“คมนาคม”จ่อประมูลทางด่วน เส้นทางใหม่นครปฐม-ชะอำ

“คมนาคม”จ่อประมูลทางด่วน  เส้นทางใหม่นครปฐม-ชะอำ

“คมนาคม” ลุยลงทุนทางด่วน จ่อประมูล 3 งาน กว่า 9.9 หมื่นล้าน ทล.เปิดพีพีพี มอเตอร์เวย์สายนครปฐม – ชะอำ ปี64พร้อมศึกษาทางยกระดับเอกชัย – บ้านแพ้ว ส่วนกพท.ประมูลเก็บค่าผ่านด่วนพระราม 3

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ตามแผนการผลักดันโครงการลงทุนผ่านรูปแบบเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) ซึ่งในส่วนของ ทล.มีแผนพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายนครปฐม – ชะอำ วงเงินราว 8 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันโครงการผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP)

มอเตอร์เวย์สายใหม่นครปฐม – ชะอำ จะเข้ามาเป็นอีกเส้นทางลงภาคใต้ เพิ่มเติมจากถนนพระราม 2 โดยปัจจุบันผ่านพีพีพีแล้ว รอนโยบายการลงทุนจากรัฐบาล ซึ่ง ทล.ศึกษาพีพีพี เน็ตคอส์ต งานโยธาและงานระบบ รวมสัญญา 30 ปี คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงต้นปี 2564 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปีแล้วเสร็จ”

นอกจากนี้ ทล.ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี – ปากท่อ ที่ปัจจุบันเตรียมเริ่มงานก่อสร้าง ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน – เอกชัย และมีแผนขยายการพัฒนาตอนเอกชัย – บ้านแพ้ว อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการลงทุน 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.พีพีพี และ 2. ทล.สร้างงานโยธาเอง และเปิดพีพีพี เน็ต คอส์ต ส่วนของงานระบบดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M)

ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาศึกษารูปแบบลงทุน 2 เดือนแล้วเสร็จ เบื้องต้นหาก ทล.เป็นผู้ลงทุนงานโยธาเอง และเปิดพีพีพี เน็ต คอส์ต ก็จะนำเงินลงทุนมาจากกองทุนมอเตอร์เวย์ ซึ่งมีเพียงพอ โดยประเมินเงินลงทุนอยู่ที่ราว 1.8 หมื่นล้านบาท

ด้านนายชาตรี ตันศิริ รองผู้ว่าการฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า ได้ประกาศผลการประกวดราคางานโยธาโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกไปแล้ว 2 สัญญา คือ สัญญาที่ 2 และสัญญาที่ 4 ส่วนสัญญาที่ 1 ทางยกระดับจากแยกต่างระดับบางขุนเทียน – เซ็นทรัลพระราม 2 ระยะทาง 6.4 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบผลงานของผู้ยื่นข้อเสนอ

สำหรับสัญญา 3 ทางยกระดับจากโรงพยาบาลบางปะกอก 9 – ด่านดาวคะนอง ระยะทาง 5 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอของเอกชนรายที่เหลือ เป็นไปตามมติของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โดยคาดว่าจะสามารถเสนอผลการพิจารณาเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.ในวันที่ 16 ก.ค.นี้

อีกทั้ง กทพ.ยังอยู่ระหว่างปรับปรุงเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) สัญญา 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจรและระบบสื่อสาร มูลค่า 877.4 ล้านบาท ให้เป็นแบบไม่มีไม้กั้นและปรับใช้ระบบ RFID คาดว่าจะปรับปรุงทีโออาร์และประกวดราคาในเดือน ก.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัญญา 3 งานโยธาทางด่วนพระราม 3 มีมูลค่าอยู่ที่ 6,991 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ กิจการร่วมค้าไชน่าเรลเวย์-ซีวิล-บุญชัย เสนอราคาต่ำสุด 6,098 ล้านบาท แต่หลังจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตาม พ.ร.บ การจัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ.2560พิจารณาข้อร้องเรียนของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ที่ยื่นอุทธรณ์คัดค้านผลการประกวดราคาว่า มีมูลความจริงและฟังขึ้น โดยพบว่ากิจการร่วมค้าไชน่าเรลเวย์ฯ มีคุณสมบัติไม่ถูกต้อง

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (30 มิ.ย.) กระทรวงคมนาคมจะเสนอผลการประกวดราคาโครงการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่า 6.1 หมื่นล้านบาท เพื่อกำหนดลงนามสัญญา ก่อสร้าง ทันเปิดให้บริการในปี 2566