การเมืองปั่นป่วน ตัวแปรฟื้นเศรษฐกิจ

การเมืองปั่นป่วน ตัวแปรฟื้นเศรษฐกิจ

ความ “ปั่นป่วน” ทางการเมืองในซีกของ พปชร.ที่เกิดขึ้น ย่อมมีส่วนกระทบความเชื่อมั่นของผู้คนทุกภาคส่วนต่อการดำเนินมาตรการฟื้นฟูประเทศ ที่สุดแล้วรัฐนาวานี้จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่? ทั้งที่แก้ไขปัญหาโควิดมาได้ จนต่างประเทศให้เครดิตไทย

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงไทย ทรุดหนัก เป็นผลจากการ “ล็อกดาวน์” ปิดประเทศ หยุดดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจมานานหลายเดือน เพื่อสกัดการระบาดของโควิด-19 ยอมแลกกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ เห็นได้จากที่ประชุมคณะกรรมนโยบายการเงิน หรือ กนง.ครั้งที่ผ่านมา (24 มิ.ย.) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้ เป็นติดลบ 8.1% จากเดิมคาดว่าจะติดลบในระดับ 5.3% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ยิ่งกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540

ประมาณการเศรษฐกิจไทยดังกล่าว สะท้อนถึงวิกฤติเศรษฐกิจไทย ที่ต้องอาศัย “ความร่วมแรงร่วมใจ” จากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการฟื้นฟูประเทศ โดยเฉพาะจาก “รัฐบาล” ซึ่งเป็นตัวแทนที่ประชาชนเลือกมาบริหารประเทศ ในการส่งผ่านมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด หลักๆ มาจากวงเงินกู้ตาม พระราชกำหนด (พรก.) ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท เป็นอาทิ

อย่างไรก็ตาม ความ “ปั่นป่วน” ทางการเมืองช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ในซีกของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ตั้งแต่ข่าวลือสะพัดที่เป็นจริง กับการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคจาก อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กระทั่งมีการพูดถึงการหาบุคคลมานั่งในตำแหน่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่ แทนสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อยู่ในขณะนี้ ยังไม่นับการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีกระแสข่าวมาต่อเนื่อง

ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความยุ่งเหยิงทางการเมืองที่เกิดขึ้น ย่อมมีส่วนกระทบ “ความเชื่อมั่น” ของผู้คนทุกภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจ และระดับปัจเจกชน ต่อการดำเนินมาตรการฟื้นฟูประเทศ ว่าที่สุดแล้ว รัฐนาวานี้จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ หรือพังพาบเพราะเรือรั่ว เรือแตกเสียก่อน ทั้งๆ ที่ตั้งลำในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิดมาได้เป็นอย่างดี จนนานาประเทศต่างให้เครดิตไทยในเรื่องนี้

เราเห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงในพรรคพลังประชารัฐที่เกิดขึ้น ผู้เกี่ยวข้องควรเร่งหาข้อยุติโดยเร็ว ภายใต้ “ความเหมาะสม” ในการดำเนินการ โดยเฉพาะการสรรหาตัวบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งต่างๆ จะในรัฐบาล หรือในพรรคการเมืองก็ตาม ขอให้มองยาวๆ เห็นแก่ประโยชน์ “ประชาชนทั้งประเทศ” เป็นตัวตั้งมากกว่ามองสั้นๆ แค่ประโยชน์ส่วนตน พวกพ้อง เพราะถ้าเลือกคนที่ไม่เหมาะไม่ควรมาดำรงตำแหน่งสำคัญของบ้านเมืองแล้ว ท้ายที่สุด ผลกระทบอาจจะ “ย้อนศร” รุนแรง อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ในยุคนี้ ขอให้ดูจากโควิดเป็นตัวอย่าง