แพทยสภา ออกประกาศ 10 หน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย
แพทยสภา ออกประกาศ 10ข้อ หน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย หากละเลย-เสียหาย มีโทษ
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศแพทยสภาที่ 50/2563 เรื่อง หน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย
ด้วยกระบวนการรักษาพยาบาลภายใต้การดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมนั้น ทุกอย่างล้วนเป็นไปเพื่อมุ่งหวังให้ผู้ป่วยพ้นจากความเจ็บป่วยและทุกข์ทรมานอันเนื่องมาจากโรคภัยไข้เจ็บเป็นสำคัญ แต่นอกเหนือจากความพยายามของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและบุคลากรสาธารณสุขแล้วหนึ่งในปัจจัยสำคัญอันจะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ คือ “การได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วย” ซึ่งหลายประเด็นเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยอาจไม่ทันตระหนักหรือทราบมาก่อนว่า เป็นสิ่งจำเป็นและมีผลอย่างยิ่งต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 (1) ประกอบกับมาตรา7 (2) และ7 (4) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 แพทยสภาจึงออกประกาศเรื่อง “หน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย” ดังนี้
ข้อ 1 การเอาใจใส่และดูแลสุขภาพของตนเอง รวมทั้งการปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นสิ่งส าคัญที่สุดในกระบวนการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ หากผู้ป่วยเห็นว่าไม่อาจทำตามคำแนะนำดังกล่าวได้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้ทราบโดยทันที เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน
ข้อ 2 ผู้ป่วยพึงเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพ “ที่เป็นจริงและอยู่ในความรับรู้” ของผู้ป่วยแก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทั้งนี้ เพื่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะได้รับทราบข้อมูลด้านสุขภาพทั้งหมดอันจะเป็นประโยชน์ต่อการให้การรักษาพยาบาลและป้องกันมิให้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อตัวผู้ป่วยเองและต่อผู้ป่วยรายอื่น รวมทั้งบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 3 ผู้ป่วยพึงปฏิบัติตามระเบียบที่สถานพยาบาลกำหนดไว้
ข้อ 4 ผู้ป่วยพึงตระหนักว่าการใช้สิทธิการรักษาพยาบาล รวมทั้งสิทธิผู้ป่วยตามที่กำหนดไว้ต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้ป่วยท่านอื่น
ข้อ 5 ผู้ป่วยพึงหลีกเลี่ยงการกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและบุคลากรสาธารณสุขหากมีกรณีที่ผู้ป่วยไม่เห็นด้วยต่อการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ท่านสามารถให้คำแนะนำหรือใช้สิทธิร้องเรียนได้ตามระเบียบปฏิบัติของสถานพยาบาลนั้นๆ
ข้อ 6 ผู้ป่วยพึงตระหนักว่า ห้องฉุกเฉินเป็นสถานที่ซึ่งจัดเตรียมไว้เป็นการเฉพาะเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ตกอยู่ใน “ภาวะเร่งด่วนและเป็นภยันตรายอันใกล้ต่อชีวิต” เป็นสำคัญ บุคลากรสาธารณสุขจะให้การรักษาตามลำดับความเร่งด่วนทางการแพทย์เป็นสำคัญ ดังนั้นพึงหลีกเลี่ยงหรืองดเว้นการกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบของบุคลากรในห้องฉุกเฉิน
ข้อ 7 ผู้ป่วยพึงตระหนักว่า “ทรัพยากรในระบบสาธารณสุขมีราคาแพงและมีจำนวนจำกัด” ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมร่วมกับสถานพยาบาลจึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการจัดสรรการใช้ทรัพยากรอันมีค่าอย่างระมัดระวัง การกระทำการใดๆ ของผู้ป่วยโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรอันมีค่า และส่งผลเสียร้ายแรงต่อการรักษาพยาบาลของตัวผู้ป่วยเอง รวมทั้งต่อผู้ป่วยท่านอื่น
ข้อ 8 ผู้ป่วยพึงเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคลากรสาธารณสุขและผู้ป่วยท่านอื่นในสถานพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้ามกระทำการถ่ายรูป บันทึกเสียงหรือภาพเคลื่อนไหวรวมทั้งกระทำการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันนี้ โดยมิได้รับความยินยอมก่อน
ข้อ 9 ผู้ป่วยพึงตระหนักว่า “เอกสารลงนามในการให้ความยินยอมเพื่อรับการรักษาพยาบาล” เป็นเอกสารสำคัญที่ให้รายละเอียด ตลอดจนข้อจำกัดและความเสี่ยงของการรักษาพยาบาล ดังนั้นก่อนทำการลงนามในเอกสารดังกล่าว ผู้ป่วยต้องอ่านและทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อน ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยหรือมีความไม่เข้าใจใด ๆ ควรสอบถามผู้เกี่ยวข้องก่อนการลงนามทุกครั้ง
ข้อ 10 ผู้ป่วยพึงตระหนักว่า การละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามรายละเอียดข้างต้น อาจส่งผลเสียต่อการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยเอง และในบางกรณี หากเกิดความเสียหายต่อสถานพยาบาลหรือผู้ป่วยท่านอื่น ท่านอาจได้รับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติทั้งนี้ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2563
ศาสตราจารย์เกียรติคุณสมศรี เผ่าสวัสดิ์