความร่วมมือจากภาคเอกชนในบางครั้ง

ในการบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเดือน พ.ค.2557 ตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนถึงรัฐบาลปัจจุบันที่พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ รวมเวลา 6 ปีเศษ ได้แต่งตั้งให้รองนายกรัฐมนตรี 2 คนเป็น “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล”

คนแรก คือ ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล หรือ “หม่อมอุ๋ย” เป็นผู้มีประสบการณ์ในการบริหารเศรษฐกิจระดับประเทศ เคยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1 ปีเต็ม (ส.ค.2557-ส.ค.2558) 

ช่วงนั้นได้ริเริ่มนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล การเดินหน้ารถไฟฟ้าสายในกรุงเทพฯ ที่ล่าช้ามานาน รวมทั้งมีความพยายามจะทำนโยบายเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในภูมิภาคเพื่อต่อยอดการค้าจากเศรษฐกิจชายแดน  โครงการเหมืองโปแตช การเร่งรัดออกใบประทานบัตรสำรวจแร่ 

รวมถึงพยายามผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในเมียนมาให้กลับมาเป็นรูปธรรม แต่วาระ 1 ปี จะไม่เห็นผลที่ชัดเจนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจนักและมักบอกกับนักข่าวเศรษฐกิจที่ทำเนียบรัฐบาลว่า 

“เวลานี้เศรษฐกิจโลกยังไม่ดี กระตุ้นเศรษฐกิจไปก็จะไม่ได้ผล ไว้รอให้เศรษฐกิจโลกฟื้นก่อน ค่อยมาพูดเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจกัน”

การให้สัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของ ม.ร.ว.ปรีดียาธร ที่ทำเนียบรัฐบาลก่อนปรับ ครม.ในเดือน ส.ค.2558 คือ การให้สัมภาษณ์เรื่องความเป็นมาของต้น “เหลืองปรีดียาธร”

หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลคนที่ 2 ของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์  เคยเป็นอาจารย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาธุรกิจขนาดใหญ่ก่อนเข้าสู่แวดวงการเมืองสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร รับหน้าที่รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายสมคิด เข้ามาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เดือน ส.ค.2558 โดยนำทีมเศรษฐกิจเข้ามาทำงานกระทรวงสำคัญ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการต่างประเทศ 

รวมถึงดึงนักการเงินอย่าง นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล จากธนาคารกรุงเทพ เข้ามาทำงานเป็นคณะทำงาน ก่อนจะเลื่อนเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ผลงานนายสมคิดในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช.ที่ทำงานต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ส.ค.2558 จนถึง ครม.ใหม่ ในเดือน ก.ค.2562 มีผลงานที่เด่นชัด คือ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการ เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการสนามบินอูตะเภา โครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 รวมโรดโชว์ดึงการลงทุนจในเอเชีย โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่นที่นายสมคิดมีสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล

ช่วงที่นายสมคิด เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จีดีพีขยายตัวได้ 4.1% ในปี 2561 สูงสุดในรอบ 6 ปี ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 2561 ขยายตัว4.1% สูงสุดรอบ 6 ปี ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 1850 จุด ช่วงต้นปี 2561 สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุน