'RBF' ชี้กองทุนสนซื้อหุ้นอื้อ

'RBF' ชี้กองทุนสนซื้อหุ้นอื้อ

“อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย” ดันราคาหุ้นพุ่งแรงกว่า 14.71% จนชนซิลลิ่ง ฟากผู้บริหาร คาดนักลงทุนตอบรับดี เหตุมองเห็นศักยภาพของบริษัท-หุ้นปลอดภัย รับนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างชาติรุมจีบเพียบ มั่นใจรายได้ปีนี้โต 10-12% พร้อมเล็งทุ่มเงิน 200-250 ล้าน

ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) ล่าสุด พุ่งขึ้นมาปิดที่ 9.75 บาท ทำจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นชนเพดานการซื้อขาย (ซิลลิ่ง) หรือเพิ่มขึ้นราว 14.71% จากวันก่อนหน้า มาปิดตลาดที่ระดับ 9.75 บาท เพิ่มขึ้น 1.25 บาท มูลค่าการซื้อขาย 766 ล้านบาท    

โดยก่อนหน้านี้ราคาหุ้น RBF ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้ว 250% หลังจากที่ราคาหุ้นลดลงไปแตะจุดต่ำสุดที่ 2.78 บาท เมื่อปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

นายสุรนาถ กิตติรัตนเดช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ RBF เปิดเผยว่าราคาหุ้นบริษัทที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงนั้น คาดว่าเป็นเพราะนักลงทุนน่าจะมองเห็นถึงแนวโน้มของธุรกิจในทิศทางที่ดี ซึ่งแม้ผลพวงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จะมีบ้าง 

แต่ถือว่าผลกระทบไม่มากนัก จึงอาจทำให้นักลงทุนมีความสนใจเข้ามาลงทุนในหุ้นของบริษัท เพราะมองว่าเป็นหุ้นที่ปลอดภัยและประคองธุรกิจให้ยังสามารถเติบโตได้ นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาก็มีกลุ่มนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายรายสนใจและติดต่อเข้ามาสอบถามข้อมูลของบริษัทเป็นจำนวนมาก

“ราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุอะไรที่ชัดเจน แต่เบื้องต้นคาดว่าอาจเป็นเพราะนักลงทุนมองเห็นศักยภาพของบริษัทที่มีทิศทางการเติบโตที่ดีและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่มากนัก จึงทำให้นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก และต้องขอขอบคุณที่นักลงทุนไว้วางใจในตัวบริษัทด้วย”

ส่วนแนวโน้มภาพรวมของรายได้ของบริษัททั้งปีนี้ยังคงคาดว่าจะเติบโตได้ตามเป้าที่ 10-12% จากปีก่อนที่ทำได้ 2,881 ล้านบาท เนื่องจากยอดขายจากโรงงานแต่ละแห่งที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ประกอบกับคาดว่าอานิสงส์จากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลให้ความมั่นใจของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นและหนุนให้คำสั่งซื้อ (ออเดอร์) จากผู้ประกอบการโรงงานอาหารและเครื่องดื่มเติบโตขึ้น รวมถึงในส่วนของธุรกิจโรงแรมจากการลงทุนในบริษัทย่อยจำนวน 2 แห่งคาดว่าในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 จะมีผลขาดทุนลดน้อยลง หลังจากมีการปิดการให้บริการในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 ผ่านมา

นอกจากนี้ในส่วนของการขยายโรงงานในต่างประเทศนั้น คาดว่าบริษัทจะเริ่มก่อสร้างโรงงานอาหารทะเลเพื่อการส่งออกในเมืองซูราบายาประเทศอินโดนีเซียได้ในช่วงต้นปี 2564 ซึ่งคาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 200-250 ล้านบาท ขณะที่โรงงานทำเกล็ดขนมปังแห่งใหม่ที่ประเทศเวียดนามคาดว่าจะสามารถเริ่มเปิดดำเนินการได้ภายในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563